xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งศตวรรษของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Einstein
ในปี 1905 Albert Einstein วัย 26 ปี ได้นำเสนอบทความวิจัย 3 เรื่องหลักซึ่งทำให้วงการฟิสิกส์งุนงง นั่นคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ทฤษฎีการเคลื่อนที่แบบบราวน์ของอนุภาค และทฤษฎีสมบัติอนุภาคของแสง โดยในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษนั้น Einstein ได้ปรับเปลี่ยนทฤษฎีกลศาสตร์ของ Galileo และ Newton เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้กับทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของ Maxwell จนได้พบว่าเอกภพต้องมี 4 มิติคือ 3 มิติของระยะทางและ 1 มิติของเวลา เพื่อให้สามารถอธิบายปรากฎการณ์ด้านกายภาพได้อย่างสมบูรณ์

อีกสองปีต่อมา เขาก็เริ่มขยายขอบเขตของทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษให้สามารถอธิบายปรากฏการณ์แรงโน้มถ่วงได้ด้วย เพราะได้พบว่า แรงโน้มถ่วงของ Newton มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเคลื่อนที่ๆ มีความเร่ง เช่น ได้พบว่าเวลาคนที่กำลังตกเสรีในสนามโน้มถ่วงของโลก จะรู้สึกเสมือนว่า ตัวไม่มีน้ำหนักเลย

หลังจากที่ได้ตระหนักในข้อสังเกตนี้ Einstein ก็เริ่มปรับเปลี่ยนทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษที่ใช้ได้กับการเคลื่อนที่ที่มีความเร็วสม่ำเสมอให้เป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่ใช้ได้กับการเคลื่อนที่ที่มีความเร่ง โดยใช้เรขาคณิตของ Bernhard Riemann และ Carl Gauss เป็นพื้นฐาน และพบว่ารูปทรงของอวกาศ-เวลา ในบริเวณโดยรอบมวลขึ้นกับมวลนั้น จึงได้ตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ในปี 1916

นักประวัติศาสตร์ฟิสิกส์ในเวลาต่อมาได้พบว่า ถ้า Einstein ไม่พบทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษในปี 1905 ในเวลาต่อมาอีกไม่นานนักฟิสิกส์คนอื่นๆ เช่น H. Lorentz และ H. Poincare ก็จะสามารถสร้างทฤษฎีนี้ได้ ครั้นเมื่อ H. Minkowski ได้เห็นคณิตศาสตร์ที่ Einstein ใช้ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ เขาได้ปรับเสริมให้เห็นว่า เอกภพของ Einstein นั้นจริงๆ มี 4 มิติของอวกาศกับเวลา ด้าน Smoluchowski ซึ่งกำลังศึกษาปรากฏการณ์การเคลื่อนที่แบบบราวน์ของอนุภาคในของเหลวในเวลาไล่เรี่ยกับ Einstein ก็ได้เสนอผลงานที่ทำให้ทฤษฎีฟิสิกส์เชิงสถิติของ Einstein มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สำหรับทฤษฎี photon ของแสง นั้น M. Planck ได้เคยเสนอแนวคิดทำนองเดียวกันว่ารังสีประกอบด้วยอนุภาค เพื่ออธิบายสมบัติการแผ่รังสีของวัตถุร้อน ก่อนที่ Einstein จะแถลงว่าแสงแสดงสมบัติเป็นอนุภาคถึง 5 ปี

จากลำดับเหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ เราจึงเห็นได้ว่า ในกรณีของทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ โลกมีนักฟิสิกส์อีกหลายคนที่มีความสามารถเกือบจะทำได้สำเร็จก่อน Einstein (ถ้าให้เวลาพอ)

แต่สำหรับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป นี่คือผลงานของ Einstein คนเดียวล้วนๆ ที่ Einstein ได้สร้างขึ้นมาโดยไม่มีผลการทดลองใดชี้นำ เพราะ Einstein ได้พบด้วยตนเองว่า ทฤษฎีกลศาสตร์ของ Newton ที่นักฟิสิกส์ใช้มานานกว่าสองศตวรรษนั้นกำลังขัดแย้งกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษมาก เช่นทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษกำหนดให้สัญญาณที่จะส่งไปกระทำต่อวัตถุต้องมีความเร็วน้อยกว่าความเร็วแสง แต่ในทฤษฎีกลศาสตร์ของ Newton ความเร็วของแรงโน้มถ่วงที่วัตถุหนึ่งส่งไปกระทำกับอีกวัตถุหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปมีค่ามากถึงอนันต์ นั่นคือเหตุการณ์ดึงดูดระหว่างวัตถุสองก้อนจะเกิดขึ้นในทันทีทันใด โดยไม่ต้องใช้เวลาเลย

