เพราะเราเชื่อว่าเยาวชนผู้กระทำความผิด สามารถกลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคมได้อีกครั้ง และพวกเขายังมีศักยภาพมากพอที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อีกมหาศาล โดยเฉพาะด้าน "ไอที" พรสวรรค์ที่แฝงมาพร้อมกับเด็กรุ่นใหม่ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขามีชีวิตใหม่และมีทักษะติดตัวไว้ใช้ประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ
ในแต่ละปีมีเยาวชนผู้ต้องโทษเข้าออกสถานพินิจมากถึง 35,000-50,000 คน ซึ่งนอกจากพวกเขาจะต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแล้วโอกาสการศึกษายังต้องหยุดชะงักลงด้วย ด้วยเหตุนี้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ไอทีเพิ่มคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และเพิ่มโอกาสแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งไม่เพียงแค่เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเท่านั้น ยังรวมไปถึงผู้ด้อยโอกาสอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กนักเรียนในชนบทห่างไกล ผู้พิการ เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล
โอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม สถานคุ้มครองเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม 1 ใน 5 สถานคุ้มครองเด็กที่เข้าร่วมโครงการไอทีจากพระราชดำริ พร้อมด้วยคณะทำงานจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานที่รับหน้าที่เป็นเลขาธิการด้านวิชาการของโครงการฯ เพื่อติดตามผลการดำเนินการและเก็บภาพกิจกรรมบางส่วนมาให้ชม
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการไอทีฯ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาส 4 กลุ่มได้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับโครงการเพื่อพัฒนาเยาวชนในสถานพินิจ เกิดขึ้นภายหลังในปี 2554 จากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่เห็นว่าเด็กและเยาวชนในสถานพินิจเป็นวัยที่น่าจะเรียนรู้เทคโนโลยีได้รวดเร็ว และถ้ามีทักษะทางคอมพิวเตอร์ติดตัวไปก็จะเป็นประโยชน์สามารถใช้ประกอบอาชีพได้หลังพ้นโทษ จึงจัดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เข้าไปให้ความรู้กับเยาวชนที่มีความสนใจ และยังได้สนับสนุนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในศูนย์ฝึกทั้ง 5 แห่ง ได้แก่
ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม, ศูนย์ฝึกฯ บ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ, ศูนย์ฝึกฯ บ้านอุเบกขา จ.นครปฐม, ศูนย์ฝึกฯ บ้านปราณี จ.นครปฐม, ศูนย์ฝึกฯ บ้านบึง จ.ชลบุรี ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สวทช., มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยจัดฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ด้านมัลติมีเดียในหลักสูตรต่างๆ อาทิ การใช้งานคอมพิวเตอร์พื้นฐาน งานออกแบบกราฟิก การผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ การถ่ายภาพ การทำหนังสั้นสต๊อปโมชัน ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกประเมินแล้วว่าสามารถต่อยอดไปใช้กับการทำประโยชน์ในชีวิตจริง
"พระองค์ทรงมีดำริว่าเด็กเหล่านี้กำลังเป็นวัยเรียนรู้ เมื่อถูกคุมขังจึงเป็นการขาดโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ ทำอะไรหลายๆ อย่างที่เพื่อนในวัยเดียวกันได้ทำ ด้วยทรงเห็นว่างานด้านคอมพิวเตอร์เป็นิ่งใกล้ตัวและเยาวชนเหล่านี้น่าจะมีทักษะอยู่บ้าง จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับเยาวชน 5 บ้าน โดยพระองค์ได้พระราชทานอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ กล้องถ่ายรูป โปรเจคเตอร์ มือ 1 บ้าง มือ 2 แล้วแต่ความจำเป็น เพราะโครงการของพระองค์เน้นความเรียบง่ายแต่ยั่งยืน ไม่ใช้ตค่าใช้จ่ายสูงเกินตัวซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและในส่วนผลตอนรับก็ดีมาก เพราะเยาวชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงออกไปแข่งข้างนอกได้รางวัลกลับมาก็มี" ศ.ดร.ไพรัช เผย
