xs
xsm
sm
md
lg

เผยใบหน้าหญิงลึกลับใต้ภาพอายุ 140 ปีของ “เอดการ์ เดอกา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ภาพหญิงสาวใต้สีภาพวาดที่เผยออกมาหลังทีมวิจัยสแกนภาพด้วยแสงซินโครตรอน (David THURROWGOOD / NATURE PUBLISHING GROUP / AFP)
นักวิจัยใช้ “ซูเปอร์เอ็กซเรย์” ฉายแสงส่งใต้ผลงานภาพวาดหญิงสาวของ “เอดการ์ เดอกา” ศิลปินยุคอิมเพรสชันนิสต์จากศตวรรษที่ 19 ซึ่งวาดไว้เมื่อเกือบ 140 ปีก่อน พบอีกใบหน้าของนางแบบที่ซ่อนอยู่บนผืนผ้าใบ

หลังใช้รังสีเอ็กซเรย์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในออสเตรเลียศึกษาภาพวาดของ “เอดการ์ เดอกา” (Edgar Degas) ศิลปินชาวฝรั่งเศสยุคอิมเพรสชันนิสต์ ทีมนักวิจัยประกาศว่า พวกเขาได้พบภาพหญิงปริศนาในภาพที่ศิลปินได้วาดไว้เกือบ 140 ปี

นักวิจัยเผยว่า เดอกากลับภาพของหญิงปริศนาคนดังกล่าวก่อนใช้เป็นรองพื้นในการวาดภาพหญิงอีกคนที่มีรูปร่างอวบกว่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาพของหญิงที่ซ่อนอยู่ใต้ภาพนั้นคือภาพของ เอมมา โดบินญี (Emma Dobigny) นางแบบยอดนิยมของศิลปินฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่ 19

“การค้นพบนี้น่าตื่นเต้นจริงๆ ใช่ว่าจะมีภาพใหม่ของเดอกามาให้เราพบทุกวัน ในกรณีเป็นภาพที่ซ่อนอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง” เอเอฟพีระบุคำพูดของ เดวิด เธอร์โรว์กูด (David Thurrowgood) ผู้พิทักษ์งานศิลปะจากแกลเลอรีวิคเตอเลียแห่งออสเตรเลีย (National Gallery of Victoria) ซึ่งจัดแสดงภาพวาดดังกล่าว

เอเอฟพีระบุว่า ทราบว่ามี “ภาพวาดใต้สี” (underpainting) มาตั้งแต่ปี 1920 โดยรอยร้าวเริ่มเผยขึ้นช้าๆ กลายเป็นรอยด่างมืดๆ ไปทั่วใบหน้าของภาพนางแบบที่วาดทับด้านบน แต่ความพยายามที่จะได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพที่ถูกปกปิดนั้นดูเป็นสิ่งที่เลือนลาง

ทีมวิจัยเขียนรายงานลงวารสารวิชาการไซแอนทิฟิครีพอร์ตส์ (Scientific Reports) ว่า เป็นที่เข้าใจมานานว่าจะไม่สามารถอ่านภาพที่ถูกซ่อนไว้ได้ หากไม่ทำลายผิวภาพวาดด้านบนเสียก่อน

ทว่าแสงของรังสีเอกซ์เรย์จากเครื่องกำเนิดซินโครตรอนในออสเตรเลียได้เผยให้เห็นรายละเอียดของวัสดุได้อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในวิคตอเรีย ออสเตรเลีย เป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ผลิตรังสีที่ใช้ในงานวิจัยที่ต้องการภาพถ่ายความละเอียดสูง การบำบัดรักษาโรค หรือการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์

ดารีล โฮวาร์ด (Daryl Howard) นักวิทยาศาสตร์แสงซินโครตรอนผู้ร่วมศึกษางานวิจัยดังกล่าว บอกเอเอฟพีว่า แสงที่เครื่องกำเนิดซินโครตรอนผลิตออกมาได้นั้นมีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์เป็นล้านเท่า อีกทั้งยังมีกำลังและความเข้มสูงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเครื่องกำเนิดรังสีเอ็กซ์ในโรงพยาบาล

“ด้วยแสงที่สว่างเจิดจ้า เราจึงเผยรายละเอียดโครงสร้างของวัสดุใดๆ ได้อย่างไม่เคยทำได้มาก่อน” โฮวาร์ดกล่าว

เทคนิคที่ทีมวิจัยใช้คือเทคโนโลยีการเรืองแสงเอ็กซเรย์ (X-ray fluorescence: XRF) ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มแรกที่ได้เห็นใบหน้านางแบบที่ซ่อนใต้ภาพวาด นอกเหนือไปจากเดอกาผู้วาดนางขึ้นมา

ชุดข้อมูลที่ได้จากการสแกนด้วยรังสีเอ็กซ์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นข้อมูลสเปกตรัมของธาตุที่ที่ผสมในสีที่พบได้ทั่วไปในภาพวาดสีน้ำมันในอดีต ซึ่งการเก็บข้อมูลสเปกตรัมธาตุในเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ระหว่างฉายรังสีเอ็กซ์เพื่อสแกนภาพวาดนั้น เครื่องตรวจวัดอยู่ในตำแหน่งห่างจากผิวภาพไม่ถึง 2 มิลลิเมตร ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพสูงสุด โดยเครื่องตรวจวัดรวบรวมข้อมูลมากกว่า 384 ช่องสัญญาณ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าเครื่องตรวจวัดที่ทำงานตรวจวัดทีละจุด วิธีใหม่นี้ช่วยลดเวลาการยิงสัญญาณแบบเดิมที่กินเวลาหลายอาทิตย์ เหลือเพียง 20-30 ชั่วโมง เมื่อใช้เทคนิคใหม่

ทีมวิจัยยังพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ออกแบบมาเฉพาะ เพื่อประมวลผลข้อมูลชุดใหญ่ที่ได้ให้เป็นชั้นภาพของชุดชั้นสีที่ยังไม่ตรงกับที่เป็นจริง เมื่อใส่ตัวแปรต่างๆ เข้าไปซอฟท์แวร์จะแปลงเป็นสีที่ใกล้เคียงความจริงทีละเม็ดสี ซึ่งช่วยให้เข้าถึงเทคนิคของศิลปินหรือค้นหาการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนแปลงภาพวาดในภายหลัง

เปรียบเทียบกับภาพวาดอื่นๆ ทีมวิจัยลงความเห็นว่า ภาพใต้สีดังกล่าวน่าจะเป็นภาพเหมือนที่ไม่เป็นที่รู้จักของนางแบบชื่อ เอ็มมา โดบินญี ซึ่งมีชื่อจริงว่า มารี เอ็มมา ทุยเยอ (Marie Emma Thuilleux) และเป็นนางแบบให้เดอการะหว่างปี 1869-1870 ขณะที่เธออายุได้ 16 ปี

ทีมวิจัยระบุในรายงานว่า พวกเขาสังเกตเห็นความเหมือนอย่างชัดเจนระหว่างภาพวาดใต้สีที่เผยขึ้นมา กับภาพเหมือนจำนวนหลายภาพของ เอ็มมา โดบินญี ที่วาดโดยเดอกา แต่ชื่อของผู้หญิงชุดดำที่วาดทับอีกทีนั้นยังคงเป็นปริศนา

ภาพของหญิงชุดดำซึ่งวาดทับภาพแรกในเวลาต่ออีกหลายปี โดยคาดว่าวาดอยู่ในช่วงปี 1876-1880 มีชื่อพื้นๆ ว่า “พรอเทรต์ เดอ เฟมเม” (Portrait de Femme) หรือภาพวาดของหญิงสาว

ทีมวิจัยระบุว่า เดอกาใช้แค่สีน้ำมันบางๆ รองพื้นผ้าใบ ซึ่งตอนนี้ได้หมดพลังปกปิดและเผยภาพของโอบินญีที่ซ่อนอยู่ออกมา พวกเขายังใช้แสงซินโครตรอยทำ “แผนที่” ของผืนผ้าใบต้นฉบับ ซึ่งแต่ละเม็ดสีมีอนุภาคโลหะที่แตกต่างกัน

จากการศึกษาด้วยซินโครตรอนพบว่า เดอกาใช้สีซึ่งมีองค์ประกอบของสารหนู ทองแดง สังกะสี โคบอลต์ และตะกั่ว เมื่อนำมารวมกันจึงได้แผนที่อนุภาคที่ให้รายละเอียดของภาพกลับมาใหม่ ซึ่งให้รายละเอียดกระทั่งจังหวะสะบัดแปรงของจิตรกร แต่สีของภาพยังต้องอนุมาน

“โคบอลต์อาจจะแทนเม็ดสีน้ำเงิน ซึ่งใช้ในการปรับโทนผิวของคน ตะกั่วพบเด่นอยู่บริเวณใบหน้า และเหมือนจะใช้ผสมร่วมกับสีแดงชาด ซึ่งมักใช้ในการสร้างผิวโทนชมพู” ทีมวิจัยระบุในรายงาน

ส่วนบริเวณมัวๆ บริเวณผมของโอบินญีนั้น บ่งบอกว่าเดอกาพยายามอยู่หลายครั้งที่จะปรับทรงผมเหนือรูปหูที่ชี้แหลม ซึ่งเป็นลักษณะประหลาดในยุคนั้น โดยทีมวิจัยระบุว่าการวาดปกปิดนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าถึงงานศิลปะและศิลปิน และเมื่อเปรียบภาพวาดใต้สีและภาพใหม่ที่วาดทับเผยให้เห็นว่าเดอกาได้เปลี่ยนแปลงทั้งชุดสีและเทคนิคการวาด

ทีมวิจัยระบุอีกว่า พวกเขาไม่รู้จักเทคนิคอื่นที่จะทำงานได้ดีเท่าการสแกนด้วยแสงซินโครตรอน ซึ่งเคยใช้ส่องภาพวาด “Patch of Grass” ของ วินเซนต์ แวน โกะ เมื่อปี 2008 แล้วเผยให้ภาพหญิงชาวไร่ซ่อนอยู่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะสร้างผลกระทบต่อการศึกษามรดกวัฒนธรรมเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นของแท้ การรักษาและประโยชน์ในทางวิชาการต่อไป
 ภาพหญิงชุดดำที่วาดทับภาพนางแบบต้นฉบับ (David THURROWGOOD / NATURE PUBLISHING GROUP / AFP)
 ภาพหญิงชุดดำที่วาดทับภาพนางแบบต้นฉบับ (David THURROWGOOD / NATURE PUBLISHING GROUP / AFP)









กำลังโหลดความคิดเห็น