สวทช. พร้อมส่งฑูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ JENYSYS 2015 ตะลุยแดนญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวและเกาะคิวชู เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและเสริมประสบการณ์วิทยาศาสตร์ และใกล้ชิด 2 นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบล ระหว่าง 29 พ.ย.-8 ธ.ค.นี้
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพิ่งจัดงานแสดงความยินดีและปฐมนิเทศแก่ฑูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยจำนวน 29 คนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศอาเซียนหรือ JENESYS 2015 จำนวน 10 วัน ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. - 8 ธ.ค.58 ณ กรุงโตเกียว และเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น พร้อมเสริมสร้างประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือให้ สวทช.คัดเลือกเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการ JENESYS 2015 โดยทางรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด และเยาวชนจะได้เดินทางไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เรียนรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรม พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นด้วยการพักอาศัยกับชาวญี่ปุ่นแบบโฮมสเตย์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมของไทยกับญี่ปุ่นและกลุ่มอาเซียนด้วย ซึ่งมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกทั้งสิ้นจำนวน 29 คน จากมหาวิทยาลัย 20 แห่งทั่วประเทศ
ด้าน นายชิโร่ เทราชิมา (Shiro Terashima) เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ JENESYS หรือ Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths ในปี 2015 ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประสงค์จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศสมาชิกอาเซียน และกลุ่มโอเชียเนีย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเยาวชนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเข้าร่วมกว่า 1,840 คน ร่วมกับเยาวชนญี่ปุ่น 250 คน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างความเข้าใจในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศญี่ปุ่นในภาพกว้างขึ้น โดยเริ่มแรกวางโครงการไว้ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2007 แต่โครงการดำเนินมาถึงปีที่ 8 แล้ว
นายชิโร่ระบุว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้เดินทางไปทัศนศึกษา ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดโออิตะในเกาะคิวชู เป็นเวลา 10 วัน เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมทั้งเมืองใหญ่และเมืองเล็กของญี่ปุ่น รวมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมล่าสุดของประเทศญี่ปุ่นว่ามีอะไรบ้าง และมีเทคโนโลยีประเภทใดบ้างที่ประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก โดยในกรุงโตเกียวจะได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีการจัดแสดงผลงานนิทรรศการของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น 2 ท่านที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อเร็วๆ นี้
"ผมหวังว่าน้องๆ ที่ได้ไปศึกษาที่นี่จะได้รับแรงบันดาลใจและในอนาคตจะได้มีโอกาสชนะรางวัลโนเบลบ้าง ขณะที่การไปทัศนศึกษาที่จังหวัดโออิตะ ที่เป็นจังหวัดเล็กๆ ทางเกาะคิวชูทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น จะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานและบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นเพื่อศึกษาและดูงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยจังหวัดนี้มีบ่อน้ำร้อนเป็นจำนวนมาก น้องๆ จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการอาบน้ำแร่ออนเซ็นด้วย นับเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นและเสริมประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทยได้เป็นอย่างดี” นายชิโร่ เทราชิมา กล่าว