xs
xsm
sm
md
lg

คำศัพท์นักถ่ายภาพควรรู้ให้คุ้นหูก่อนคุยกับ "นักดาราศาสตร์"

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

หากใครที่เคยได้ฟังบรรยายการถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่ผมไปบรรยายงานต่างๆ หรือการได้พูดคุยกับเหล่านักถ่ายภาพดาราศาสตร์ก็อาจจะได้ฟังคำศัพท์ที่อาจไม่คุ้นหูนัก แต่ทำไมเค้าถึงพูดคำเหล่านี้บ่อยๆ และมันหลายถึงอะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง วันนี้ผมเลยขอยกเอาศัพท์เราผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่รักการถ่ายภาพทุกท่าน เพราะนอกจากเราจะเข้าใจกับคำเหล่านี้แล้ว ยังทำให้เราสามารถนำเอาไปใช้กับการถ่ายภาพประเภทอื่นๆได้เช่นกัน รวมทั้งหากใครที่อ่านบทความถ่ายภาพภาษาอังกฤษก็จะมีประโยชน์ในการอ่านทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ

Signal to Noise

Signal to Noise คือ อัตราส่วนอัตราส่วนระหว่างสัญญาณภาพที่กับสัญญาณรบกวน นั่นเอง ถ้าอัตราส่วน 1:1 แสดงว่า สัญญาณภาพกับสัญญาณรบกวน เท่ากัน จะได้ Signal to Noise เท่ากับ 1 แต่ถ้าอัตราส่วน 2:1 แสดงว่า ได้สัญญาณภาพที่มากกว่าสัญญาณรบกวน 2 เท่า นั่นก็หมายความว่า ยิ่งค่า Signal to Noise สูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีเท่านั้นครับ

โดยยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นหากเราถ่ายภาพแล้วได้ Signal to Noise ที่ดี เช่น SN มีอัตราส่วน 2:1 ก็คือมีอัตราแสงมากกว่าสัญญาณรบกวน แสงที่มากกว่าก็จะสามารถกลบสัญญาณรบกวนได้มากขึ้น ทำให้ได้ไฟล์ภาพที่ดีกว่าและเนียนกว่านั่นเอง ซึ่งสำหรับในกล้องดิจิตอล SLR ก็คือการถ่ายภาพที่ค่าความไวแสงต่ำๆ โดยใช้เวลานานขึ้นก็จะทำให้ได้ Signal to Noise ที่ดีกว่าการถ่ายด้วยความไวแสงสูงๆ ในเวลาน้อยๆ

Diffraction Limit

Diffraction Limit หมายถึงระดับความคมชัดสูงสุดของเลนส์แต่ละตัว หรือค่ารูรับแสงที่ชัดที่สุดของเลนส์ตัวนั้นๆ ซึ่งเรามักจะได้ยินการพูดถึง F/8 มากที่สุด เพราะเป็นค่ากว้างๆ ในระดับที่จะให้ความคมชัดสูงสุดเพื่อหลีกเลี่ยงคุณสมบัติอย่างหนึ่งของแสงก็คือ มันสามารถเลี้ยวเบนได้ ซึ่งผลจากการเลี้ยวเบนของแสงนี่เอง ที่ทำให้คุณภาพความคมชัดของภาพลดลง ซึ่งมันสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้องทุกตัวไม่ว่ากล้องของคุณจะมีขนาดพิกเซลกี่ล้านพิกเซลก็ตาม การเลี้ยวเบนของแสงนี้มักเกิดจากการใช้รูรับแสงที่แคบมากเกินไป หรือพูดง่ายๆว่าใช้รูรับแสงเกิน Limit นั้นเอง ซึ่ง Diffraction Limit นั้นเป็นขอบเขตทางทฤษฎี และเกิดขึ้นจากคุณสมบัติความเป็นคลื่นและการแทรกสอดของแสง

