นอกจากโครงงานวิทย์แล้วในภายในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพปี 2 ยังมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์สนุกๆ อย่างปล่อยบอลลูนเพื่อลุ้นว่า “มนุษย์อวกาศจำลอง” ที่อยู่ในรูปแบบวงจรจะรอดหรือไม่รอด
เยาวชนจากอาเซียนใน 8 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ ลาวและไทย ได้ทดสอบความสามารถทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างยานอวกาศจำลองและมนุษย์อวกาศจำลอง เพื่อการศึกษาและปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศระดับสูงใกล้อวกาศ
กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายในค่ายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเยาวชน (ASEAN STI Youth Forum 2016) ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และเป็นค่ายย่อยภายใน “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 2” (The 2nd ASEAN Student Science Project Competition) ที่จัดขึ้นระหว่าง 25 – 29 ก.ค.59 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี
งานนี้ได้กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการบินและอวกาศไทย (Thailand Space and aeronautics Research : TSR) ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในการปล่อยบอลลูนสู่บรรยากาศระดับสูงใกล้อวกาศ มาเป็นวิทยากรแก่เยาวชนในค่ายเกือบ 100 ชีวิต และแนะนำกิจกรรมจำลองส่งมนุษย์อวกาศจำลองไปกับยานอวกาศจำลองที่ติดขึ้นไปกับบอลลูน
เยาวชนอาเซียนแต่ละประเทศถูกคละกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมเป็น 10 กลุ่ม แล้วสร้างอวกาศจำลองจากวัสดุที่หาได้รอบตัว ตั้งแต่ขวดน้ำ โฟม แก้วน้ำ และได้รับวงจรซึ่งจำลองเป็นมนุษย์อวกาศติดขึ้นไปพร้อมยานจำลอง ซึ่งยานอวกาศจำลองพร้อมวงจรมนุษย์อวกาศทั้งหมดจะเป็นสัมภาระที่ส่งขึ้นไปพร้อมบอลลูนลูกเดียวกัน
ณัฐพงษ์ วงศ์เฟื่องฟูถาวร ผู้จัดการโครงการ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการบินและอวกาศไทย อธิบายกติกาในการส่งไปกับยานอวกาศจำลองไปกับบอลลูนให้แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ทีมที่ชนะคือทีมที่สร้างอวกาศที่ช่วยให้มนุษย์อวกาศไม่ตายหรือตายช้าที่สุด โดยกติกากำหนดว่าหากมนุษย์อวกาศเผชิญความดันต่ำกว่า 500 มิลลิบาร์หรืออุณหภูมิต่ำกว่า -5 องศาเซลเซียสถือว่าไม่รอด
เมื่อส่งบอลลูนขึ้นไปใกล้อวกาศแล้ว วงจรซึ่งเป็นมนุษย์อวกาศจำลองจะส่งข้อมูลอุณหภูมิและความดันอากาศกลับลงมาสดๆ และถ่ายทอดสัญญาณผ่านหน้าจอที่มีภาพแสดงอาการของมนุษย์อวกาศจากแต่ละกลุ่ม ซึ่งเยาวชนแต่ละกลุ่มได้ลุ้นกันอยู่ราว 20 นาที และปรากฏไม่มีมนุษย์อวกาศของกลุ่มใดรอด ส่วนบอลลูนหลังขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วได้ตกที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
ในส่วน “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 2” จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)กับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนมาร่วมแข่งขันและแสดงผลงาน