นอกจากประเด็นนี้แล้วทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Newton ก็ยังแถลงอีกว่า วัตถุไม่ว่าจะหนักหรือเบา ไม่ว่าจะเป็นชนิดใด (เหล็กหรือทองแดง) จะตกด้วยความเร่งที่มีค่าเท่ากันเสมอ จึงสามารถสรุปได้ว่า มวลของวัตถุคือตัววัดความเฉื่อยที่พยายามต่อต้านการเคลื่อนที่ของวัตถุนั้นเวลาวัตถุนั้นถูกแรงกระทำ กับมวลที่เป็นตัวกำหนดน้ำหนักของวัตถุมีค่าเท่ากัน (ภาษาวิชาการของถ้อยแถลงนี่คือ inertial mass มีค่าเท่ากับ gravitational mass) ซึ่งความเท่ากันพอดิบพอดีนี้ Newton มิได้ชี้แจงหรือมีทฤษฎีใดๆ มาสนับสนุน

เมื่อพบความขัดแย้งและ Einstein ไม่ประจักษ์ว่า Newton ได้อธิบายที่มาของแรงโน้มถ่วงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และตนคิดว่า ความเร่งคือสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงโน้มถ่วง Einstein จึงเริ่มสร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปทันที โดยใช้เทคนิคคณิตศาสตร์วิชา Differential Calculus ของ E. Christoffel, M. Ricci และ T. Levi-Civita

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1915 Einstein ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงสมาคม Berlin Academy ในเยอรมนี โดยได้กล่าวถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของตนว่า นี่เป็นทฤษฎีของแรงโน้มถ่วงที่เป็นไปตามหลักการของทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษทุกประการ

ปฏิกิริยาตอบสนองของ H. Weyl กับ A. Eddington ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกในเวลานั้น หลังจากที่ได้อ่านผลงานของ Einstein คือ เหลือเชื่อที่ลำพังสมองของมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถพบความจริงในธรรมชาติได้ โดยใช้เพียงคณิตศาสตร์และจินตนาการเท่านั้น เมื่อไม่มีการทดลองใดๆ มาสนับสนุนคำทำนายของทฤษฎี แม้ทฤษฎีจะดู “สวย” แต่ถ้านักทดลองไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าถูกหรือผิด ทฤษฎีก็ยังไม่มีประโยชน์ นักวิทยาศาสตร์สองท่านนี้จึงมีความเห็นว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein สวยแต่รูป แต่จูบไม่หอม

ส่วน E. Rutherford และ J.J. Thomson ซึ่งเป็นผู้พบนิวเคลียสของอะตอมและพบอิเล็กตรอนตามลำดับ ก็สารภาพว่าอ่านผลงานนี้ไม่รู้เรื่อง ด้าน A. Whitehead, G. Birkhoff และ F. Hoyle ก็กล่าวว่าไม่เห็นคุณค่าใดๆ ของงานที่ Einstein นำเสนอ

โดยเฉพาะ Whitehead ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษนั้น คิดว่าแนวคิดเรื่อง Riemann manifold ที่ Einstein ใช้ไม่เหมาะสม จึงเสนอทฤษฎีใหม่ แต่คำทำนายของทฤษฎีที่ Whitehead นำเสนอขัดแย้งกับผลการทดลองในเวลาต่อมา ดังนั้น ทฤษฎีและชื่อเสียงของ Whitehead จึงตกไป
ภาพสุริยุปราคาเต็มดวงที่ Eddington บันทึกไว้
ในภาพรวมเราจึงเห็นได้ว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ในเบื้องต้นมิได้รับการต้อนรับที่ดีจากคนในวงการฟิสิกส์เลย สาเหตุสำคัญคือ ไม่มีผลการทดลองใดๆ ที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ นอกจากนี้คำทำนายต่างๆ ของทฤษฎีนี้ก็แตกต่างจากคำทำนายของ Newton เพียงน้อยนิด แต่เทคนิคการคำนวณยุ่งและยากกว่ามาก (นักเรียนมัธยมปลายสามารถใช้ทฤษฎี Newton ได้ แต่ทฤษฎี Einstein นั้นดุษฎีบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ก็ใช้ไม่เป็น (ถ้าไมได้เรียน)) ด้วยเหตุนี้ในช่วงปี 1925-1950 จึงไม่มีมหาวิทยาลัยใดในโลกสอนวิชานี้ เช่นในช่วงปี 1936-1961 ที่มหาวิทยาลัย Chicago ในสหรัฐอเมริกาไม่มีอาจารย์ท่านใดสอนวิชาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

