xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำ: ตำนานและความกระหายที่อาจทำให้ชีวิตหายนะได้

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ผลึกทองคำสังเคราะห์ (Alchemist-hp- www.pse-mendelejew.de )
Euripides ปราชญ์กรีกโบราณเคยกล่าวว่า ในสายตาของคนบางคนทองคำมีอำนาจสูงสุดเหนือเหตุและผล จนความปรารถนาจะครอบครองมันได้ผลักดันให้มนุษย์สร้างอารยธรรม แสวงหาอาณานิคม ทำสงคราม ดำรงชีวิต หรือตายเพื่อทองคำก็ได้ ความนิยมในทองคำได้มีมานานจนทำให้เรามีสำนวนต่างๆ เกี่ยวกับทองคำมากมาย เช่น ยุคทอง โอกาสทอง ทองแผ่นเดียวกันและทองไม่รู้ร้อน เป็นต้น

ส่วนในต่างประเทศก็มีตำนานเกี่ยวกับทองคำเช่นกัน เช่น ในสุสานของฟาโรห์ Tutankhamun แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ มีมหาสมบัติมากมายที่ทำด้วยทองคำ แม้แต่มัมมี่ก็มีทองคำปิด เพื่อให้วิญญาณได้ใช้ในการเปิดทางขึ้นสวรรค์ คัมภีร์ไบเบิ้ลได้บันทึกว่า บัลลังก์ที่กษัตริย์ Solomon ทรงประทับทำด้วยทองคำ เทพนิยายกรีกเล่าว่ากษัตริย์ Midas แห่งเมือง Phrygia ทรงได้รับพรจากเทพ Zeus ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงสัมผัสกลายเป็นทอง ในเบื้องต้น Midas ทรงรู้สึกยินดีปรีดามาก เพราะพระองค์ทรงโปรดปรานทองคำเป็นที่สุด แต่เมื่อพระองค์ทรงจุมพิตพระปรางค์ของพระธิดา นางได้เปลี่ยนเป็นรูปปั้นทองคำที่ไม่มีชีวิตในทันที Midas จึงทูลขอเทพ Zeus ให้ยกเลิก “พร” เสีย และเทพก็ทรงอนุญาต และบัญชาให้พระองค์เสด็จไปที่แม่น้ำ Pactolus เพื่อทรงชำระล้างพระวรกายให้สะอาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทรายจึงมีสีเหลืองของทองคำ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อกองทัพนักล่าอาณานิคมของสเปนเดินทางถึงทวีปอเมริกาใต้ นักประวัติศาสตร์สเปนชื่อ Juan Castellanos ได้เขียนบันทึกว่า ชาวเมือง Buritisa ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ Bogota ล้วนมีความเชื่อว่า ทองคำคือสิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ด้านชาวอินเดียนเผ่า Chibcha ในอเมริกาใต้ก็เชื่อว่า ทองคำเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดจากพระเสโทของสุริยเทพ เพราะเทพแห่งดวงอาทิตย์ทรงส่องแสงมานาน ดังนั้นพระเสโทก็คงมีมาก ด้วยเหตุนี้ แม่ทัพและนายทหารนักล่าอาณานิคมจึงเชื่อต่อว่า ชาวอินเดียนคงมีทองคำในครอบครองในปริมาณมาก และถ้าแม่ทัพสเปนยึดสมบัติทองคำนี้ แล้วนำกลับประเทศ สเปนก็จะกลายและเป็นมหาอำนาจของโลกในทันที

ยิ่งเมื่อทราบต่อมาว่า ชนเผ่า Chibcha มีประเพณีที่กำหนดให้กษัตริย์องค์ใหม่ เวลาเสด็จขึ้นครองราชย์ ประชาชนจะต้องนำก้อนยางพาราคลุกฝุ่นทองคำมาแปะติดพระฉวี เพื่อให้พระองค์ดูเหมือนสุริยเทพที่ดูเปล่งปลั่งเป็นสีทองไปทั้งพระวรกาย นี่คือที่มาของชื่อ El Dorado ซึ่งแปลว่า บุรุษทองคำ

