xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...งูอะไรอยู่ในถ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสัญชัย เมฆฉาย ขณะออกเก็บตัวอย่างงู
ในละครดัง “เจ้าแม่นาคี” อยู่ในถ้ำ แต่รู้ไหมว่าในชีวิตจริงนั้นงูอะไรอยู่ในถ้ำ? ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์พาไปหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูและสัตว์เลื้อยคลานจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

นายสัญชัย เมฆฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้คำตอบแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ท่ามกลางตัวอย่างงูในโหลดองราวๆ 4,000-5,000 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นงูที่พบในไทยรวมกว่า 300 ชนิด ภายในคลังเก็บตัวอย่างงูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. คลอง 5 ปทุมธานี

ก่อนให้คำตอบเขาเผยถึงเหตุผลที่ต้องเก็บตัวอย่างงูไว้จำนวนมากว่า การเก็บงูแต่ละชนิดนั้นจะเก็บหลายตัวเพื่อเป็นตัวอย่างของงูในแต่ละพื้นที่ เช่น การเก็บตัวอย่างงูเห่า อาจเป็นตัวอย่างงูเห่าจากภาคกลาง 4-5 ตัว เมื่อไปพบงูเห่าที่พื้นที่อื่นอย่าง จ.เชียงใหม่ ก็เก็บมาเพิ่มอีก เนื่องลวดลายของงูแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ทำให้ต้องเก็บตัวอย่างจากหลายพื้นที่เพื่อนำดูให้เห็นความแตกต่างกัน

"ลักษณะเด่นของงูชนิดเดียวกันอาจจะเหมือนกัน เช่น จำนวนเกล็ดรอบตัว จำนวนเกล็ดที่ปาก จำนวนเกล็ดท้อง ลักษณะเขี้ยวพิษ ตรงนี้เหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกันคือสีและลวดลายบนตัว" นายสัญชัยบอก และระบุว่าตัวอย่างงูที่เก็บไว้นี้ยังให้นักศึกษาทางด้านสัตววิทยาระดับปริญญาโทหรือเอกยืมไปศึกษาได้

มาถึงเรื่องงูในถ้ำนั้นผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน อพวช.ระบุว่า งูในเมืองไทยที่อาศัยอยู่ในถ้ำ หากินในถ้ำ และวางไข่ในถ้ำนั้นมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ “งูกาบหมากหางนิล” ซึ่งเป็นเป็นชนิดที่พบทางภาคเหนือและชนิดที่พบทางภาคใต้ โดยงูกาบหมากหางนิลที่พบทางภาคใต้จะมีตัวเป็นสีขาวและมีหางเป็นสีดำ ส่วนงูกาบหมากหางนิลที่พบทางภาคเหนือจะมีตัวสีออกเหลืองนวลๆ แต่มีหางสีดำเช่นเดียวกับชนิดที่พบทางภาคใต้

"เดิมงูกาบหมากหางนิลทั้งสองภาคถูกจัดเป็นชนิดเดียวกัน แต่พอเขาศึกษาแล้วเก็บตัวอย่างมากขึ้น เลยแยกเป็น 2 ชนิด เป็น กาบหมากหางนิลเหนือ และกาบหมากหางนิลใต้” นายสัญชัยกล่าว

สำหรับพฤติกรรมเด่นๆ ของงูกาบหมากหางนิล คือ การกินค้างคาวเป็นอาหารและไม่กินอย่างอื่นเลย และจะออกออกมานอกถ้ำปีหนึ่งไม่กี่ครั้ง โดยแค่ออกมาผึ่งแดดแล้วก็กลับเข้าไปในถ้ำ แต่ปกติไม่ค่อยออกจากถ้ำเพราะมีอาหารอยู่ในถ้ำอยู่แล้ว รวมถึงจับคู่ผสมพันธุ์ในถ้ำ

"เท่าที่ผมเคยเห็นก็แค่ออกมาผึ่งแดดตอนเช้า พอแดดแรงก็กลับเข้าถ้ำ แต่ตาไม่บอด แค่อาจจะสู้แสงไม่ค่อยได้ ไม่เหมือนงูดิน ส่วนจำนวนงูภายในถ้ำขึ้นอยู่กับขนาดถ้ำ และปริมาณค้างคาว ถ้าถ้ำไหนมีค้างคาวเยอะ และเป็นถ้ำขนาดใหญก็จะเจองูกาบหมากหางนิลเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบค้างคาวที่เป็นอาหารของงูกาบหมากหางนิลในถ้ำที่ไม่ถูกรบกวน แต่จะมีค้างคาวจำนวนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพของถ้ำ เช่น ถ้ำที่ไม่ลึกและมีแสงเข้าถึงนั้นค้างคาวจะไม่อยู่ ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่จะอยู่ในถ้ำที่ลึกและกว้าง มีความชื้นสูงและบางถ้ำที่มีน้ำ ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความเหมาะสมกับค้างคาว เมื่อพบค้างคาวก็จะเจองูกาบหมากหางนิลซึ่งเป็นงูที่ไม่ดุและไม่มีพิษ"