แต่การที่โลกประกาศยกย่องเทอดทูน Einstein ตั้งแต่ปี 1919 นั้นก็เพราะ Eddington ได้ทดลองพบว่า ทฤษฎีของ Einstein ถูกต้อง ในขณะที่ทฤษฎีของ Newton ผิดพลาด (เล็กน้อย) หลังจากที่เขาได้เดินทางไปสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่ West Africa และเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ทุกคนชอบคือ ทฤษฎีของนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันได้รับการตรวจสอบยืนยันโดยนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ทั้งๆ ที่ทั้งสองชาติเป็นศัตรูกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อความขัดแย้งได้กลายเป็นความปรองดองอย่างไม่คาดฝันเช่นนี้ การทดลองของ Eddington ในครั้งนั้นจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฟิสิกส์

ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ได้ทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ ไว้หลายเรื่อง เช่น วงโคจรของดาวพุธที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จะไม่ซ้ำรอยเดิม คือวงโคจรจะไม่ปิดแต่จะค่อยๆ เบี่ยงไปทีละน้อย หรือเวลาแสงพุ่งออกจากดาวที่มีมวลมหาศาล ขณะแสงเคลื่อนที่ออกไปในอวกาศ ความยาวคลื่นของแสงนั้นจะเพิ่ม นั่นคือ จะมีสีแดงขึ้นๆ (คือ red-shifted) และคำทำนายสุดท้าย คือ มวลที่มากมหาศาลของดวงอาทิตย์สามารถบิดอวกาศในบริเวณใกล้ตัวมัน ทำให้แสงที่เคลื่อนที่ผ่านใกล้ขอบของดวงอาทิตย์เบี่ยงเบนทิศทาง (คือไม่เดินเป็นเส้นตรงอีกต่อไป) ดังนั้นเวลาแสงเดินทางถึงโลก คนบนโลกจะเห็นดาวฤกษ์ที่ให้กำเนิดแสงนั้นอยู่อีก ณ ตำแหน่งหนึ่ง ที่ไม่ใช้ตำแหน่งจริงของมัน

เพราะคำทำนายในประเด็นหลังนี้ “ง่าย” ที่สุดที่จะตรวจสอบ ดังนั้นทาง Royal Society ของอังกฤษจึงพิจารณาที่จะล้มหรือยืนยันคำทำนายนี้ โดยให้นักดาราศาสตร์ชื่อดังคือ Arthur Eddington เป็นผู้ดำเนินการ และพบว่า ในปี 1917 ที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังดำเนินอยู่นั้น Eddington วัย 34 ปี ได้รับหมายเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร แต่ Eddington เป็นพวก Quaker ที่มีความเชื่อว่า สงครามฆ่าฟันเป็นเรื่องของการทำบาป ซึ่งคนที่เป็น Quaker จะต้องไม่เป็นทหารฆ่าคน Eddington จึงออกตัวขออนุญาตผ่อนผันไม่เป็นทหารในสงคราม แต่การเลี่ยงทหารเช่นนี้สังคมถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย เพราะแสดงความไม่รักชาติ มหาวิทยาลัย Cambridge ที่ Eddington เป็นอาจารย์ในสังกัดก็ไม่ยินดีที่จะมีอาจารย์หนีทหาร จึงได้พยายามแจ้งกระทรวงกลาโหมว่า Eddington เป็นนักฟิสิกส์อัจฉริยะที่ไม่ควรเดินทางไปเสี่ยงชีวิตในสงครามโลก เหมือนดังที่ Henry Moseley ผู้ปฏิวัติความรู้เรื่องเลขเชิงอะตอม (atomic number) ได้ถูกสังหารที่ Gallipoli ในตุรกี ซึ่งถ้า Moseley ไม่เสียชีวิต เขาก็จะได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมาอย่างแน่นอน และนั่นคือการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ถ้าให้ Eddington เป็นทหาร