อนึ่ง หลังพิธีราชาภิเษก กษัตริย์จะลงสรงในทะเลสาบ Guatavita เพื่อชำระล้างพระวรกาย ให้ฝุ่นทองคำจมน้ำในทะเลสาบ หลังจากนั้นชาวเมืองก็จะโยนทองคำที่ทุกคนมีลงในน้ำด้วย ผู้คนจึงเชื่อว่าที่ท้องทะเลสาบนั้นต้องมีทองคำมากมาย แต่การขุดสำรวจจนถึงปัจจุบัน ไม่พบทองคำที่ว่านั้นเลย

ลุถึงปี 1969 ได้มีชาวนา 2 คนซึ่งพบรูปแพจำลอง ซึ่งมีชื่อจารึกว่า El Dorado ในถ้ำแห่งหนึ่งของประเทศ Bogota บนแพมีตุ๊กตาที่แสดงว่าเป็นกษัตริย์ และมีตุ๊กตาพนักงานพายเรือ 8 คนที่ทุกคนหันหลังให้พระองค์ เพราะกฎหมายในสังคมนั้นห้ามพลเมืองดูกษัตริย์ตรงๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ทั้งแพและตุ๊กตาเป็นทองคำบริสุทธิ์

ไม่เพียงแต่ชาวสเปนเท่านั้นที่คลั่งทองคำ ชาวเยอรมัน ชาวโปรตุเกส และชาวอังกฤษโดยเฉพาะทหารเสือในพระราชินี Elizabeth ที่ 1 ก็คลั่งไคล้ทองคำ เช่น นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ ชื่อ Sir Walter Raleigh เคยแล่นเรือสำรวจโลกเพื่อแสวงหาทองคำ ในปี 1595 หลังจากที่ได้ผูกมิตรกับหัวหน้าเผ่าอินเดียนในประเทศ Guiana (ปัจจุบันคือ Venezuela) Raleigh ได้กลับมาบอกชาวอังกฤษว่า นคร El Dorado มีจริง เพราะเขาได้เห็นเมืองนี้ตั้งอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำ Orinoco

แม้จะไม่มีใครพบทองคำที่ El Dorado แต่ข้อมูลภูมิศาสตร์ที่นักสำรวจเหล่านี้ได้มา ก็ได้ทำให้โลกเก่ารู้จักโลกใหม่มากขึ้น

ในปี 1667 กวี John Milton ชาวอังกฤษได้อาศัยตำนาน El Dorado ในการเขียนนวนิยายเรื่อง Paradise Lost และอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ Voltaire ก็กล่าวถึง El Dorado ในวรรณกรรมเรื่อง Candide

ในภาพรวมจึงดูเหมือนว่า ความเชื่อในนครแห่งจินตนาการนี้ได้อยู่ลึกในความนึกคิดของชาวยุโรปว่า ที่ก้นทะเลสาบ Guatavita มีทองคำจริงๆ

วันเวลาที่ผ่านไปจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีนักผจญภัยชาวอังกฤษ ชื่อ กัปตัน Percy Fawcett ซึ่งเชื่อว่า เขารู้ตำแหน่งที่ตั้งของ อาณาจักรทองคำ El Dorado จึงออกเดินทางพร้อมบุตรชายในปี 1922 เพื่อสำรวจป่าฝน Mato Grosso ในบราซิล อีกสามปีต่อมาไม่มีใครได้ข่าวคราวของสองพ่อลูกอีกเลย จนกระทั่งปี 1950 คณะนักสำรวจชาวบราซิลได้อ้างว่า ชาวอินเดียนเผ่า Kalapos ได้ฆ่า Fawcett กับลูก และได้ฝังศพของคนทั้งสองที่ริมทะเลสาบ ซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำ Kuluene กับ Tanurio แล้วหัวหน้าคณะนักสำรวจชาวบราซิลชุดนั้น ยังได้ชูกะโหลกศีรษะของ Fawcett ให้โลกเห็นเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า Fawcett ตายจริง และ El Dorado เป็นเพียงอาณาจักรในจินตนาการ

