นับเป็นการสูญเสียของวงการอวกาศยุโรปเมื่อตัดสินใจอำลา “ฟิเล” หลังยานสำรวจลำแรกที่ลงจอดดาวหางขาดการติดต่อนาน 1 ปี การหยุดความพยายามสื่อสารกับห้องแล็บเคลื่อนที่นี้เพื่อคงพลังงานของ “โรเซตตา” ยานแม่ที่พลังงานเหลือน้อยลงเรื่อยๆ
องค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ประกาศปิดการทำงานของหน่วยประมวลผลระบบสนับสนุนไฟฟ้า (Electrical Support System Processor Unit) หรือ ESS บนยานโรเซตตา (Electrical Support System Processor Unit) เวลา 16.00 น.ของวันที่ 27 ก.ค.2016 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นตัวเชื่อมในการสื่อสารระหว่างยานอวกาศโรเซตตาและยานลงจอดฟิเล (Philae)
หลังจากถูกส่งขึ้นไปจากโลกเมื่อปี 2004 ยานอวกาศโรเซตตาได้แบกฟิเลมุ่งหน้าไปหาดาวหาง 67พี/ชูริมอฟ เกราซิเมนโก (67P/Churyumov-Gerasimenko) และไปถึงวงโคจรเป้าหมายเมื่อ 6 ส.ค.2014 ซึ่งนับเป็นปฏิบัติการแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าไปหาดาวหางกลางอวกาศ แล้วตามติดดาวหางขณะโคจรใกล้ดวงอาทิตย์
จากนั้นอีก 3 เดือนโรเซตตาได้ส่งยานฟิเลที่มีขนาดเท่าเครื่องซักผ้าและหนัก 100 กิโลกรัม ลงจอดพื้นผิวดาวหาง 67พี/ชูริมอฟ เกราซิเมนโกหรือเรียกกันว่าดาวหางโรเซตตา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยในอวกาศที่ต้องลุ้นระทึก และเป็นการลงจอดบนดาวหางครั้งแรกของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ทว่าฟิเลได้เงียบหายไปตั้งแต่ 9 ก.ค.2015 และไม่มีท่าทีจะส่งสัญญาณใดๆ กลับมา จึงมาสู่การตัดสินใจตัดการต่อยานลงจอดที่เดินทางไปพร้อมดาวหางโดยที่โลกไม่รู้ชะตากรรม
“ลาก่อน ฟิเลผู้เงียบหาย” อีซาประกาศคำอำลาผ่านหัวข้อบลอก
ขณะเดียวกันยานแม่อย่างโรเซตตาที่โคจรไปรอบดาวหางก็มีพลังงานเหลือน้อยลงเรื่อยๆ และอีซากำหนดให้โรเซตตาสิ้นสุดภารกิจในวันที่ 30 ก.ย.2016 ที่จะถึงนี้ โดยยานจะถูกควบคุมให้พุ่งชนพื้นผิวของดาวหาง 67พีฯ ที่ยานตามติดกันมาร่วม 2 ปี ปิดฉากภารกิจประวัติศาสตร์มูลค่า 1.3 พันล้านยูโร ในการค้นหาร่องรอยจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตบนโลก
รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า ยานฟิเลได้ส่งข้อมูลที่เก็บได้จากการเก็บกลิ่น ตรวจองค์ประกอบ และขุดสำรวจดาวหางซึ่งกลายเป็นบ้านใหม่ของยานโรบอท และอยู่ห่างจากโลกออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ภารกิจของฟิเลที่เปรียบได้กับความกล้าหาญนี้จับใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่อีกจำนวน ซึ่งติดตามความสำเร็จและการเชิดชูยานอวกาศผ่านทวิตเตอร์และการ์ตูนชุด
“วันนี้การสื่อสารกับฟิเลได้หยุดลงแล้ว นี่เป็นการสิ้นสุดภารกิจที่น่าตื่นตาและประสบความสำเร็จสำหรับสาธารณะและสำหรับวงการวิทยาศาสตร์” อานเดรอาส ชูเอตซ์ (Andreas Schuetz) จากองค์การอวกาศเยอรมัน (DLR) บอกเอเอฟพีจากห้องควบคุมในเมืองโคโลญ เยอรมนี
ฟิเลซึ่งติดอยู่บนหลังยานโรเซตตาร่วมเดินทางเป็นระยะ 6.5 พันล้านกิโลเมตร โดยอาศัยแรงเหวี่ยงจากแรงโน้มถ่วงของโลกและดาวอังคาร ก่อนจะเข้าสู่วงโคจรของดาวหาง 67 พี หลังจากยานโรเซตตาปล่อยฟิเลลงบนดาวหางแล้ว ปรากฏว่าฟิเลไม่สามารถยิงฉมวกยึดดาวหางได้ ทำให้ยานกระดอนไปบนดาวหางหลายรอบ
