การได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้หล่อหลอมพระบุคลิกภาพให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงก้าวขึ้นเป็นพระราชินีที่เข้มแข็ง มีพระปรีชาญาณและความกล้าหาญที่แข็งแกร่งยิ่งกว่ากษัตริย์ชายหลายพระองค์ จนสามารถทำให้อังกฤษซึ่งมีอริราชศัตรูทุกสารทิศ ได้ก้าวพ้นอุปสรรคสู่ความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกได้อย่างน่าประทับใจ
เจ้าหญิง Elizabeth Tudor ทรงประสูติเมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1533 (ตรงกับรัชสมัยพระไชยราชา) ในสมัยอยุธยาที่ปราสาท Greenwich ในอังกฤษ ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้า Henry ที่ 8 กับพระนาง Anne Boleyn ซึ่งเป็นพระมเหสีองค์ที่สอง เจ้าหญิงทรงมีลูกพี่ต่างมารดาชื่อ Mary Tudor ซึ่งเป็นพระธิดาในมเหสีองค์แรกชื่อ Catherine of Aragon กับพระเจ้า Henry ที่ 8 ในขณะที่เจ้าหญิง Mary ทรงได้รับการเลี้ยงดูให้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิก แต่เจ้าหญิง Elizabeth ทรงถูกปลูกฝังให้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนท์
ในช่วงเวลาที่พระบิดาทรงครองราชย์ เจ้าหญิง Elizabeth เสด็จไปประทับอยู่ในชนบทอย่างเงียบๆ เพื่อทรงศึกษา และทรงกังวลพระทัยมาก เพราะพระมารดาทรงถูกประหารชีวิตด้วยข้อกล่าวหาจากพระบิดาว่า ทรงมีชู้ เจ้าหญิงจึงกำพร้าพระมารดาตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา
พระราชบิดาไม่ทรงประสงค์ให้เจ้าหญิงทรงสืบทอดราชบัลลังก์ แต่ทรงประสงค์ให้เจ้าหญิง Mary Tudor ซึ่งเป็นพระธิดาองค์โตเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระราชินี Mary ที่ 1 ดังนั้นเจ้าหญิง Elizabeth จึงถูกนำไปกักขังใน Tower of London เพราะพระราชินี Mary ทรงหวั่นเกรงว่าเจ้าหญิง Elizabeth จะพยายามแย่งชิงราชบัลลังก์ ดังนั้นเจ้าหญิงจึงทรงกังวลมากว่า อาจจะต้องสิ้นพระชนม์ในลักษณะเดียวกับพระมารดา
เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1558 ขณะพระราชินี Mary ทรงประหารชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ประมาณ 300 คนโดยการเผาทั้งเป็น เจ้าหญิง Elizabeth ได้เสด็จไปประทับที่ปราสาท Hatfield เพื่อทรงพระอักษรต่อ และทรงอ่านวรรณกรรมของ Demosthemes โดยมีพระอาจารย์ชื่อ Roger Ascham เป็นผู้สอนจนสามารถสนทนาภาษาละติน กรีก และ Hebrew ได้คล่องแคล่ว