ด้านนางทิชา ณ นคร หรือ ป้ามน ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯ กาญจนาภิเษก เผยว่า กิจกรรมที่ทางโครงการนำมาจัดอบรมให้แก่เยาวชนมีอยู่หลายโครงการ แต่ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ การฝึกอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้นเพื่อผลิตสต๊อปโมชั่น และการออกแบบกราฟฟิกโดยใช้โปรแกรม และสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ได้ ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาฝึกสอนให้กับเยาวชน จนผลงานสต๊อปโมชันเรื่อง สื่อร้าย ใกล้ตัว สามารถคว้าทั้งรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดในโครงการเด็กไทยกับไอที ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงพลังงาน และยังได้รางวัลชนะเลิศ พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวด สื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ จากผลงานเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมหลักสูตรกราฟฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพ, หลักสูตร photoshop, หลักสูตร adobe flash, การเขียนจดหมายยข่าวออนไลน์, การวาดการ์ตูน, การทำพรีเซนเทชันงานแต่งงาน, การออกแบบ การใช้สี และการสร้างเว็บไซต์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเยาวชนที่สนใจจะได้รับการฝึกจากวิทยากรที่จะหมุนเวียนกันมาทั้งในส่วนของ สวทช., มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, มจธ. ทั้งแบบอบรมที่ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก และการฝึกอบรมภายนอก ทั้งในรูปแบบของการดูงานและการเข้าค่ายเยาวชน ที่เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับบุคคลภายนอก ซึ่งไม่เพียงแต่ 5 บ้านนี้เท่านั้นที่จะมีโครงการไอทีในพระองค์ เพราะขณะนี้สถานพินิจและเรือนจำหลายๆ แห่งก็ได้มาศึกษาดูงาน เพื่อเตรียมขอพระราชทานขยายโครงการไปในส่วนงานอื่นๆ ด้วย
"หลักสำคัญของบ้านกาญจนาภิเษก คือ เราให้คุณค่าแก่เด็ก เราให้ตัวตนแก่เขา ที่นี่จะอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวภายใต้แนวคิดว่าที่นี่ไม่ใช่คุก เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ผู้ขุม และเยาวชนไม่ใช่นักโทษ เขาเป็นเพียงคนปกติที่หลงผิดชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งป้าเชื่อว่าการคุมขังในรั้วไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับบ้านกาญจนาฯ คือการให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม เมื่อเขาได้ความรู้จากโครงการ เราจึงผลักดันให้เขาเข้าประกวดในที่ต่างๆ ด้วยความสมัครใจ และป้าพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าโครงการไอทีของสมเด็จพระเทพฯ ได้ให้ชีวิตใหม่กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เพราะนอกจากกิจกรรมจะช่วยขัดเกลาจิตใจของเขา บางคนเมื่อพ้นโทษไปแล้วยังได้เอาวิชาความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพ และยิ่งไปกว่านั้นบางคนถงขั้นเรียนต่อในสาขาคอมพิวเตอร์ตามที่พระองค์ปูทางไว้ให้เลยก็มี" ทิชา เผยแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ด้าน นาย ศักดา แสงจันทร์ อายุ 21 ปี อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า หลังได้เข้าร่วมโครงการไอทีฯ ชีวิตในการคุมขังของเขาก็เปลี่ยนไป จากที่อยู่ในศูนย์ ทำกิจกรรมเพื่อให้เวลาผ่านไปวันๆ ก็กลายเป็นต้องมานั่งคิดว่าจะทำสต๊อปโมชันเป็นเรื่องอะไรดี จะวางผังเรื่องยังไงให้น่าสนใจ ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิ กระบวนการคิดและความใจเย็นให้เขาได้โดยปริยาย