ยานลงจอดลำน้อยตกลงไปติดอยู่ในร่องดิน ซึ่งบดบังแสงอาทิตย์ที่จะช่วยเติมพลังงานให้แบตเตอรี่ แต่ยานก็ถูกป้อนคำสั่งให้ทำงานทดลอง 60 ชั่วโมง และส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์กลับโลกก่อนที่จะเข้าสู่โหมดสำรองแบตเตอรี
เมื่อดาวหาง 67พี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ยานฟิเลก็ได้รับการกระตุ้นแบตเตอรีและฟื้นขึ้นจากการจำศีลเมื่อเดือน มิ.ย.2015 แล้วส่งข้อความนาน 2 นาทีกลับมายังยานโรเซตตา สร้างความตื่นเต้นแก่คนบนโลก แต่หลังจากส่งข้อมูลมาเป็นช่วงๆ อยู่ 8 ครั้ง ยานลงจอดก็เข้าสู่ภาวะเงียบอย่างถาวรเมื่อ 9 ก.ค.2015
สำหรับโรเซตตายังคงจับตาดาวหาง แต่ก็ไม่เห็นสัญญาณของยานฟิเล แม้ว่าจะอยู่ใกล้ในระยะ 10 กิโลเมตร จนกระทั่งถึงเดือน ก.พ.2016 เจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้น กล่าวว่าพวกเขาเชื่อว่ายานฟิเลได้จำศีลไปชั่วนิรันดร์ แม้พวกเขายังรอที่จะได้ยินการติดต่อจากฟิเลอีกครั้ง
เมื่อถึงเวลากำหนดปิดการสื่อสารกับยานฟิเล ฟิลิปเป กัวดอน (Philippe Gaudon) จากองค์กรอวกาศฝรั่งเศสกล่าวว่า เวลานั้นได้ปิดกั้นทุกความหวังที่จะได้รับข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจากยานฟิเล
“ถึงเวลาของผมแล้วที่จะกล่าวคำอำลา” บัญชีทวิตเตอร์ของฟิเลประกาศว่าการสื่อสารจะถูกตัดขาดไปตลอดกาล
การตัดสัญญาณสื่อสารระหว่างยานแม่และยานลูกนั้นมีความจำเป็น เพราะเมื่อดาวหางโคจรไกลออกไปจากดวงอาทิตย์มากขึ้นๆ ราว 520 ล้านกิโลเมตร เมื่อสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ยานโรเซตตาจำเป็นต้องรักษาพลังงานไว้เพื่อภารกิจในช่วงสัปดาห์สุดท้าย
“เราต้องเพิ่มพลังงานแก่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ของโรเซตตา และนั่นทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปิดการทำงาน ESS พลังงานก็มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ และเป้าหมายตอนนี้คือเติมเต้มพลังงานให้โรเซตตา ซึ่งเป็นปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง และจะสิ้นสุดปฏิบัติการในวันที่ 30 ก.ย.นี้” มาร์ก แมคคูเรียน (Mark McCaughrean) ที่ปรึกษาอาวุโสทางวิทยาศาสตร์ของอีซาบอกแก่เอเอฟพี
“ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเสียใจมากๆ อยู่แล้ส แต่ก็ภูมิใจพอๆ กันกับสิ่งที่ได้บรรลุจากปฏิบัติการทางอวกาศที่ไม่เหมือนใครนี้” แมคคูเรียนกล่าว
จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์จะใช้เวลาอีกหลายปีวิเคราะห์ข้อมูลที่ยานฟิเลและโรเซตตาส่งกลับมา ซึ่งเชื่อว่าดาวหางนั้เป็นก้อนฝุ่นยุคก่อน และน้ำแข็งที่หลงเหลือก็มาจากยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะ องค์ประกอบของดาวหางเป็นที่น่าสนใจแก่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งครุ่นคิดว่าดาวหางอาจจะเป็นแหล่งเชื้อพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก และอาจรวมไปถึงดาวเคราะห์ดวงอื่นด้วย