ขณะประทับที่ Hatfield เจ้าหญิง Elizabeth ได้ทรงทราบข่าวว่า พระนาง Mary ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยการประหารชีวิต และเจ้าหญิงได้ขึ้นครองราชย์แทนเป็นสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1558 ท่ามกลางเสียงทักท้วงจากคนบางกลุ่มที่แย้งว่า เจ้าหญิง Elizabeth ทรงไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในราชบัลลังก์อังกฤษ เพราะพระราชพิธีมงคลสมรสระหว่างพระนาง Anne Boleyn กับพระเจ้า Henry ที่ 8 ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการคริสต์จักร เพราะสันตะปาปาแห่งโรมมิได้โปรดเกล้าพระอนุญาตให้พระเจ้า Henry ที่ 8 ทรงหย่าขาดจากพระนาง Catherine of Aragon
เมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 ทรงแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านศาสนาระหว่างชาว Catholic กับชาว Protestant อย่างสุขุม โดยทรงวางพระองค์เป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จนทำให้ประชาชนทั่วไปให้ความไว้วางใจในสถาบันกษัตริย์ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น พระนางได้ทรงออกกฎหมายกำหนดให้นิกาย Protestant สาขา Church of England เป็นศาสนาประจำชาติของอังกฤษ และทรงบังคับให้ประชาชนอังกฤษทุกคนใช้คัมภีร์ไบเบิลเล่มเดียวกัน
ตลอดเวลาที่พระนางทรงครองราชย์จนสวรรคต พระนางไม่ได้ทรงอภิเษกสมรสกับชายใด จึงทรงเป็นพระราชินีโสด พระนางทรงเป็นที่เคารพยกย่องของคนทั้งในและนอกประเทศอังกฤษ ทรงนำอังกฤษสู่ความรุ่งเรืองในหลายด้าน ทั้งด้านสำรวจดินแดนใหม่ๆ การค้นพบต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ และการมีนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั้งโลก เพราะในยุค Elizabeth ที่ 1 นี้โลกรู้จักนักสำรวจอังกฤษชื่อ Francis Drake และ Walter Raleigh, นักปรัชญาอังกฤษชื่อ Spenser, นักวิทยาศาสตร์อังกฤษชื่อ William Gilbert และนักประพันธ์อังกฤษชื่อ Shakepeare
ก่อนที่พระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 จะเสด็จขึ้นครองราชย์ คนอังกฤษทั้งประเทศยังอยู่ในสภาพยากจน คนฉลาดที่มีความสามารถมีน้อย ผู้คนมักขาดวินัยและไม่เคารพกฎหมาย ส่วนศาลขาดความยุติธรรม และสินค้าเครื่องใช้ทุกชนิดมีราคาแพง อีกทั้งสังคมมีความขัดแย้งค่อนข้างสูง เมื่อเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส และอังกฤษมีแนวโน้มจะเพลี่ยงพล้ำ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสได้เขียนภาพการ์ตูนแสดงกษัตริย์ฝรั่งเศสประทับยืนโดยมีพระบาทข้างหนึ่งอยู่ที่ Calais ในฝรั่งเศสและอีกพระบาทหนึ่งอยู่ที่ Scotland ในอังกฤษ ดังนั้น ในเวลานั้นอังกฤษจึงโดดเดี่ยว เพราะไม่มีมิตรเลย แต่มีศัตรูมากมาย
ถึงปี 1581 ซึ่งเป็นเวลา 31 ปีที่ยุค Elizabeth ที่ 1 ได้ผ่านไป ธงชาติของอังกฤษกลับได้ไปสะบัดโบกที่ทะเลสาบ Caspian อังกฤษมีการติดต่อทางการทูตกับจักรพรรดิแห่ง Persia มีสถานกงสุลประจำที่เมือง Tripolis ใน Syria และที่ Aleppo, Babylon กับ Balsara เรือสำรวจอังกฤษได้เดินทางผ่านช่องแคบ Magellan หลายครั้ง นักสำรวจอังกฤษได้ขึ้นสำรวจฝั่งทะเลของ Chile, Peru และเกาะ Java ในอินโดนีเซียและได้ขนสินค้าในประเทศเหล่านั้นกลับอังกฤษอย่างไม่ขาดระยะด้วย
ความแตกต่างทั้งหมดที่ปรากฏ จากเดิมที่เคยมีสภาพตกต่ำจนกระทั่งถึงยุคใหม่ที่รุ่งเรือง เพราะพระบารมีและพระปรีชาญาณในพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 ซึ่งทรงทำให้อังกฤษเป็นประเทศมหาอำนาจครองโลก และเป็นเจ้าสมุทรซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่กองทัพเรืออังกฤษได้ทำลายแสนยานุภาพทางเรือของสเปนอย่างยับเยิน
แล้วอังกฤษก็ได้เป็นมหาอำนาจที่มีอาณานิคมในทุกหนแห่ง จนมีคำกล่าวว่า ในจักรภพอังกฤษ พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพราะพระนางได้ทรงจัดการส่งนักสำรวจออกค้นหาอาณานิคมใหม่ๆ ตามเส้นทาง Northwest Passage จากมหาสมุทรแอตแลนติกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงส่งนักผจญภัยไปสำรวจทวีป Arctic ด้วย ส่วนพระนางกลับเป็นกษัตริย์ที่เสด็จทางไกลน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เพราะไม่เคยออกนอกเกาะอังกฤษแม้แต่ครั้งเดียว และแม้แต่จะเสด็จไป Scotland หรือ Wales ก็ไม่เคย
พระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1603 สิริพระชนมายุ 76 พรรษา
ในช่วงเวลาที่พระนางครองราชย์นั้น อังกฤษมีช่างภาพ ศิลปิน และจิตรกรประจำราชสำนักหลายคนที่ได้พยายามวาดภาพเหมือนของพระนาง แต่พระนางทรงโปรดให้ทำลายภาพเหล่านั้นไปจนสิ้น ด้วยเหตุผลว่า “ภาพที่วาดไม่สวยเหมือนพระองค์จริง” เช่น พระเกศาไม่เป็นสีแดงเพลิงเหมือนจริง และพระพักตร์ไม่ขาวซีดเหมือนจริง นอกจากนี้ภาพพระพักตร์จะต้องไม่มีริ้วรอยคล้ำใดๆ ปรากฎ
ในปี 1590 พระนางได้ทรงประทับยืนให้ศิลปิน George Gower วาดภาพชื่อ “Armada Portrait of Elizabeth 1” โดยให้เบื้องพระปฤษฎางค์เป็นสงครามในทะเลระหว่างอังกฤษกับสเปน ในเวลานั้นพระนางทรงมีพระชนมายุ 56 พรรษาแล้ว ในภาพเราจะเห็นว่าแม้ขณะประทับในพระราชวัง พระนางก็จะทรงสวมพระเกศาปลอม พระพักตร์ทรงมีเมคอัพสีขาว และจิตรกร Gower ได้ถูกบังคับให้วาดภาพพระนางในวัยเยาว์ และต้องมีพระสิริโฉมที่งดงาม เพราะพระนางทรงประสงค์ให้ภาพสามารถจูงใจชายหลายคนให้มาติดพันได้ แต่พระนางก็ไม่ทรงประสงค์จะอภิเษกสมรสกับใคร
โลกมีตำนานเล่าว่า เมื่อมีพระชนมายุ 8 พรรษา เจ้าหญิง Elizabeth ได้ทรงประกาศให้ทุกคนรู้ว่า “ข้าจะไม่แต่งงาน” ทั้งนี้อาจจะเพราะพระมารดา และพระมารดาเลี้ยงต่างก็ทรงถูกพระบิดา (พระเจ้า Henry ที่ 8) ประหารชีวิต ความกลัวที่จะต้องเผชิญเหตุการณ์นี้บ้างอาจทำให้เจ้าหญิง Elizabeth ทรงไม่ยินยอมจะเข้าพิธีสมรสกับชายใด และเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ พระนางทรงกระหายจะมีพระราชอำนาจมาก จนไม่อาจทนให้ใครมาร่วมมีอำนาจด้วย