สำหรับงูในถ้ำอย่างกาบหมากหางนิลไม่มีหงอนเหมือนงูในละคร และนอกจากงูกาบหมากหางนิลแล้วยังพบงูอื่นๆ ในถ้ำ แต่เป็นงูที่หากินนอกถ้ำ แล้วอาจจะหลบเข้าไปวางไข่หรือหลบเข้าไปในถ้ำเพื่อลอกคราบ ซึ่งนายสัญชัยบอกว่า งูในถ้ำที่มีหงอนนั้นน่าจะเป็นงูจงอางแก่ๆ ที่เคลื่อนไหวช้าลงเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการล่าเหยื่อ ปกติงูจงอางเป็นงูที่ว่องไว แต่เมื่อแก่ตัวลงจะเข้าไปหลบในถ้ำ

สัญชัยไม่เคยเห็นงูจงอางแก่ๆ ที่มีหงอนอยู่ในถ้ำ แต่เคยได้พูดคุบกับชาวบ้านที่เคยเห็นงูจงอางแก่ซึ่งเล่าว่าที่หัวงูมีส่วนคล้ายหงอน ตอนเป็นตัวหนุ่มจะมีสีออกเขียวมะกอก แต่เมื่อแก่ตัวจะมีสีซีดลงและเลื้อยช้าลง ซึ่งเขาสันนิษฐานว่างูจงอางแก่ๆ ในถ้ำอาจเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องพญานาคก็ได้ โดยงูจงอางสามารถยาวได้ถึง 7-8 เมตร และมีลำตัวที่ใหญ่กว่าท่อนแขน

เมื่องูจงอางแก่ตัวแล้วเข้าไปหลบในถ้ำก็จะกินงูกาบหมากหางนิลหรือค้างคาวเป็นอาหาร เนื่องจากงูจงอางเป็น “งูกินงู” คือกินงูเป็นอาหารหลักอย่างเดียว ซึ่งในวัยหนุ่มนั้นงูจงอางจะกินงูชนิดอื่น เช่น งูสิง ลูกงูเหลือม ลูกงูหลาม และยังมีงูชนิดอื่นที่กินงูอย่างเดียวคืองูสามเหลี่ยมซึ่งมี 3 ชนิด แต่ยังมีงูที่กินงูอื่น แต่ไม่ได้กินเป็นอาหารหลัก เช่น งูแสงอาทิตย์ ซึ่งกินจิ้งจก ตุ๊กแก และลูกงูชนิดอื่นๆ

“นอกจากนี้ก็อาจพบงูอื่นๆ ที่เข้าไปหลบร้อนในถ้ำ เช่น ตามเขาหินปูนในช่วงหน้าแล้งที่ต้นไม้ผลัดใบหมด ข้างนอกถ้ำในชวงกลางวันจะร้อนมาก งูชนิดอื่นๆ ก็อาจจะเข้าไปหลบร้อนถามซอกถ้ำ ซึ่งไม่พบได้บ่อยนัก ปกติเวลาเราเข้าไปสำรวจในถ้ำ เราไม่ได้เข้าไปจับงู แต่จะเข้าไปสำรวจจิ้งจก ตุ๊กแก แต่พอเข้าไปก็พอมีโอกาสเจองูบ้าง” นายสัญชัยกล่าว

ส่วนงูชนิดอื่นๆ อีกที่พอจะเจอในถ้ำบ้าง เช่น งูเหลือม ที่เข้าไปวางไข่ หรือหลบตามซอกภ้ำเพื่อลอกคราบ และมีบางชนิดที่ปกติหากินนอกถ้ำ เช่น งูทางมะพร้าว ที่กินหนูนอกถ้ำ แต่ในบางฤดูที่หนูหายากก็จะเข้าไปกินค้างคาวในถ้ำ โดยเจองูทางมะพร้าวได้บ่อยในช่วงฤดูที่หนูมีน้อย เช่น ฤดูแล้ง
งูกาบหมากหางนิลใต้ อ่าวลึก จ.กระบี่
ถ้ำ

งูจงอางในคลองแสง เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ที่ถูกจับมาเป็นตัวอย่าง
นายสัญชัย เมฆฉาย และตัวอย่างงูในคลังเก็บตัวอย่าง
คลังเก็บตัวอย่างงู อพวช.
ลูกงูจงอาง ใน จ.จันทบุรี
งูสามเหลี่ยมหัวหางแดงพบที่เขานัน
อนุเคราะห์ภาพถ่าย โดย นายสัญชัย เมฆฉาย







กำลังโหลดความคิดเห็น