xs
xsm
sm
md
lg

จับมือ 7 ธนาคารดัน “เอสเอ็มอี” สร้างนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างนวัตกรรมในโครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย ผ้าทอสามมิติสำหรับขึ้นรูปโมลด์คัพเพื่อผลิตชุดชั้นในสตรี เพื่อความยืดหยุ่นและโปร่งสบาย แทนการเสริมฟองน้ำ โดยบริษัท เจมม่า นิต (ประเทศไทย) จำกัด
สนช.จับมือ 7 ธนาคารดันเอสเอ็มอีสร้างนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ยต่อเฟส 2 หลังผลงานเฟสแรกประสบความสำเร็จหนุนผู้ประกอบสร้างธุรกิจนวัตกรรมปลอดดอกเบี้ยได้ 47 โครงการ พร้อมเดินหน้าปฏิบัติการเชิงรุกดึงผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน 1,500 ล้านบาท ดังเป้าหมายขยายผลจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มเป็น 3 เท่า

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ปละเทคโนโลยี เป็นประธานความร่วมมือในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” ระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และสถาบันการเงิน 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ธนาคารทหารไทย จำกัด ธนาคารธนชาต จำกัด และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ก.ย.58 ณ อุทยานนวัตกรรม ถ.พระราม 6

ดร.พันธุ์อาจ ชันรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า โครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย เป็นกลไกหนึ่งในการนำร่องขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ หรือช่วงเริ่มต้นสู้กระบวนการผลิตจริง โดยอาจเป็นโครงการที่เกิดจากการขยายผลของการสร้างต้นแบบหรือทดสอบนำร่องและพัฒนาออกสู่ตลาดในระยะแรก โดย สนช.ให้การสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้ประกอบการนวัตกรรมในวงเงินสนับสนุนดอกเบี้ยสูงสุด 5 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ส่วนสถาบันการเงินเป็นผู้รับผิดชอบวงเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการทำนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ด้าน นายพรชัย หอมชื่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สนช.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า โครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ยในระยะแรกระหว่างปี 2553-2558 ได้สนับสนุนโครงการนวัตกรรมไปแล้ว 47 โครงการ คิดเป็นมูลค่าดอกเบี้ยกว่า 55 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 350 ล้านบาท และสัญญาโครงการใกล้จะหมด อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยจึงได้ขยายโครงการต่อไปเป็นระยะที่ 2 อีก 4 ปี

“ครั้งนี้จะร่วมกับ 7 สถาบันการเงินทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการในโครงการ โดยน่าจะเพิ่มจำนวนโครงการขึ้นเป็น 150 โครงการ และคาดว่าจะมีวงเงินกู้ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นดอกเบี้ย 150-200 ล้านบาท โครงการในระยะแรกนั้น มีหลายโครงการที่คืนทุนและประมาณ 80% ของ 47 โครงการนั้นมีรายได้เป็นบวก เช่น โครงการโทฟุซังน้ำเต้าหู้โปรตีนสูง โครงการชีวาดีน้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์” นายพรชัยระบุ

ด้าน นางสารภี ยวดยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีวาดี โปรดักส์ จำกัด ผูเผลิตน้ำหวานจากดอกมะพร้าวอินทรีย์กล่าวว่า ธุรกิจของบริษัทเริ่มต้นจากไปเที่ยวอัมพวา และได้พูดคุยกับชาวบ้านผู้ผลิตน้ำหวานจากดอกมะพร้าวว่า น้ำหวานดังกล่าวจะไม่มีให้บริโภคอีกแล้ว เนื่องจากขั้นตอนการผลิตยาก เพราะต้องใช้น้ำหวานจากดอกมะพร้าวที่หยดทีละหยด ขณะที่แรงงานเริ่มสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีใครสืบทอด

จากความรู้และประสบการทางด้านเทคโนโลยีอาหารในฐานะลูกจ้างบริษัทเอกชนหลายใหญ่ สารภีจึงพยายามหาวิธีพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตน้ำหวานดอกมะพร้าว และได้รับทุนจาก สนช.ในการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำหวานดอกมะพร้าวหลายอย่าง โดยมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์เด่นคือน้ำหวานจากดอกมะพร้าว น้ำตาลทรายทองมะพร้าว และไวเนการ์น้ำหวานดอกมะพร้าว และมีตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซย และสิงคโปร์

นอกจากนี้บริษัทชีวาดียังเข้าร่วมในโครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ยของ สนช. ซึ่งสารภีกล่าวว่าทางโครงการได้ช่วยสนับสนุนการเงินโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร โดยเธอได้ขอทุนเพื่อสร้างโรงงานขนาดเล็กในชุมชนอัมพวาเพื่อผลิตน้ำหวานจากดอกมะพร้าว ซึ่งนับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการจนสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่เข้าสู่ปี 2 แล้ว และนอกจากการออกไปทำตลาดในอาเซียนแล้วทางบริษัทยังมีสรรหาผู้ผลิตวัตถุดิบจากอินโดด้วย
นางสารภี ยวดยง และผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลดอกมะพร้าว
นายพรชัย หอมชื่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สนช.
(กลางซ้าย) ดร.พันธุ์อาจ ชันรัตน์ และ (กลางขวา) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ พร้อมตัวแทนจาก 7 สถาบันการเงิน









กำลังโหลดความคิดเห็น