ในเมื่อพระนางทรงระมัดระวังในภาพลักษณ์มาก ดังนั้น จิตรกร Gower จึงต้องมองข้ามความเป็นจริงหรือจุดบกพร่องต่างๆ ในพระสรีระของพระนาง ภาพเรือรบที่ปรากฎในฉากหลัง 2 ภาพ (ทั้งซ้ายและขวา) เป็นภาพวาดของเหตุการณ์ที่มิได้เกิด ณ สถานที่เดียวกัน หรือ ณ เวลาเดียวกัน ภาพแรกแสดงการปรากฏตัวของกองทัพเรือสเปน ในขณะที่ภาพที่สองแสดงความปราชัยของกองทัพเรือสเปน เมื่อถูกกองทัพอังกฤษทำลาย ขณะอยู่นอกฝั่งอังกฤษในอีกสองสัปดาห์ต่อมา การพิชิตกองทัพเรือสเปนอย่างราบคาบในปี 1588 นี้เองที่ทำให้ยุคทองของ Elizabeth ที่ 1 อุบัติติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 40 ปี
ณ วันนี้ภาพวาดขนาด 105x133 เซนติเมตรอยู่ที่ Woburn Abbey แคว้น Bedfordshire ของอังกฤษ ในภาพเราจะเห็นพระหัตถ์ซ้ายของพระนางทรงถือพระวิชนีที่ทำจากขนนกกระจอกเทศ ในขณะที่พระหัตถ์ขวาทรงวางแตะลูกโลกซึ่งแสดงแผนที่ที่ไม่ตรงความจริง แต่ในที่นี้ Gower มิได้ให้ความสำคัญของแผนที่ เขาต้องการให้ภาพแสดงการเป็นจักรพรรดินีของพระนางมากกว่า
ปี 1558 ที่ Elizabeth ที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ ประเทศที่เป็นมหาอำนาจของโลกในเวลานั้นคือ สเปนและโปรตุเกส ลุถึงปี 1580 เมื่อกษัตริย์ Philip ที่ 2 แห่งสเปนทรงขึ้นครองโปรตุเกส พระองค์ทรงประกาศว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ที่มีการพบใหม่ดินแดนนั้นจะเป็นของสเปน
สมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 ทรงไม่เห็นด้วยกับการอ้างนี้ จึงทรงโปรดให้นายทหารชื่อ Francis Drake ผู้เคยเดินทางรอบโลกมาแล้ว และเป็นโจรสลัดชื่อดังไปบุกโจมตี และปล้นเรือสินค้าสเปนในมหาสมุทรทั้งแอตแลนติกและแปซิฟิก รวมถึงตามบรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของสเปน เพื่อนำทองคำมาถวายพระนาง และใช้ปลดหนี้ของอังกฤษ ครั้นเมื่อพระนางทรงจ่ายหนี้งวดสุดท้ายครบ คนอังกฤษทั้งประเทศจึงได้สดุดียกย่องพระนางว่าเป็นพระผู้ช่วยชาติให้รอด (Messiah) องค์ที่สอง
ดังนั้น เมื่อเรือสเปนถูกสลัดปล้นสะดมบ่อย กษัตริย์ Philip ที่ 2 ซึ่งทรงนับถือคริสต์ศาสนานิกาย Catholic ทรงไม่พอพระทัยพระนาง Elizabeth ที่ 1 ผู้ทรงนับนับถือคริสต์ศาสนานิกาย Protestant มาก พระองค์จึงทรงประกาศว่าอังกฤษคือศัตรูของสเปน การจะสู้รบในครั้งนี้จึงเป็นสงครามศาสนากลายๆ ทั้งๆ ที่พระนาง Elizabeth ที่ 1 ทรงไม่ประสงค์เช่นนั้นเลย
พระนางทรงจำได้ดีว่า การที่พระบิดา Henry ที่ 8 ทรงประกาศเลิกนับถือคริสตศาสนานิกาย Catholic เพราะพระองค์ทรงประสงค์จะหย่าจากมเหสีองค์ Catherine of Aragon ด้าน Mary Tudor ก็ทรงประกาศว่า พระนางทรงนับถือคริสตศาสนานิกาย Catholic และพระนางได้ทรงสังหารชาวโปรแตสแตนท์จำนวนมากที่ต่อต้านเธอ ครั้นถึงยุคของ Elizabeth ที่ 1 พระนางทรงเห็นความไม่ชอบมาพากลของศาสนาทั้งสองนิกายจึงทรงประกาศว่า “ศาสนาคริสต์มีพระเยซูองค์เดียวเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ ที่เหลือในคัมภีร์เป็นเรื่องไม่สำคัญ”
ในภาพเราจะเห็นกองทัพเรือ Armada ของสเปนว่ามีขนาดใหญ่มากเพราะมีเรือรบมากถึง 130 ลำ ทหาร 30,656 คน และพระ นักบวช 100 องค์ก็ได้เดินทางเข้าร่วมทัพด้วย ทั้งนี้เพราะชาวสเปนถือว่า สงครามที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้เป็นสงครามศาสนาระหว่างพวกในรีตกับพวกนอกรีต
แม่ทัพเรือสเปนจึงวางแผนนำกองทัพเรือไปเมืองท่าที่ Calais เพื่อรับทหารฝรั่งเศสขึ้นเรืออีก 40,000 คน แล้วแล่นใบในช่องแคบอังกฤษ เมื่อถึงฝั่งก็จะยกพลขึ้นบก
ด้านกองทัพเรืออังกฤษมีเรือรบขนาดเล็กกว่าหลายเท่า แต่แล่นใบได้ไม่รวดเร็วกว่าเรือสเปน แต่สามารถยิงกระสุนปืนใหญ่ได้ไกลกว่า แม่ทัพอังกฤษคิดใช้แผนการรบของนายทัพสเปนที่เคยประสบความสำเร็จเมื่อ 17 ปีก่อนนี้ในการทำสงครามที่เมือง Lepamto กับกองทัพตุรกีเมื่อปี 1571 โดยได้วางแผนจะให้ทหารแจวเรือเข้าประชิดเรือข้าศึก แล้วให้ทหารกระโดดขึ้นเรือข้าศึกเพื่อสู้ แต่การแจวเรือไปในทะเลเหนือครั้งนี้ดูไม่เหมาะสม เพราะทหารอังกฤษไม่ต้องการให้เรือสเปนเข้าใกล้ ซึ่งจะทำให้การสู้รบไม่สะดวก
แม่ทัพเรือของอังกฤษในครั้งนั้น คือ Lord Howard แห่ง Effingham และเรืออังกฤษได้ติดธง St.George ซึ่งเป็นกากบาทสีแดงที่ใบเรือ
เมื่อกองทัพสเปน บุกทัพใกล้ถึง Calais ในฝรั่งเศสสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 ทรงตระหนักดีว่า ทหารอังกฤษมิได้รับการฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญมากเท่าทหารสเปน ดังนั้นโอกาสที่อังกฤษจะประสบความพ่ายแพ้จึงมีสูงมาก และนั่นหมายความว่า อังกฤษอาจจะตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนในเวลาอีกไม่นาน ถ้าอังกฤษไม่นำแผนการรบใหม่มาต่อสู้
ในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1588 ทหารอังกฤษจึงนำแผนใหม่มาต่อสู้โดยการจุดไฟเผาเรือของตนเองหลายลำ แล้วปล่อยให้เรือที่กำลังลุกไหม้ลอยไปปะทะเรือสเปนที่ทอดสมอลอยลำอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อทหารสเปนเห็นเรือที่กำลังลุกเป็นไฟลอยลำเข้ามาใกล้ จึงรู้สึกกลัวตายจนลนลาน เพราะเกรงว่า เรือที่กำลังลุกไหม้มีดินระเบิด จึงพากันทิ้งเรือ ด้วยการกระโดดทะเล กลยุทธเผาเรือของอังกฤษครั้งนั้นได้ทำให้สเปนเสียเรือรบไป 11 ลำ ทหารสเปนเสียชีวิต 600 คน บาดเจ็บ 800 คน ส่วนอังกฤษเสียทหารไป 60 คน