แต่กระทรวงกลาโหมไม่ยินยอม ดังนั้น Eddington จึงอาสาจะเป็นทหารในตำแหน่งพนักงานครัว

ในช่วงเวลานั้น Sir Frank Dyson ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนักของอังกฤษได้เข้ามาแทรกแซงความขัดแย้ง โดยได้ติดต่อกับทางกองทัพว่าทาง Royal Society จะขออนุญาตส่ง Eddington เดินทางไปตรวจสอบทฤษฎีของ Einstein ในปี 1919 เพราะได้พบว่า ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1919 จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งจะเห็นได้ชัดที่เมือง Sobral ในบราซิลกับที่ Isle of Principe ใน West Africa และเพื่อให้การทดลองนี้เป็นผลสำเร็จ Royal Society กับ Royal Astronomical Society จะต้องตระเตรียมอุปกรณ์และคน และได้กำหนดให้ทีมนักฟิสิกส์ที่จะไป Brazil ประกอบด้วย A.C.D. Crommrlint กับ C. Davidson ส่วนทีมที่จะไป West Africa มี A. Eddington กับ E.T. Cottingham เป็นหัวหน้า Eddington จึงไม่ต้องออกสงคราม แต่ต้องช่วยชาติโดยการทำงานวิทยาศาสตร์แทน

หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติในปี 1918 เมื่อถึงในเดือนกุมภาพันธ์ของปีต่อมา Eddington กับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ก็ออกเดินทางจากอังกฤษ สำหรับกลุ่มที่ไป Brazil ในวันที่เกิดสุริยุปราคา สภาพอากาศดีมาก ดังนั้นการสังเกตจึงทำได้ง่าย แต่สำหรับกลุ่มที่ไป West Africa วันที่เกิดสุริยุปราคา มีฝนตก และเมฆหนา Eddington ได้ถ่ายภาพของกระจุกดาวฤกษ์ชื่อ Hyades ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 150 ปีแสง ขณะที่ดวงอาทิตย์บดบัง และหลังจากที่เคลื่อนผ่านไปแล้ว เพื่อวัดมุมเบี่ยงเบนของรังสีแสง

ในการเปรียบเทียบภาพทั้งสองกรณี ถ้าทฤษฎีของ Einstein ถูกต้อง ตำแหน่งของดาวต่างๆ ในกระจุกดาว Hyades จะเลื่อนไปประมาณ 1/2000 องศา ในขณะที่ทฤษฎี Newton ทำนายว่าปริมาณการเลื่อนมีค่าประมาณ 1/4000 องศา
Eddington
ถ้าผลการทดลองแสดงว่า รังสีแสงไม่เบี่ยงเบนเลย นั่นแสดงว่า แรงโน้มถ่วงไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อการเคลื่อนที่ของแสง แต่ถ้าเบี่ยงจริง ผลที่ได้จะเป็นตัวตัดสินว่า ทฤษฎีของ Einstein หรือของ Newton ถูกต้อง

ส่วนตัวของ Sir Frank Dyson นั้น ท่านคิดว่า ถ้าแสงเบี่ยงยิ่งมาก เรื่องทุกอย่างก็จะยิ่งดี และถ้าเบี่ยงตรงตามทฤษฎีของ Newton ตัว Eddington คงคลั่ง และปล่อยให้ Cottingham กลับอังกฤษโดยจะไม่ร่วมทางมาด้วย

สามวันหลังจากที่เกิดสุริยุปราคา ผลการวัดทุกอย่างยืนยันว่า ทฤษฎีของ Einstein ถูก และทฤษฎีของ Newton ไม่สมบูรณ์ (เหตุการณ์ที่ Eddington เชียร์ Einstein อย่างออกหน้าออกตานี้ทำให้คนหลายคนสงสัยว่า Eddington คงจงใจบิดเบือนตัวเลข แต่ในการทดลองอีก 60 ปีต่อมา ผลที่ได้ก็ยังยืนยันเหมือนเดิม)

