ลมเย็นพัดผ่านชานเพิงพักริมน้ำที่สร้างเอาไว้อย่างชั่วคราวบนคันดินริมคลองที่ถูกขุดขึ้นรอบบึง เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำของอดีตบึงน้ำจืดธรรมชาติอันมีขนาดกว่า 7,000 ไร่ ให้มากขึ้นกว่าเดิม (หรือเป็นผมคนเดียวที่ขำขัน) แสงแดดสีส้มสดที่ไร้ซึ่งความร้อนแรงสาดสะท้อนผืนน้ำกลางบึงระยิบระยับ แตกต่างจากความรุนแรงแผดเผาที่รู้สึกได้เมื่อเวลาเที่ยงวัน อาหารเย็นจำพวกปลาต่างๆ ที่จับได้จากบึงถูกเตรียมอย่างง่ายๆ และถูกวางตรงหน้าทุกคนพร้อมกับข้าวนึ่งให้เป็นอาหารเย็น ผมหันมองออกไปทางด้านนนอกชาน
เสียงนกกระปูดใหญ่ดังมาจากพงหญ้าห่างไปไม่ไกลมากนัก ชาวประมงท้องถิ่นกำลังลงข่ายดักปลาใหญ่น้อย ฝูงควายที่มองเห็นลิบๆ กำลังคลุกตัวอยู่ในปลักขณะที่วัวหลายตัวกำลังเล็มกินหญ้าอยู่บนดินดอนที่แห้งกว่า ผิวน้ำกระเพื่อมเป็นระลอกถี่จากการสะบัดตัวของงูที่กำลังว่ายน้ำข้ามคลอง นกยางไฟธรรมดา นกกระจาบทอง นกยางเปียและนกอีกหลายชนิดก็บินข้ามคลองและบึงไปมา ดูเป็นภาพชินตาไม่มีอาการตื่นตระหนกจากทั้งคน นกหรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งมีชีวิตดำเนินกิจกรรมและใช้ชีวิตของมันตามวิถีอย่างที่คุ้นเคย ราบรื่น
แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฎในสายตาและไม่อาจจะมองข้ามได้ คือความไม่ราบรื่นอันมโหฬารที่เกิดจาก "ความอยาก" ของมนุษย์
“เขาตัดถนนข้ามบึงมาจากฝั่งโน้น ฝั่งที่กำลังสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ขยายออกมาจากในเมืองน่ะ” ลุงดอน คนหาปลาชื่อกระฉ่อนประจำบึงกล่าว ไม่เพียงเท่านั้นภาครัฐเองก็มีการปรับพื้นที่เตรียมรองรับการย้ายศูนย์ราชการ อีกทั้งโรงงานไฟฟ้าที่กำลังเริ่มก่อสร้าง พื้นที่ธรรมชาติในบึงถูกขุด ถูกถม ถูกลอก ถูกตัดแยกออกเป็นส่วนๆ ด้วยถนนดินลูกรังและเชื่อมต่อกันด้วยเพียงประตูกั้นน้ำเล็กๆ สองสามบาน ทั้งหมดที่กล่าวมาเกิดขึ้นภายในพื้นที่บึงน้ำจืดธรรมชาติ ที่ที่เป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ ที่ที่เป็นบ้านของทั้งพืชและสัตว์ ยิ่งน่าหดหู่ใจเมื่อได้รับทราบเหตุผลหลักอย่างหนึ่งจากข่าวสาร คือ เพื่อหลีกหนีน้ำท่วม (หรือเป็นผมอีกแล้วที่แสยะยิ้มขำขันเพียงผู้เดียว)
บึงแห่งนี้ มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตมากมายอันเป็นสัตว์ประจำถิ่น อาศัยหากินอยู่ในและรอบๆ พื้นที่บึงแห่งนี้ตลอดเวลา
บึงแห่งนี้ มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอันเป็นสัตว์อพยพที่หลบมาพักหากิน หลบหนาวจากทางตอนเหนือของโลกหรือบางชนิดใช้เป็นจุดพักเติมพลังก่อนจะอพยพไกลต่อไป