สำหรับในทวีปอเมริกาเหนือมีช่วงเวลาหนึ่งที่เป็นยุคตื่นทอง ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1848 เมื่อ James Marshall ประกาศว่าเขาได้ขุดพบทองคำในปริมาณมากที่หุบเขา Sacramento ใน California ข่าวนี้ทำให้ผู้คนแตกตื่น เพราะทุกคนที่ได้ทราบข่าวนี้ทั้งในยุโรป และอเมริกาต่างก็มุ่งหน้าเดินทางไป California บางคนใช้เรือเดินทางจากอเมริกาฝั่งตะวันออกอ้อมแหลม Horn ไปอเมริกาตะวันตก (ในสมัยนั้นยังไม่มีคลองปานามา) บางคนเดินทางด้วยเกวียน หรือรถม้าข้ามเทือกเขา Rocky และทะเลทรายใน Arizona หลายคนต้องเสียชีวิตในการเดินทาง เพราะล้มป่วยเป็นโรค หรือถูกชาวอินเดียนแดงฆ่า จน California ได้มีผู้อพยพเข้ามาอาศัยใหม่ประมาณ 80,000 คน และทุกคนได้แยกย้ายเดินทางไปตามหุบเขาต่างๆ เพื่อขุด และร่อนทองคำ แต่ก็ไม่ได้พบในปริมาณมากที่จะทำให้ร่ำรวย กลับเป็นว่าคนที่ร่ำรวยจริง คือพวกพ่อค้าซึ่งได้โก่งราคา ขายสินค้าให้แก่พวกคลั่งทอง จนนักผจญภัยเหล่านั้นหมดตัว

กระนั้นความกระหายทองของผู้คนก็ยังไม่สิ้นสุด กลับระบาดไปทั่วทวีปอเมริกาเหนือ จนทำให้สถานที่ใดที่มีคนคลั่งทองไปอยู่ที่นั่นก็จะกลายเป็นเมืองไปในทันที เพราะมีผู้คนหลั่งไหลมาเล่นการพนัน และต่อสู้กัน อย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะที่เมือง Yerba Bueno ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 55,000 คน และจากปี 1850-1856 ประวัติศาสตร์ของเมืองได้บันทึกว่า มีคนเสียชีวิตในการต่อสู้ถึง 1,400 คน ในเวลาต่อมาเมื่อความสำเร็จในการขุดทองลดลงๆ ความคลั่งทองก็เริ่มลดระดับ เมืองต่างๆ เริ่มกลายสภาพเป็นเมืองร้าง แล้วในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็คืนสภาพเดิม

แม้ประเทศ Peru จะไม่เคยมียุคตื่นทอง แต่ปัจจุบันชาวเปรูก็กำลังมีความกังวลเรื่องผลกระทบในการทำเหมืองทองคำในแถบลุ่มแม่น้ำ Amazon เพราะปัญหาได้เกิดมาเป็นเวลานานแล้ว จากการเผชิญหน้าที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างบริษัทเหมืองทองคำกับประชาชน จนถึงครั้งล่าสุดที่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ จนรัฐบาลเปรูต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 60 วัน เพื่อขอเวลาวิเคราะห์และวินิจฉัยปัญหาการปนเปื้อนของปรอทในสิ่งแวดล้อมเพราะบริษัทเหมืองใช้ปรอทในการสกัดทองคำแล้วระบายของเหลือลงแม่น้ำ Madre de Dios

เมื่อทางการได้สำรวจพบว่าพนักงานเหมือง 25 คน ล้มป่วย จนแพทย์ต้องเข้ารักษา และผลการตรวจสุขภาพของคนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในร่างกาย ในปลาและตะกอนที่ท้องน้ำมีปรอทในปริมาณมากผิดปกติ การประเมินจำนวนคนที่ได้รับผลตกกระทบด้านสุขภาพในเหตุการณ์นี้โดยฝ่ายรัฐบาลแสดงว่า น่าจะมีคนประมาณ 48,000 คน ในพื้นที่ 85,300 ตารางกิโลเมตร ที่มีโอกาสได้รับปรอทที่เป็นพิษ โดยแพทย์สามารถบอกอาการแพ้พิษปรอทจากการที่คนไข้อาเจียนและท้องร่วงหนัก และในกรณีที่อาการรุนแรงมาก สมองกับไตของผู้ป่วยจะถูกทำลาย
เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังช่วยชีวิตคนงานภายในเหมืองทองผิดกฎหมาย ซึ่งถล่มตั้งแต่ 7 ก.ย. (JOHN WESSELS / AFP)
ความจริงการทำเหมืองทองคำที่แม่น้ำ Madre de Dios ในเปรูได้มีมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เหมืองเหล่านั้นเป็นเหมืองขนาดเล็ก ครั้นเมื่อราคาทองคำในตลาดโลกได้พุ่งขึ้นพรวดพราด ความต้องการทองคำในปริมาณมาก จึงทำให้การผลิตทองคำจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณด้วย สถิติการผลิตทองคำของเปรูในเดือนมีนาคม (ก่อนมีการเผชิญหน้าหันในเดือนพฤษภาคม) แสดงให้เห็นว่า เหมืองได้ทองคำ 1,585 กิโลกรัม คือเพิ่มขึ้นถึง 28% จากตัวเลขของปี 2558

