xs
xsm
sm
md
lg

ความท้าทายใหม่...ผลิต “แอร์-ตู้เย็น” ลดโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มร.ทิม มาเลอร์ และ ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี
ในขณะที่แอร์-ตู้เย็นแบบเดิมๆ ยิ่งใช้งาน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาภาวะโลกร้อนจากสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศน้อย เยอรมันจึงเสนอแนวทางช่วยไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมความเย็น เพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า

กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, กระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหราชอาณาจักร และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพิ่งร่วมกันเปิดตัวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น หรือ แรคนามา (RAC NAMA)

โครงการแรคนามาเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และกระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหราชอาณาจักร ผ่านกองทุน NAMA Facility โดยโครงการที่ดำเนินการในประเทศไทยได้รับทุนสนับสนุน 14.7 ล้านยูโรหรือประมาณ 560 ล้านบาท

เป้าหมายของโครงการแรคนามาคือการสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น รวมถึงกระตุ้นและสร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภคในการเลือกใช้เครื่องทำความเย็นที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ในระดับต่ำ

มร.ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการแรคนามา ประจำองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประเทศไทย ระบุว่าทางโครงการจะช่วยสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีในระบบปรับอากาศและทำความเย็น ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการใช้สารทำความเย็นที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนระดับต่ำ

นอกจากนี้ มร.มาเลอร์ระบุว่า ไทยเองได้กำหนดเป้าหมายสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น (INDC) ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี 2030 ทางโครงการฯ จึงอยากสนับสนุนเป้าหมายนั้นประสบความสำเร็จ อีกทั้งโครงการนี้ยังประสบความสำเร็จมาแล้วจากการดำเนินงานที่จีนและอินเดีย จึงคาดว่าจะประสบความสำเร็จในไทยเช่นเดียวกัน

ข้อมูลจาก มร.มาเลอร์ระบุถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความเย็นภายในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีตามสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายที่เราต้องทำให้ทุกอยู่ได้สบาย แต่มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในระดับต่ำ โดยพุ่งเป้าใน 2 ส่วนคือส่วนของผู้ผลิตและส่วนผู้บริโภค

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีให้ผลิตภัณฑ์ทำความเย็นและระบบปรับอากาศใช้พลังงานไฟ้ฟ้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับสารทำความเย็นตัวใหม่ที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนต่ำ ทดแทนสารทำความเย็นเดิมที่ใช้กันอยู่แต่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูง

มร.มาเลอร์ระบุว่า ก่อนหน้านี้เราเคยเผชิญความท้าทายในการลดใช้สารทำความเย็นอย่างคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ทำลายชั้นโอโซน เราแก้ปัญหาดังกล่าวได้แล้วโดยเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) แทน แต่ HFC ยังส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เป้าหมายต่อไปคือหาสารทำความเย็นทดแทน ซึ่งมีสารธรรมความเย็นธรรมชาติอย่างแอมโมเนียหรือไฮโดรคาร์บอน แต่มีความท้าทายว่าแอมโมเนียนั้นเป็นพิษและไฮโดรคาร์บอนนั้นติดไฟง่าย จึงต้องหาทางพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป

สำหรับทุนสนับสนุนจากโครงการนั้นจะนำไปใช้ในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนสารทำความเย็นและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ทุนพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวแก่ผู้ผลิตที่พิจารณาว่ามีศักยภาพ ทุนอีกส่วนนำไปใช้ในการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานของประเทศไทยในเชิงนโยบายเพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปรับอากาศและทำความเย็นที่ช่วยลดโลกร้อน

ด้าน อัมพวา มูลเมือง ผู้จัดการโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประเทศไทย อธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่า โครงการนี้มีระยะเวลาทำงาน 5 ปี ซึ่งจะดำเนินงานด้วยเงิน นโยบายและเทคนิค ในส่วนของนโยบายนั้นเห็นว่าประเทศมีกลไกในการดำเนินงานอยู่แล้วทางโครงการฯ จึงเพียงเข้าไปเสริมการทำงาน โดยต้องให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตพัฒนาเทคโนโลยีออกมาแต่ไม่มีผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อจะได้รับแรงจูงใจจากมาตรการส่วนลดต่างๆ ที่จะออกมา

ในส่วนของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความเย็นอย่าง ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจเดนกิอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวถึงโครงการแรคนามาว่าเป็นโครงการที่ดีและทางซัยโจเดนจิซึ่งเป็นผู้ประกอบการของคนไทยก็ต้องการที่จะเป็นผู้นำในด้านการประหยัดพลังงาน ส่วนความท้าทายในการเปลี่ยนสารทำความเย็นในผลิตภัณฑ์นั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายจริงๆ แต่ทางโรงงานมีวิศวกรอยู่แล้วก็ต้องหาทางพัฒนาให้ปลอดอันตรายให้ได้ อีกทั้งเยอรมันยังจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในไทยด้วย
มร.ทิม มาเลอร์
ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี









กำลังโหลดความคิดเห็น