คิดได้ไง? คือคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาหลังจากได้เห็นผลงานของนักศึกษามีเดียอาตส์จาก มจธ. ซึ่งได้ถอดสำเนียงชาวปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกออกมาเป็นลายผ้า งานนี้ไม่มี “มโน” แต่ใช้โปรแกรมวิเคราะห์คลื่นเสียงแล้วถอดออกมาเป็นลวดลายอย่างที่เห็น
น.ส.กิติวรรณ เสนีวงศ์ นักศึกษาชั้นปี 4 สาขามีเดียอาตส์ กลุ่มวิชา Graphic Design โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้สร้างลวดลายบนผ้า จากการศึกษาเอกลักษณ์ทางสำเนียงของชุมชนบางสน อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร เพื่อนำไปออกแบบลวดลายสิ่งทอ
แนวคิดของการสร้างผลงานดังกล่าว เกิดจากมุมมองที่เห็นว่า สำเนียงเอกลักษณ์ทางเสียง มีการเดินทางเปลี่ยนแปลงไปตามพื้นที่ หากแต่เราสามารถรับรู้ผ่านการรับฟัง จึงเกิดเป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของเสียงสำเนียงเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบลวดลายกราฟฟิกสำหรับสิ่งทอ
สำหรับสำเนียงภาษาของจังหวัดชุมชนพรนั้น มีสำเนียงภาษาเป็นกลุ่มภาษาไทยถิ่นภาคใต้ฝั่งตะวันตก แม้ว่าจังหวัดชุมพรจะอยู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และสำเนียงภาษาในกลุ่มนี้นอกจากชุมพรแล้วยังมีในจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ที่มีการออกเสียงคล้ายคลึงกัน เช่น การออกเสียงคำว่า แตก เป็น แตะ, ดอกไม้ เป็น เดาะไม้, สามแยก เป็น สามแยะ
กิติวรรณเล่าถึงกระบวนการถอดเสียงสำเนียงคน “บางสน” ออกมาเป็นลายเส้นที่ใช้เวลานานกว่า 1 ภาคเรียน กว่าจะออกมาเป็นลวดลายอย่างที่เห็น โดยหลังจากได้โจทย์ กิติวรรณใช้เวลาที่เหลือลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้านพื้นที่และเสียงของสำเนียงตัวอย่าง โดยได้รับคำปรึกษาจาก ศ.ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ อาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการใช้กล่องทดสอบเสียงวรรณยุกต์ ที่บรรจุคำที่มีเงื่อนไขต่างกันไปตามที่นักภาษาศาสตร์ได้กำหนดชุดคำเหล่านั้นไว้
หลังจากได้เสียงตัวอย่างจึงมาหาค่าเฉลี่ยของเสียง เพื่อนำไปหาสีที่เกิดขึ้น และนำมาสร้าง Element เพื่อแทนคำในแต่ละพยางค์ที่ปรากฏ และใช้โปรแกรม วิเคราะห์คลื่นเสียง ARAAT Program เพื่อนำเอาคลื่นเสียงมาผนวกกับการใช้ทฤษฎีทางศิลปะมาจัดวางบน Illustrator จนได้รูปทรงที่สวยงาม
อีกทั้งเพื่อให้เส้นสายที่เกิดขึ้น ไม่ตัดขาดไปจากคุณค่าและเอกลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่น “กิติวรรณ” เลือกกลอนสอนหญิงจากหนังตะลุง คณะสาคร (หมึก) สมวงศ์ ที่โด่งดังแห่งจังหวัดชุมพร ในท่อนที่ร้องว่า “สุภาพสตรีทั้งหลาย นั่งไหว้กราบ เป็นคำขานข้อปฏิบัติของสตรี เกิดเป็นหญิงสิ่งสงวนควรจะเสงี่ยม พรหมจารีย์ย่อมมีค่ากว่าบุญคุณ จะได้เป็นสตรีตัวอย่างสร้างเกียรติงาม”
“ลายเส้นที่เกิดขึ้น เกิดจากการแทนค่า 1 พยางค์ เท่ากับ 1 ชั้นเลเยอร์ เมื่อนำมาทับซ้อนกันจึงเกิดมิติที่แต่ละคนสามารถตีความแตกต่างกันไปอย่างที่เห็น” กิติวรรณอธิบาย และระบุว่าแพทเทินเหล่านี้เป็นเพียงแค่การทดลองเพื่อหาความเป็นไปได้ และสามารถไปลองใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อหาความแตกต่างกันของลวดลาย ไม่แน่ว่าในอนาคตจะสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้อีกด้วย