xs
xsm
sm
md
lg

สวัสดี “วันศารทวิษุวัต” กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สดร.เผย 22 ก.ย.59 เป็น “วันศารทวิษุวัต” ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน และนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปวันละประมาณ 1 องศา ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน และเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox)

สำหรับประเทศไทยในวันที่ 22 ก.ย.59 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลาประมาณ 06:07 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 18:14 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) ซึ่งหลังจากนี้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เฉียงลงทางใต้เรื่อยๆ และหยุดที่จุดใต้สุด ในวันที่ 21 ธ.ค.59 จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่เฉียงขึ้นทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง ในหนึ่งปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี เพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ประมาณวันที่ 20 หรือ 21 มี.ค. และ วันศารทวิษุวัส (Autumnal Equinox) วันที่ 22 หรือ 23 ก.ย. ทำให้เป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ในรอบหนึ่งปี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆทั่วโลก จึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ทำให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

สำหรับคำว่า Equinox (อิ-ควิ-นอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า “กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน” ส่วน “วิษุวัต” แปลว่า "จุดราตรีเสมอภาค" เกิดในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกว่า Vernal Equinox (วสันตวิษุวัต) และ Autumnal Equinox (ศารทวิษุวัต)









กำลังโหลดความคิดเห็น