บึงแห่งนี้ มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียวชนิดหนึ่งของประเทศไทย ชนิดพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่พบในพื้นที่อื่นใดนอกจากประเทศนี้ "งูสายรุ้งดำ"
บึงกะโล่มีความสำคัญมากต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ซึ่งในที่นี้ผมรวม “คน” เข้าไปด้วยทั้งอาศัย หากิน ใช้เลี้ยงสัตว์ ใช้กักเก็บน้ำ ใช้ทำการเกษตรและอื่นๆ อีกมาก ใยถึงจะต้องมีคำถามว่า “บึงแห่งนี้สำคัญกับสิ่งมีชีวิตขนาดไหน?” น่าจะมีคำถามกลับไปว่า “สิ่งใดมาบังถึงทำให้ยังมองไม่เห็น???” ปฏิเสธไม่ได้ถึงคุณค่าพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น บึงและงูสายรุ้งดำ พื้นที่และชนิดพันธุ์ที่ศึกษาวิจัย ถ้าไม่มีทั้งสองสิ่งนี้ ตัวตนของผมก็คงเป็นสิ่งลางเลือน
เมื่อกล่าวถึงสัตว์เลื้อยคลาน อวัจนภาษาประจำคำบ่งบอกได้ถึงความแขยงห่าง น้อยนักจะหาคนมาชื่นชม
เมื่อเอ่ยถึง "งู" เกือบร้อยทั้งร้อยพร้อมเขวี้ยงฟาดสิ่งของในมือหมายเอาชีวิต หรือไม่ สบถด่าทอกรีดร้องผละหนี เป็นอาการให้ประพบสบเจอโดยเนือง
เมื่อถามเอ่ยถึง "งูน้ำ" สิ่งที่ได้รับกลับมาเป็นคำถามแทนคำตอบ
"อะไร มีด้วยเหรอ?" "เป็นยังไง มันมีเหงือกไหม?" “มีครีบหรือเปล่า?” "งูน้ำเป็นสัตว์น้ำด้วยเหรอ?”
หรือนี่คือ "คำตอบ" แต่ไม่ใช่กับคำถามที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่พร้อมด้วยความเสมอสิทธิ์ในการดำรงชีวิตบนโลกใบนี้ แต่เป็น "คำตอบ" ที่ดังชัดเจนให้เห็นถึงเส้นทางที่เราเลือก แสดงให้เห็นถึงแนวความคิด มุมมองและความรู้ที่มี ต่อสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัว จากสังคมที่เราอาศัยอยู่
ช่างน่าเศร้าที่ก่อนหน้านี้ ปัจจุบันและคาดว่าในอนาคต สถานที่แห่งนี้คงถูกโบยทารุณทรมานจนกว่าจะหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง งูกว่าสิบเอ็ดชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อยอีกนับสิบพันธุ์ นกกว่าร้อยสายพันธุ์ สัตว์น้ำทั้งที่เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและมีกระดูกสันหลังอีกเท่าไหร่ ที่อาจจะหายไปจากพื้นที่หรือแม้กระทั่งสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากโลกนี้ด้วยคำว่า "ความอยาก" ของมนุษย์ จวบจนสุดท้ายก็คือตัวตนของเราที่จะตกตามไป
อีกกี่ชีวิต ชนิดพันธุ์ ณ บึงนี้ บึงกะโล่ ที่อาจหายไปก่อนเราจะได้รู้จักกัน
ทัศนียภาพของอาทิตยอัสดงลงบึงน้ำขับความคิดเคลื่อนไหล สายลมอ่อนพัดความคิดหลุดลอยเรื่อยไปจนกระทั่งความสว่างจากตะเกียงเข้ามาแทนที่ ผมหวังลึกๆ ในใจอีกครั้งให้ตัวเองคิดผิด
เกี่ยวกับผู้เขียน
จองื้อที
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน