xs
xsm
sm
md
lg

นักฟิสิกส์ “เซิร์น” มอง “สสารมืด” หายากกว่า “ฮิกกส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่เทคนิคในห้อควบคุมเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (REUTERS/Denis Balibouse/File Photo)
หา “ฮิกกส์” พบแล้วแต่งานใหญ่ของนักฟิสิกส์ “เซิร์น” กำลังจะเริ่ม ท่ามกลางกองข้อมูลมากกว่าภูเขา มีอีกหลายคำถามที่พวกเขาต้องช่วยกันหาคำตอบ ทั้งแรงโน้มถ่วงที่ไม่สอดคล้องกับแบบจำลองมาตรฐานที่มี หรือ “สสารมืด” ที่ดูจะหายากกว่า “อนุภาคพระเจ้า” หลายเท่า

รอยเตอร์เผยบทสัมภาษณ์นักฟิสิกส์ของ “เซิร์น” (CERN) ที่กำลังแกะข้อมูลกองมหึมาที่ได้จากการทำงานของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) หลัง 3 ปีของการยืนยันการค้นพบอนุภาคฮิกกส์ (Higgs boson) ที่คนรู้ทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “อนุภาคพระเจ้า”

ทิเซียโน คัมโปเรซิ (Tiziano Camporesi) หัวหน้าสถานีตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส (CMS) เผยแก่รอยเตอร์ว่า ในช่วงชีวิตของนักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคจะต้องมีช่วงเวลาเช่นนี้สักครั้ง และเป็นช่วงที่มีโอกาสในการค้นพบอะไรสักอย่างมากที่สุด

สำหรับอนุภาคฮิกกส์ที่การค้นพบนำไปสู่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2013 นั้น ช่วยตอคำถามพื้นฐานว่าสสารมูลฐานนั้นมีมวลได้อย่างไร แต่ก็ยังไม่ได้ไขปริศนาถึงสิ่งที่ขาดหายไปจาก “แบบจำลองมาตรฐาน” ทางฟิสิกส์

คัมโปเรซิบอกรอยเตอร์ว่าแบบจำลองมาตรฐานซึ่งเป็นชุดสมการอันเรียบง่ายที่สรุปรวมทุกสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับธรรมชาติไว้นั้น ยังทิ้งคำถามที่คาใจไว้อยู่ หนึ่งในปัญหาคือทำไมแรงโน้มถ่วงจึงดูไม่สอดคล้องกับแบบจำลองมาตรฐาน และอีกคำถามคือ ทำไมจึงมีสสารอยู่มากในเอกภพโดยที่เรามองเห็นเพียง 4% ของทั้งหมด

รอยเตอร์ระบุว่า เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไม่ได้ทำงานดีขึ้นหรือทำงานหนักขึ้น แต่ลำโปรตอนหนาแน่นที่ถูกปั่นให้ชนกันนั้นได้ให้ข้อมูลมหาศาลมากกว่าที่เคย โดยโปรตอนนับพันล้านอนุภาคถูกยิงไปในท่อวงแหวนความความยาว 27 กิโลเมตรที่อยู่ใต้ดิน ก่อนโปรตอนเหล่านั้นจะพุ่งชนกันเองที่ระดับพลังงาน 13เทราอิเล็กตรอนโวลต์ (TeV) หรือคิดเป็น 13 เท่าของแรงขณะยุงบิน

นักวิทยาศาสตร์ที่เซิร์นนับปริมาตรข้อมูลมหาศาลนั้นในหน่วย “อินเวอร์สเฟมโตบาร์น” (inverse femtobarns) ซึ่ง คัมโปเรซิบอกว่า เมื่อปีที่ผ่านมาพวกเขาได้เก็บข้อมูล 2.6 อินเวอร์สเฟมโตบาร์น ส่วนปีนี้เก็บมาได้เกือบ 8 อินเวอร์สเฟมโตบาร์นแล้ว ซึ่งการค้นพบครั้งใหญ่จะเผยที่งานประชุมฟิสิกส์พลังงานสูงนานาชาติ (International Conference on High Energy Physics) ในชิคาโก สหรัฐฯ เดือนหน้า

ซีเอ็มเอสและสถานีตรวจวัดแอตลาส (Atlas) ของเซิร์นจะเผยสิ่งที่ทั้งสองสถานีได้พบภายในงานประชุมดังกล่าว ซึ่งเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ทั้งซีเอ็มเอสและแอตลาสได้พบ “บางสิ่ง” ในข้อมูงจากการชนกันของอนุภาคที่ระดับพลังงาน 750 กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV)

ภายใน 2 สัปดาห์หลังพบข้อมูลที่มีนัยสำคัญก็มีรายงานวิจัยถึง 89 ฉบับเสนอทฤษฎีของสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ และตอนนี้มีรายงานจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 450 ฉบับแล้ว แต่คัมโปเรซิก็ยั้งความตื่นเต้นไว้และบอกว่าบางทีนักทฤษฎีก็เชื่อมั่นเกินไป

“สิ่งที่เราเห็นคล้ายกับคุณโยนเหรียญ 6 ครั้ง และเห็นว่าออกหัวตลอด แต่คุณก็พนันไม่ได้หรอกว่าเหรียญจะมีหัวสองด้านจากเหตุนี้ ธรรมชาตินั้นบางครั้งก็มีน้ำใจแต่บางครั้งก็มีเล่ห์เหลี่ยม ถ้ามีน้ำใจการค้นพบก็จะได้ผลเร็ว แต่ถ้ามีเล่ห์เหลี่ยมก็ต้องใช้ข้อมูลของแอลเอชซีตามแผนทั้ง 3,000 อินเวอร์สเฟมโตบาร์นเพื่อให้ได้ผลออกมา ผมเกรงว่า “สสารมืด” จะเป็นอะไรที่หายากกว่าฮิกกส์โบซอนมากๆ” คัมโปเรซิกล่าว
ภาพภายในอุโมงค์เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีเมื่อครั้งเปิดให้สื่อเยี่ยมชม (REUTERS/Pierre Albouy/File Photo)
ช่างเทคนิค (กลาง) ยืนใกล้เครื่องตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส (REUTERS/Denis Balibouse/File Photo)
ช่างเทคนิค (กลาง) ยืนใกล้เครื่องตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส  (REUTERS/Pierre Albouy/File Photo)









กำลังโหลดความคิดเห็น