ม.รภ.เขตอีสานใต้ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายฟิสิกส์ หวังวางรากฐานการศึกษาฟิสิกส์ตั้งแต่ชั้นมัธยม ประสานความร่วมมือนักฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.นเรศวรและ ม.ขอนแก่น
ดร.ธีระชัย พลสงคราม หัวหน้าสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎได้ร่วมกันสร้างเครือข่ายฟิสิกส์ โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย.57 ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ควอนตัมฟิสิกส์และการรวมกลุ่มฟิสิกส์อีสานใต้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์
การประชุมดังกล่าวมีตัวแทนอาจารย์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเข้าร่วม และยังได้รับความช่วยเหลือจากวิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน "สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ" มหาวิทยาลัยนเรศวร
นอกการประชุมระหว่างอาจารย์ฟิสิกส์แล้ว ยังได้เชิญ ดร.ทีปานิส ชาชิโย จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาบรรยายเรื่องกลศาสตร์ควอนตัมแก่นักศึกษา ครูและนักเรียนจากโรงเรียนรัตนบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งเข้าร่วมในกิจกรรมระหว่างการประชุมดังกล่าว
"เป้าหมายของการประชุมคือมาคุยกันว่าจะร่วมมือกันอย่างไร ทั้งในส่วนของงานวิจัยฟิสิกส์ และการจัดอบรมพัฒนาครูในระดับโรงเรียน เพราะเด็กที่จบมัธยมความรู้ยังไม่แน่น ซึ่งอาจเป็นเพราะครูยังไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากนักศึกษาที่มาเรียนอาจยังมีความรู้ฟิสิกส์ไม่เต็ม เมื่อจบไปเป็นครูก็มีความรู้ไม่เต็มที่ เราจึงร่วมมือกันเพื่อพัฒนาครู" ดร.ธีระชัยระบุ
ส่วน ผศ.ดร.ภควัฒน์ วงศ์วรรณวัฒนา หัวหน้าสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เผยถึงอุปสรรคในการผลิตบัณฑิตฟิสิกส์ว่า ด้วยสถาบันเป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่ จึงขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญฟิสิกส์ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีความพร้อมกว่า
ทางด้านภัทรพงศ์ ขำคม หัวหน้าสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เผยว่าสาขาฟิสิกส์ของ ม.รภ.บุรีรัมย์ มีความเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานทดแทน วัสดุศาสตร์และดาราศาสตร์ แต่สิ่งที่อุปสรรคต่อการเรียนการสอนคือขาดแคลนงบประมาณและอุปกรณ์ฟิสิกส์ ซึ่งที่ผ่านมาบางครั้งก็แก้ปัญหาด้วยการสร้างอุปกรณ์การทดลองขึ้นเอง เนื่องจากมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้นอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงที่ไม่สามารถทำเองได้
ในขณะที่ ดร.ทีปานิเผยว่า เขานั้นได้เตรียมชุดการทดลองสนุกๆ ที่นักเรียนมีส่วนร่วมในการทดลอง ซึ่งเชื่อว่าครู-อาจารย์ที่เข้าฟังบรรยายจะได้แนวคิดในการทำสื่อ ซึ่งเขาพยายามสร้างสื่อการสอนที่ทำให้เด็กเข้าใจเบื้องหลังและการประยุกต์ของฟิสิกส์นั้นๆ ทั้งสาขาฟิสิกส์เป็นศาสตร์ที่ใหญ่จึงต้องมีความร่วมกัน เพื่อสร้างพื้นฐานฟิสิกส์แก่นักเรียน ม.ปลายและนักศึกษาปริญญาตรี
ทว่า ในความเห็นส่วนตัว ดร.ทีปานิสระบุว่า ปัญหาการสอนฟิสิกส์ในปัจจุบันนั้นเน้นการใหัสมการบนกระดาน และไม่ค่อยได้ทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งเด็ก ม.ปลายเป็นวัยที่อยากสนุก จึงควรจัดการเรียนให้สนุก ส่วนนักศึกษาปริญญาตรี-โทนั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว การเรียนการสอนก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
"ถ้าเป็นที่ต่างประเทศ ในการสอนฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์เบื้องต้นนั้น เขาจะเน้นทำให้เด็กเห็นภาพว่าเกี่ยวกับชีวิตประจำวันอย่างไร เด็กๆ ชอบทำการทดลอง ก็ต้องออกแบบให้สนุกและน่าประทับใจ แต่ด้วยกลไกการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยในบ้านเราเน้นข้อสอบไว้ก่อน ซึ่งน่าเสียดาย ระบบบังคับให้เป็นอย่างนั้น เมื่อก่อนไม่ได้แข่งขันเยอะขนาดนี้ ก็มีเวลาในห้องเรียนมากกว่านี้" ดร.ทีปานิสให้ความเห็น
หลังการประชุมยังมีกิจกรรมชมภาพยนตร์เรื่อง Interstellar รอบพิเศษที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟซินีมา ซิตี โรบินสันสุรินทร์ ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน และจัดเสวนาเพื่อให้ความรู้ฟิสิกส์ในภาพยนตร์ดังกล่าวเกี่ยวกับหลุมดำ รูหนอนและการบิดโค้งของกาลเวลาหลังการชมภาพยนตร์
ด้าน ดร.ชูจิต สาระภาค จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ผู้ประสานงานจัดกิจกรรมชมภาพยนตร์หลังการประชุม เผยว่าทราบว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นภาพยนตร์ที่ดีมากและมีความรู้ฟิสิกส์อยู่ด้วย จึงได้ประสานกับผู้จัดการโรงภาพยนตร์เพื่อจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น
"กิจกรรมเราไม่เน้นพิธีการแต่เน้นให้ความรู้ เรารวมตัวกันเพื่อจุดประกายโดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ ซึ่งต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเรายังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ ก่อนหน้านี้ก็มีโครงการอื่นในการอบรมครู แต่เมื่อจบโครงการก็ห่างเหินกัน ตอนนี้เรากลับมาร่วมตัวกัน โดยเริ่มจากที่รู้จักกันก่อน อนาคตอาจขยายออกไปมากกว่านี้" ดร.ธีระชัยกล่าว
*ภาพประกอบโดย รศ.ดร.บุรินทร์กำจัดภัย จากวิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน "สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ" มหาวิทยาลัยนเรศวร
*******************************