ตามปกติเวลาสกัดทองคำ ชาวเหมืองจะใช้วิธีแยกทรายที่มีทองคำปนออกจากเนินหินและดินโดยการฉีดน้ำใส่เนินอย่างรุนแรง แล้วนำเกล็ดทองคำที่ได้มาปนกับปรอท เพื่อให้จับตัวเป็นก้อน จากนั้นนำก้อนโลหะผสมไปเผาให้ร้อน เพื่อให้ปรอทระเหยไป จนเหลือแต่ทองคำบริสุทธิ์

กระบวนการนี้ทำให้ในบริเวณนั้นทุกปีจะมีสารปรอทประมาณ 30-40 ตันถูกระบายลงแม่น้ำ จากนั้นแบคทีเรียในแม่น้ำก็จะเปลี่ยนปรอทเป็น methylmercury ดังนั้นเวลาปลากินสาร methylmercury เข้าไปแล้ว ชาวบ้านที่บริโภคปลา ก็จะรับสารปรอทเข้าร่างกายอย่างไม่รู้ตัว

คณะนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐฯ และนักระบาดวิทยาของเปรูได้วัดปริมาณปรอทที่มีในเส้นผมของชาวเหมืองจำนวนประมาณ 40% ของทั้งหมด และพบว่า มีปรอทในปริมาณมากกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ ทั้งนี้โดยการใช้ตัวอย่างชาวบ้าน 100 คน ที่อาศัยอยู่ที่ริมแม่น้ำ และอีก 2,000 คนในสถานที่ใกล้เคียง

การพบปรอทในเส้นผม แสดงว่า บุคคลนั้นได้รับปรอทจากการบริโภคอาหาร และเมื่อปริมาณปลาที่บริโภคที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณปรอทที่ปลาได้รับ ข้อมูลจึงยืนยันว่า ชุมชนนั้นถูกปรอทคุกคามจริง

รัฐบาลเปรู จึงใช้ข้อมูลที่คณะวิจัย จากมหาวิทยาลัย Duke ในรัฐ North Carolina มาพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ที่กำลังเดือดร้อน โดยการห้ามปรามไม่ให้ชาวบ้านบริโภคปลาในแม่น้ำอีกต่อไป แต่ให้บริโภคอาหารโปรตีนอื่นแทน และเมื่อได้พบคน 150,000 คน ล้มป่วยด้วยโรคโลหิตจาง ทางการจึงเสนอให้กินเมล็ดพืช Quinoa แทน เพราะมันเป็นพืชที่องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้เป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ดังในปี 2013 ที่ได้รับการประกาศให้เป็นปีสากลแห่ง Quinoa

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลก็ยังมีโครงการเสริมช่วยสุขภาพของชุมชน โดยการจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงปลาที่ถูกสุขลักษณะด้วย

ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านโครงการนี้ก็มีความเห็นว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณปรอทในร่างกายคน และปลาที่คนกิน กับปรอทที่ใช้ในการทำเหมือง

ด้านเจ้าหน้าที่รัฐฯ ก็มีความกังวลว่า มาตรการใดๆที่ทางการกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมีผลกระทบกระเทือนในทางลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ และเมื่อนักวิจัยเรื่องนี้ตระหนักดีว่า สังคมเปรูกำลังให้ความสนใจเรื่อง ผลกระทบของโลหะหนักต่อสุขภาพของคน และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวจึงดำริจะขยายโครงการสำรวจ และวิเคราะห์ผลกระทบของโลหะหนักอื่นๆ ในบริเวณอื่นของแม่น้ำ Amazon ด้วย

เหมืองทองคำชาตรีของเรามีอะไรที่คล้าย หรือแตกต่างจากกรณีที่เปรูหรือไม่

อ่านเพิ่มเติมจาก The Power of Gold: The History of an Obsession โดย Peter L.Bernstein จัดพิมพ์โดย Wiley ปี 2000






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์








กำลังโหลดความคิดเห็น