จากภาพตัวอย่างข้างบน เป็นการถ่ายภาพด้วยค่ารูรับแสงที่ทำให้ได้ภาพที่คมชัดที่สุดของเลนส์กับค่ารูรับแสงที่แคบมากเกินไป ซึ่งจากการทดลองถ่ายภาพทุกๆ ค่ารูรับแสงของเลนส์ Canon 300 mm. กับกล้องดิจิตอล Canon 5D Mark ll พบว่าที่ค่ารูรับแสง f/8.0 ให้ความคมชัดดีที่สุด และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการใช้ค่ารูรับแสงแคบที่สุดพบว่า ที่ค่ารูรับแสง f/8.0 ให้รายละเอียดความคมชัดที่ดีกว่า ส่วนที่ค่ารูรับแสง f/32.0 ภาพจะมีความเบลอมากว่า ดังภาพ

Vignette

Vignette คืออาการที่ขอบภาพมืด ทั้งที่จริงๆ มันควรจะเท่ากันเป็นอาการที่ภาพที่ถ่ายได้ มีแสงตรงกลางสว่างกว่าพื้นที่รอบๆ โดยมักเห็นได้ง่ายหากใครใช้เลนส์ F กว้างๆ เช่น F1.4 ภาพก็จะอาการขอบภาพมืดได้ และอีกสาเหตุหนึ่งคือ เกิดจากรูปแบบของเซนเซอร์ โดยที่มุมของแสงที่ตกกระทบจากเลนส์ บริเวณกลางภาพจะสามารถเข้าถึงตัว รับแสงได้ตรงๆ แต่ที่ขอบภาพ แสงจะเฉียงออกไปเรื่อยๆทำให้แสง ไม่สามารถตกกระทบลงบนตัวรับแสง ได้เต็มที่จึงเกิดอาการขอบมืดหรือ Vignette ขึ้นได้นั่นเอง

Stack
ภาพจาก : http://www.weatherandsky.com
Stack คือการรวมกลุ่มของภาพที่มีลักษณะคล้ายกัน หรือภาพเดียวกันที่ถ่ายมาซ้ำๆ เมื่อนำภาพทั้งหมดมาการรวมกันหรือซ้อนทับกัน โดยกระบวนการโปรเซสภาพก็จะได้ภาพที่มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น มี Signal to Noise ที่ดี และทำให้สัญญาณรบกวนภาพ (Noise) ที่ลดลงอีกด้วย นอกจากนั้นวิธีการ Stack ภาพยังนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาภาพที่ไม่โฟกัสหรือเบลอไม่ชัดได้ ก็จะทำให้ได้ภาพที่ชัดทั่วทั้งภาพ

High Dynamic Range (HDR)

HDR คือ หมายถึงช่วงการรับแสงตั้งแต่สว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุดที่กล้องจะสามารถให้รายละเอียดได้ โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของเซนเซอร์รับภาพ (Image Sensor) และระบบประมวลผลภาพ แต่ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเซนเซอร์รับภาพให้สูงขึ้น ก็ยังไม่สามารถเก็บรายละเอียดเท่ากับตามนุษย์ จึงต้องพัฒนาระบบประมวลผลภาพร่วมด้วย โดยเทคนิคในการถ่ายภาพแบบ HDR มีหลักการง่ายๆ คือการถ่ายภาพ 3 ค่าแสงคือ แสงพอดี แสงอันเดอร์ แสงโอเวอร์ แล้วนำภาพที่มีค่าการรับแสงดังงกล่าวไปรวมกันในโปรแกรม เช่น Photomatix Pro ก็จะได้ภาพที่มีความสว่างชัดเจนทั่วทั้งภาพทั้งส่วน เงามืด (shadow) ถึงส่วนสว่าง (Highlight) นั่นเอง

Field of View (FOV)