ศักดา อธิบายว่า สต๊อปโมชัน (Stop Motion) คือ ภาพยนตร์ที่เกิดจากการนำภาพหลายๆ ภาพมาต่อกันให้เป็นเรื่องราว มีด้วยกันหลายแบบทั้งแบบใช้คนทำ ใช้กระดาษทำ และใช้ดินน้ำมันปั้น แต่การจะทำสต๊อปโมชันสักเรื่องไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องรวมเอาทักษะหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการวางแผน การทำฉาก การทำตัวละคร การถ่ายภาพ การติดต่อ และด้วยยากของกระบวนการทำ สต๊อปโมชัยจึงเป็นเรื่องท้าทายที่เขาอยากลอง จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนอีก 2-3 คน จัดทำหนังสต๊อปโมชันเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจนได้รับรางวัลมาจากหลายเวที
"เรื่องคอมพิวเตอร์ ผมแค่ชอบ แต่ผมไม่มีทักษะอะไรเลย เหมือนมาเริ่มใหม่หมด แต่พอทำได้มันก็สนุกกลายเป็นความท้าทายให้เราอยากทำให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ ตัวผมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2555 ตอนนั้นอยู่ที่สถานพินิจราชบุรี วันๆ หนึ่งไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ให้เรียนหนังสือก็ทุกคนเรียนไปแบบซังกะตาย ตอนหลังผมได้ย้ายมาที่บ้านกาญจนาฯ เห็นมีโครงการไอทีผมเลยลองสมัครดู แล้วก็กลายเป็นว่าผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมากทั้งออกแบบโลโก้ ทำเว็บไซต์ สต๊อปโมชัน ซึ่งตอนนี้ผมพ้นโทษแล้วแต่ทักษะก็ยังติดตัวอยู่ เลยเข้าใจว่าความรู้ที่ได้ติดตัวมามันมีค่าแค่ไหน แล้วตอนนี้ผมก็มีงานทำก็เพราะทักษะทางคอมพิวเตอร์ที่ได้มา ผมซาบซิ้งในพระกรุณาธิคุณและต้องขอบคุณคุณครูทุกคนที่ให้ความรู้ด้วย" ศักดากล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ในส่วนของ นาย ชลณธาร กลางเหลือง อายุ 23 ปี เยาวชนศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญนาภิเษก เผยว่า ตอนแรกเมื่อรู้ว่าที่ศูนย์ฝึกฯ มาฝึกสอนไอทีให้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร และไม่ได้สมัครเพราะการจะเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหรือไม่นั้น ไม่มีใครบังคับขึ้นกับความสมัครใจ แต่เมื่อเห็นรุ่นพี่เริ่มทำ เห็นวิธีการแปลกใหม่ทีทุ่มเททำกันข้ามวันข้ามคืน จึงรู้สึกสนุกและอยากลองบ้าง จนรุ่นพี่ได้รับรางวัลกลับมาจึงสมัครเข้าร่วมโครงการทันที
มากไปกว่านั้น ชลณธารยังบอกด้วยว่าโครงการไอทีฯ ให้อะไรกับเขามากกว่าการสอนคอมพิวเตอร์ เพราะก่อนหน้านี้เป็นคนขี้อาย ชอบเก็บตัวแต่เมื่อต้องมาเข้าโครงการทให้ใกล้ชิดกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น ได้รู้จักความเสียสละ และรู้จักการเป็นผู้นำ เพราะการทำสต๊อปโมชันมีหลายขั้นตอนและจะทำสำเร็จไม่ได้เลยถ้าขาดทีมเวิร์คที่ดี โครงการนี้นอกจากจะมอบทักษะชีวิตให้กับเขาแล้ว ยังเป็นการฝึกความเป็นผู้ใหญ๋ให้กับเขาด้วย
"ตอนแรกไม่ได้คิดจะมาเข้าโครงการเลย แต่พอเห็นพี่เค้าทำได้รางวัลเลยอยากได้บ้าง ส่วนตัวผมชอบทำอะไรปั้นๆ อยู่แล้ว จึงรับหน้าที่การปั้นหุ่นสต๊อปโมชั่น มันไม่ยากครับ แต่มันต้องเอาใจใส่มากๆ เพราะแต่ละช๊อตในวิดิโอที่เห็นเกิดจากการถ่ายภาพทีละภาพมาเรียงต่อกัน ตอนก่อนประกวดจำได้ว่าแทบไม่ได้นอน ทุกคนในทีมช่วยกันแบบหามรุ่งหามค่ำอยากให้งานเสร็จ ซึ่งมันฝึกอะไรให้กับผมเยอะมาก ซึ่งตอนนี้ผมวางแผนไว้แล้วว่าผมจะออกไปเรียนต่อด้านวิศวคอมพิวเตอร์ ผมเริ่มเห็นอนาคตในตัวเอง เพราะหลายๆ สิ่งจากโครงการและบ้านกาญจนาได้เปลี่ยนชีวิตผมใหม่" ชลณธาร เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการฯและพ้นโทษแล้วเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
*******************************