xs
xsm
sm
md
lg

ESIC Laboratory สร้างโอกาสวิศวกร-ศิลปินร่วมเปิดโลกศิลปะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มจธ. - หากพูดถึงการชมงานศิลปะภาพในจินตนาการของหลายคนคงนึกถึงงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ในแกลลอรี่ต่างๆ แต่ในปัจจุบันงานศิลปะนั้นไม่ได้อยู่แค่ในแกลลอรี่อีกต่อไป เมื่อมีกลุ่มคนที่นำศิลปะมาผสมผสานเข้ากับมีเดียอาตส์ที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้ในเรื่องที่ต้องการสื่อสารแก่คนทั่วไปได้มากขึ้น

มีเดียอาตส์คือการผสมผสานศิลปะและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกันทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสและตอบโต้กับงานศิลปะนั้นๆ ได้โดยตรงเป็นวิธีในการเสพศิลปะแบบใหม่ ผู้ชมสามารถร่วมคิดร่วมสร้างศิลปะได้ด้วยตัวเอง และแบ่งปันประสบการณ์กันได้ทันทีที่ ESIC Laboratory หรือ Edutainment & Socio-Interaction Computing ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ESIC Laboratory เป็นอีกหนึ่งกลุ่มวิจัยที่นำเทคโนโลยีมาบูรณาการเข้ากับศิลปะ ทำให้เกิดการโต้ตอบระหว่างสื่อดิจิตอลมีเดียและมนุษย์ โดยผลงานของ ESIC LAB คือการสร้างผลงานขึ้นแล้วใส่ซอฟต์แวร์เข้าไป ออกแบบให้มีการปฏิสัมพันธ์ หรือโต้ตอบกับผู้ที่กำลังชมผลงานได้ เป็นงานที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ และการแสดงบนเวที เรียกว่า Interactive

ดร.ปริยกร ปุสวิโร กล่าวในฐานะหัวหน้า ESIC Laboratory ว่าสิ่งที่ ESIC LAB ทำคือการนำองค์ความรู้วิศวกรรมมาใช้ประโยชน์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดงานที่สร้างความบันเทิงและเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยต้องเกิดการปฏิสัมพันธ์กับสังคม เป็นงานที่คนต้องเข้ามามีส่วนร่วมได้ เกิดการตอบโต้ระหว่างมนุษย์และดิจิตอลมีเดีย

“เพราะเป็นวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จึงนำเทคโนโลยีมาทำให้สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเปล่งแสงได้ ส่งเสียงได้ สามารถโต้ตอบกับคนได้ เรียกว่า Interactive เราทำโปรเจกต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย โดยในหลายๆ งานนั้น ESIC LAB จะเป็นทีมวิศวกรที่เข้าไปสนับสนุนในเรื่องของเทคนิคให้แก่ผลงานศิลปะต่างๆ สิ่งที่เราทำคือการนำศิลปินและวิศวกรมาพบกันและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เราเป็นวิศวกรทำหน้าที่ เป็นส่วนเติมเต็มให้ศิลปินเรียนรู้ว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานศิลปะได้อย่างไร

เขากล่าวอีกว่าในทางกลับกันทำให้วิศวกรเข้าใจวิถีของการทำงานศิลปะไปในตัวด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างวิศวกรและ ศิลปินเพื่อนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมงานศิลปะในรูปแบบ Interaction เพื่อทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ โดยการสร้าง Interaction ระหว่างศิลปิน งานศิลปะ และผู้ชม เพื่อให้เกิดการโต้ตอบกัน 3 ฝ่าย จะทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าศิลปะจับต้องได้ ผู้ชมมีส่วนร่วมกับงานศิลปะได้ และเกิดเป็นการเสพงานศิลปะในรูปแบบใหม่ขึ้นมา

ที่ผ่านมา ESIC LAB ได้มีโอกาสร่วมในโปรเจกต่างๆ ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของงาน Live the City: Urban Media Project เป็นการแสดงงานศิลปะที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมโดยการแสดงความคิดเห็นต่อเมืองที่อยู่อาศัยผ่านงานศิลปะ ซึ่งทีมวิจัย ESIC LAB นั้นร่วมโครงการนี้ในฐานะวิศวกรที่ทำงานร่วมกับศิลปินในการนำเทคโนโลยีดิจิตอลอาร์ตเข้ามาผสมผสานกับงานศิลปะเพื่อให้เกิด Interaction

แบ่งผลงานดังกล่าวเป็น 3 ผลงานคือ ผลงาน Plastic Partition ที่ผู้ชมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ผ่าน LED Board จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ผลงาน The Hidden Sound of Bangkok ที่ผู้ชมสามารถเลือกฟังเสียงของแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นในท่อระบายน้ำ ห้องน้ำ หรือคลองต่างๆ จัดแสดงอยู่ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรม กทม. และผลงาน Tell of Tree ที่ผู้ชมสามารถเข้าไปกระซิบความลับที่ตนไม่อยากบอกใครผ่านต้นไม้ได้โดยต้นไม้จะแสดงการรับรู้เสียงกระซิบผ่านไฟ LED ที่อยู่บนกิ่งก้านของต้นไม้จัดแสดงอยู่ที่สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

“กว่าแต่ละงานจะสำเร็จเรามีการจัดเวิร์คชอปให้กับศิลปินในโครงการ เพราะแน่นอนว่าความเป็นศิลปินนั้นสามารถเสนอไอเดียออกมาได้ไม่มีขอบเขต แต่เมื่อใดก็ตามที่ใส่เทคโนโลยีเข้าไปในงานศิลปะด้วยแล้ว คำว่าขีดจำกัดก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดวิศวกรจึงต้องรับฟังไอเดียของศิลปิน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันองค์ความรู้ทางเทคนิคและความเป็นไปได้ แล้วตีกรอบให้ไอเดียนั้นกระชับขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้งานศิลปะนั้นโดดเด่นออกมาได้อย่างดีที่สุด”











กำลังโหลดความคิดเห็น