Field of View หรือพื้นที่ในการรับภาพ หรือองศาของการรับภาพ โดยเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสต่างกัน ก็จะให้พื้นที่ในการรับภาพไม่เท่ากัน เช่น เลนส์ wide-angle จะให้องศาหรือพื้นที่ในการรับภาพกว้างกว่า normal lens และ เลนส์เทเล หรือ telephoto ก็จะให้องศาหรือพื้นที่ในการรับภาพแคบหรือน้อยกว่า normal lens โดยเราสามารถคำนวณหาพื้นที่ในการรับภาพได้ง่ายจากเว็บไซต์ http://www.howardedin.com/articles/fov.html

Hyperfocal Distance
ภาพจาก : digital camera
Hyperfocal Distance คือ การโฟกัสที่ระยะๆ หนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดระยะชัดไปจนถึง ระยะอนันต์ เช่น ถ้าเราต้องการถ่ายภาพ คนและท้องฟ้าให้ชัดทั้งหมด หากเราโฟกัสที่คน ที่ระยะใกล้ จะเกิดภาพชัดตื้น คือคนชัดแต่ท้องฟ้าจะไม่ชัด และหากเราโฟกัสที่ท้องฟ้า คนก็จะไม่ชัด เราจึงเลือกโฟกัสที่ระยะที่เกิดชัดลึกสูงสุด ซึ่งเป็นระยะที่ทำให้วัตถุทั้งคู่ชัดทั้งหมด หรือเป็นระยะที่โฟกัสแล้วทำให้ได้ความชัดลึกสูงสุดจนไปถึงระยะอนันต์

Polar Alignment

Polar Alignment คือการตั้งตำแหน่งของขาตั้งกล้องโทรทรรศน์ หรืออุปกรณ์ตามดาวให้ชี้ไปยังขั้วเหนือของท้องฟ้าให้ถูกต้อง ซึ่งใช้ตำแหน่งของดาวเหนือ หรือ Polaris เป็นจุดอ้างอิงบนท้องฟ้า เพื่อให้อุปกรณ์ตามดาวสามารถเคลื่อนที่ติดตามวัตถุท้องฟ้าได้อย่างแม่นยำ

RAW File

RAW เป็นไฟล์ภาพชนิดหนึ่งที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์นิยมใช้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกล้อง DSLR โดยไฟล์ RAW จะยังไม่ผ่านกระบวนการประมวลผลหรือบีบอัดจากกล้อง ทำให้ไฟล์ชนิดนี้มีข้อมูลอยู่มาก ไฟล์ RAW จึงมีคุณภาพดีกว่าไฟล์ JPEG และเนื่องจากมันคงไม่ถูกประมวลผล จึงทำให้เราสามารถนำไฟล์ RAW มาปรับเปลี่ยนค่าต่างๆได้ เช่น เปลี่ยนค่าอุณหภูมิสี (WB) ได้ใหม่ ปรับชดเชยแสงให้ภาพมืดลงหรือสว่างขึ้นได้ดีกว่าไฟล์ JPEG ข้อเสียก็คือไฟล์ RAW มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ JPEG ที่ความละเอียดเท่าๆ กัน ถึง 5 เท่า อีกทั้งไฟล์ RAW ยังมีช่วงโทนสีที่มากกว่าไฟล์ JPEG ซึ่งก็จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าละเอียดกว่าไฟล์ JPEG นั่นเอง

ดังนั้น ไฟล์ RAW หรือไฟล์ข้อมูลดิบจะมีช่วงไดนามิกเรนจ์หรือช่วงกว้างของสีที่กว้างกว่า และเก็บรักษาข้อมูลส่วนใหญ่ไว้ในภาพที่ถ่ายมา วัตถุประสงค์ของไฟล์ภาพดิบนั้นก็เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลที่รับมาจากเซนเซอร์และสภาพแวดล้อมรูปที่ถ่าย โดยสูญเสียข้อมูลให้น้อยที่สุด

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น