xs
xsm
sm
md
lg

มอบโนเบลเคมีแก่ 3 ผู้ออกแบบ-สังเคราะห์เครื่องจักรโมเลกุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฌ็อง-ปิแอร์ โซวาฌ , เซอร์ เจ.ฟราเซอร์ สต็อดดาร์ต และ เบอร์นาร์ด แอล.เฟอริงกา รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการออกแบบและสังเคราะห์เครื่องจักรโมเลกุล (ภาพประกอบทั้งหมดโดย JONATHAN NACKSTRAND / AFP )
มอบโนเบลเคมีแก่ 3 ผู้ออกแบบ-สังเคราะห์เครื่องจักรโมเลกุล คาดจะเปิดประตุไปสู่การพัฒนาวัสดุใหม่ๆ เซนเซอร์และแบตเตอรีรูปแบบใหม่ เปรียบเทียบความก้าวหน้าเหมือนเมื่อครั้งนักวิทยาศาตร์ในอดีตกว่าร้อยปีก่อนที่พัฒนาใบพัดและล้อหมุน นำไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างพัดลม เครื่องปั่น เครื่องซักผ้า รวมถึงรถไฟฟ้า

ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) สตอกโฮล์ม สวีเดน ประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาเคมี เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2016 เวลา 16.45 น. แก่ ฌ็อง-ปิแอร์ โซวาฌ (Jean-Pierre Sauvage) จากมหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก (University of Strasbourg) ฝรั่งเศส, เซอร์ เจ.ฟราเซอร์ สต็อดดาร์ต (Sir J. Fraser Stoddart) จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) สหรัฐฯ และ เบอร์นาร์ด แอล.เฟอริงกา (Bernard L. Feringa) จากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน (University of Groningen) เนเธอร์แลนด์ “สำหรับการออกแบบและสังเคราะห์เครื่องจักรโมเลกูลาร์”

ผลงานของผู้รับรางวัลโนเบลเคมีปีล่าสุดคือการพัฒนาเครื่องจักรที่เล็กที่สุดในโลก โดยคณะกรรมการระบุว่า พวกเขาได้พัฒนาโมเลกุลที่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ ซึ่งสามารถทำภารกิจได้เมื่อได้รับพลังงาน โดยการพัฒนาการคำนวณนั้นแสดงให้ประจักษ์ว่า เทคโนโลยีย่อส่วนนั้นนำไปสู่การปฏิวัติได้อย่างไร ซึ่งคณะผู้ได้รับรางวัลโนเบลเคมี 2016 นี้ได้นำเครื่องจักรย่อส่วนและเคมีเข้าสู่มิติใหม่

“ก้าวแรกสู่เครื่องจักรโมเลกูลาร์เริ่มขึ้นโดย ฌ็อง-ปิแอร์ โซวาฌ เมื่อปี 1983 เมื่อเขาประสบความสำเร็จในการเชื่อมโมเลกุลวงแหวน 2 วงให้กลายเป็นสายโซ ที่เรียกว่า “คาทีเนน” (catenane) โดยปกติโมเลกุลจะรวมกันด้วยพันธะโควาเลนต์ที่เหนียวแน่น โดยการแบงปันอิเล็กตรอนของอะตอม แต่ในสายโซ่นั้นโมเลกุลจะเชื่อมกันด้วยพันธะที่มีกลไกอิสระ สำหรับเครื่องจักรที่จะทำงานได้นั้นต้องมีส่วนที่สามารถเคลื่อนไหวโดยสัมพันธ์กันและกัน ซึ่งวงแหวนที่เชื่อมกันนั้นเติมเต็มความต้องการดังกล่าว” ข่าวเพยแพร่จากคณะกรรมการโนเบลระบุ

ก้าวที่สองนั้นสร้างขึ้นโดย ฟราเซอร์ สต็อดดาร์ท เมื่อปี 1991 เมื่อเขาได้พัฒนา “โรทาเซน” (rotaxane) โดยเขาได้ร้อยวงแหวนโมเลกุลเข้ากับแกนโมเลกุลบางๆ และสาธิตให้เห็นว่าวงแหวนนั้นสามารถเคลื่อนที่ไปพร้อมกับแกนโมเลกุลได้ สิ่งที่เขาพัฒนาโดยมีพื้นฐานจากโรทาเซนคือ ลิฟต์โมเลกุล กล้ามเนื้อโมเลกุล และชิปคอมพิวเตอร์ที่มีโมเลกุลเป็นฐาน

ส่วน เบอร์นาร์ด เฟอริงกา คือคนแรกที่ที่พัฒนามอเตอร์โมเลกุล เมื่อปี 1999 เขาผลิตใบพัดโมเลกุลที่สามารถหมุนอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกันได้ ด้วยมอเตอร์โมเลกุลเขาสามารถเคลื่อนกระบอกแก้วที่ให่กว่ามอเตอร์ได้ถึง 10,000 เท่า และยังได้ออกแบบรถยนต์นาโนด้วย

“ผู้รับรางวัลโนเบลเคมีอันทรงเกียรติในปี 2016 ได้นำระบบโมเลกุลาร์ออกจากขีดจำกัด และเข้าสถานะที่สามารถเติมพลังงานได้ ซึ่งหมายความว่าการเคลื่อนที่ของโมเลกุลเหล่านั้นถูกควบคุมได้ ในแง่ของการพัฒนานั้นมอเตอร์โมเลกุลอยู่ในฐานะเดียวกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่พัฒนาในยุค 1830 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้แสดงข้อเหวี่ยงและล้อหลายๆ แบบ โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยวานั่นได้นำไปสู่การพัฒนารถไฟแบบใช้ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า พัดลมและเครื่องปั่นอาหาร ส่วนเครื่องจักรโมเลกุลนั้นน่าจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาสิ่งของอย่างวัสดุใหม่ๆ เซนเซอร์ และระบบเก็บพลังงาน” รายละเอียดจากข่าวเผยแพร่รางวัลโนเบลระบุ

เบอร์นาร์ด แอล.เฟอริงกา (Jeroen Van Kooten / University o f Groningen / AFP)

ฌ็อง-ปิแอร์ โซวาฌ (PATRICK HERTZOG / AFP)









(ขวา) ศ.โอลอฟ แรมสตรอม (Prof.Olof Ramstrom ) คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเคมี อธิบายถึงผลงานรางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2016 ขณะ (กลาง)  โกรังค์ ฮานสัน (Göran K. Hansson) เลขาธิการประจำ ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) และ (ซ้าย) ซารา โนเจอรัป ลินส์ (Sara Snogerup Linse) ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเคมี ร่วมรับฟัง (JONATHAN NACKSTRAND / AFP )









กำลังโหลดความคิดเห็น