การสูญเสียที่น้อยนิดนี้เกิดขึ้น เพราะเรืออังกฤษแล่นใบหนีไฟได้เร็วกว่า และทหารมีปืนใหญ่ที่สามารถยิงกระสุนได้ไกลกว่า และปัจจัยสำคัญคือกองทัพอังกฤษมี Francis Drake เป็นรองแม่ทัพ
นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว นายทัพเรือของสเปนในการรบครั้งนั้น แท้ที่จริงคือนายทหารบกที่ค่อนข้างอ่อนหัดเพราะไม่มีประสบการณ์สู้รบในทะเลเลย คือเคยรบเฉพาะแต่บนบกเท่านั้น ดังนั้นแม่ทัพสเปนจึงเมาคลื่นง่าย และสั่งการต่างๆ อย่างไม่เป็นโล้เป็นพาย และพากันขวัญเสีย จนต้องพ่ายแพ้สงครามในที่สุด ส่วนทหารเรือที่เหลือได้พยายามหนีขึ้นทางเหนือเพื่อหลบหนี โดยหวังจะแล่นเรืออ้อมอังกฤษ และไอร์แลนด์ไปอเมริกา แต่ทัพเรือสเปนขาดแคลนเสบียงอาหาร จึงจำต้องแล่นเรือเข้าใกล้ฝั่งอังกฤษเพื่อตามเก็บสะสมอาหารไปด้วย ส่วนประสบการณ์เดินเรือของกัปตันในทะเลเหนือมีน้อย เรือจึงอับปางลงอีก 39 ลำ และกองทัพมีทหารเหลืออยู่เพียง 10,000 คนที่ได้เดินทางกลับถึงสเปนอย่างปลอดภัยแล้ว ผลการรบในครั้งนั้นทำให้ทหารอังกฤษสามารถสรุปผลการพิจารณาว่า “พระเยซูเป็นชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์”
ทันทีที่กองทัพเรือสเปนพ่ายแพ้ สมเด็จพระนาง Elizabeth ที่ 1 ทรงประกาศคืนเรือรบทุกลำที่กองทัพได้ยืมมาจากบรรดาพ่อค้าพานิช และโจรสลัด หลังจากนั้นพระนางทรงโปรดให้ทหารเรือหยุดพักผ่อนเพื่อเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว เพราะพระนางทรงขาดแคลนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่จะจ้างคนเหล่านี้อีกต่อไป
หลังสงครามครั้งนั้นมีคนอังกฤษเป็นจำนวนมากที่เสียชีวิต มิใช่เพราะสาเหตุสงคราม แต่เพราะอังกฤษกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ผู้คนยากจน และโรคภัยไข้เจ็บระบาด
ในภาพเราจะเห็นพระราชินีอังกฤษ Elizabeth ที่ 1 ในฉลองพระองค์เต็มยศ มีสร้อยคอมุก เพชร และพลอยประดับอย่างละลานตา เพราะในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี พสกนิกรจะถวายเสื้อผ้า ทรัพย์สิน และเพชรนิลจินดาแด่พระนางเช่น เมื่อ Francis Drake เดินทางรอบโลกสำเร็จ เขาได้นำมงกุฎทองคำที่ปล้นจากราชวังสเปนมาถวาย สร้อยมุกของพระนางแสดงให้เห็นว่า พระนางทรงเป็นมหากษัตรีย์แห่ง 7 คาบสมุทร นอกจากนี้ไข่มุกยังเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นสตรีพรหมจรรย์ ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้ว่า พระนางทรงมีชู้รักหลายคน แต่พสกนิกรไม่ว่าจะเป็นใครจะต้องไม่ถามเรื่องนี้
อ่านเพิ่มเติมจาก The Birth of the Elizabethan Age: England in the 1560 โดย Norman Jones จัดพิมพ์โดย Blackwell ในปี 1995
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์