ในวันที่ 22 กันยายน H. A. Lorentz (Lorentz รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1902) ได้ส่งโทรเลขแสดงความยินดีถึง Einstein ซึ่งได้นำเอกสารนั้นไปให้มารดาที่กำลังป่วยในโรงพยาบาลที่ Switzerland อ่าน ด้าน Rosenthal-Schneider ซึ่งเป็นนิสิตฟิสิกส์ได้เอ่ยถาม Einstein ว่า ถ้าการทดลองของ Eddington ครั้งนั้นขัดแย้งกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป Einstein จะรู้สึกเช่นไร Einstein ได้ตอบว่า พระเจ้าคงเสียพระทัยที่ไม่ได้บรรดาลให้เหตุการณ์เกิดขึ้นตรงตามทฤษฎี เพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปมีความเป็นตรรกะอย่างสมบูรณ์

เหตุการณ์ที่ตามมา คือ หนังสือพิมพ์ The Times ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1919 พาดข่าวหน้าหนึ่งว่า Revolution in Science: Newtonian Ideas Overthrown โดยมีเนื้อข่าวเสริมว่า ในการประชุมของ Royal Society ที่ London เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ทฤษฎีของ Newton ที่โลกได้ใช้มานานกว่าสองศตวรรษได้ถูกปรับปรุงเป็นครั้งแรก โดย Einstein

การประชุมครั้งนั้นได้ทำให้โลกมีตำนานเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องที่ว่าในโลกมีคนเพียง 3 คนเท่านั้นที่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และ Eddington ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ถูกพาดพิงก็ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เกิดขึ้นเมื่อ J.J Thomson (ผู้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1906) ได้แถลงสรุปผลการประชุมในวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอสารภาพว่า ข้าพเจ้ายังไม่สามารถบอกเป็นภาษาง่ายๆ ได้ว่า ทฤษฎีของ Einstein นั้นมีใจความเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง หลังจากที่ทุกคนลุกออกจากที่ประชุม Ludwig Silberstein ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ได้เอ่ยถาม Eddington ว่า ท่านคงจะเป็นหนึ่งในสามคนที่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปใช่หรือไม่

ในขณะที่ Eddington กำลังรู้สึกเขินนั้น Silberstein จึงกล่าวต่อว่า ท่านคงไม่ต้องถ่อมตัวครับ Eddington จึงตอบว่า ผมกำลังคิดถึงว่า ใครคือคนที่สามที่ท่านพูดถึง

ในความเป็นจริง นักประวัติศาสตร์ฟิสิกส์ ณ วันนี้มีความเห็นว่าการที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเป็นเรื่องเข้าใจยากแม้สำหรับนักฟิสิกส์ เพราะ Einstein ใช้คณิตศาสตร์ที่นักฟิสิกส์ยุคนั้นไม่คุ้นเคย (ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมก็ใช้คณิตศาสตร์ที่ผู้คนไม่คุ้นเคยเช่นกัน)

ปัจจุบันนี้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein เป็นเสาหลักหนึ่งในสองเสาของฟิสิกส์ปัจจุบัน (ทฤษฎีควอนตัมเป็นอีกหนึ่งเสา) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่าแรงโน้มถ่วงนั้นเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ซึ่งมีมวลมหาศาลบิด โค้ง อวกาศในบริเวณรอบตัวมัน การยืด หด โค้งบิดงออวกาศจนเป็นร่อง เป็นหุบเหวนี้ทำให้วัตถุต่างๆ ที่เคลื่อนที่ผ่านเข้าใกล้ จะไถลลงไปตามร่อง แล้ววนไปโดยรอบ หรือพุ่งเข้าชนมวลจึงดูเสมือนว่าถูกมวลนั้นดึงดูด

ดังนั้นในมุมมองของ Einstein ธรรมชาติไม่มีแรงโน้มถ่วง แต่สิ่งที่มีคือ การบิดโค้งของอวกาศ-เวลาในบริเวณรอบมวล นั่นคือ เรขาคณิตใน 4 มิติของบริเวณรอบดวงอาทิตย์เป็นตัวกำหนดวิถีโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ รอบตัวมัน

นอกจากจะสามารถอธิบายการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ได้แล้ว ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปยังสามารถอธิบายประวัติความเป็นมา และอนาคตของเอกภพ รวมถึงหลุมดำ การขยายตัวของเอกภพ การเดินทางย้อนเวลา การมีสสารมืด ฯลฯ ก็ได้ด้วย

งานต่อยอดขั้นต่อไป คือ การสร้างทฤษฎี Quantum Gravity

อ่านเพิ่มเติมจาก The State of the Universe โดย Pedro G. Ferreira จัดพิมพ์โดย Phoenix ปี 2010





เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์









กำลังโหลดความคิดเห็น