xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อาเซียนรุ่งแน่ถ้าใช้เทคโนโลยีอวกาศช่วยการเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) พลเอก ดร. วิชิต สาทรานนท์, สมชาย เทียมบุญประเสริฐ, ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล และ ชิบ จิตนิยม
ยานสำรวจอวกาศสักลำก็ไม่มี สถานีอวกาศยิ่งแล้วใหญ่ แล้วเทคโนโลยีอวกาศจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอาเซียนได้อย่างไร? เทคโนโลยีอวกาศ, ภูมิสารสารเทศจะช่วยเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ของอาเซียนได้ในรูปแบบไหน?

ระหว่างการประชุมวิชาการและนิทรรศการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติประจำปี 2557 (Geoinfotech 2014) ที่จัดขึ้นระหว่าง 12-14 พ.ย.57 พลเอก ดร.วิชิต สาทรานนท์ กรรมการบริหารสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.), สมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด ร่วมเสวนา เรื่อง "เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อความยิ่งใหญ่ในอาเซียน" โดยมี ชิบ จิตนิยม เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ท่ามกลางผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน

พลเอก ดร.วิชิต กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มประเทศอาเซียนในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพราะมีการศึกษา วิจัยและเริ่มใช้มาเป็นเวลานานนับ 30 ปี โดยเน้นไปที่ทางด้านการเกษตรเป็นหลัก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ที่มุ่งสู่การเป็นครัวของโลก การผลิตอาหารตามหลักภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

"การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาช่วยพัฒนาด้านการเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยนำมาใช้ประโยชน์ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มหันมาให้ความสนใจและนำมาประยุกต์ใช้เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาและกำลังพัฒนาขึ้นมาให้อยู่ในระดับเดียวกับไทย แต่ปัญหาของการพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศส่วนใหญ่อยู่ที่งบประมาณ เพราะการจะมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรแต่ละดวงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท และบุคลากรที่มีความรู้จำนวนมาก ประกอบกับกฏหมายบางประการที่ทำให้การใช้ประโยชน์ยังทำได้ไม่เต็มที่ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ล่าช้า ทั้งที่ความจริงแล้วคนไทยจะได้ประโยชน์โดยอ้อมอีกมากมายกับการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ" พลเอก ดร. วิชิต กล่าว

"เพราะคนไทยมัวแต่ตีกันเอง ตีกันจนบ้านเมืองเละเทะ ทำให้สิ่งที่เหมือนจะดีตั้งแต่แรกก็ยังคงดีได้อยู่แค่นั้นไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ถ้าเรายังไม่รีบเดินอีกหน่อยคนอื่นก็จะแซงเรา เหมือนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไทยรั้งท้ายกลุ่มอยู่ในขณะนี้" เสียงสะท้อนหนึ่งจาก ดร.สมเกียรติ สื่อมวลชนอาวุโส ซึ่งกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยเดินอยู่ตลอด แต่เดินอยู่กับที่ เพราะปัญหาทางการเมือง ทำให้การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอวกาศไม่ถูกสนับสนุนเท่าที่ควร ทั้งด้วยเหตุผลของงบประมาณที่ต้องใช้เป็นจำนวนมากและขาดบุคลากรที่จะเข้ามาสานต่องานทางด้านอวกาศในประเทศไทยมีน้อย ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยังดูเป็นเรื่องไกลตัวมากสำหรับคนไทย

ดร.สมเกียรติ เผยว่าข้อมูลการลงทุนทางด้านดาวเทียมจากบริษัทที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่งในช่วง 2 ปีล่าสุด ระบุว่า ประเทศเวียดนามครองอันดับ 1 สำหรับการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ตามมาด้วยประเทศลาว และอินโดนีเซีย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะไม่เหลืออะไรให้เป็นผู้นำในอาเซียนอีกเลยถ้ายังไม่จบปัญหาภายใน และพัฒนาตัวเองให้หนีพ้นจากเพื่อนบ้าน เริ่มจากการพัฒนาดาวเทียมสำรวจธรรมชาติ, รีโมทเซนซิง, ระบบระบุค่าพิกัดให้ดีมีประสิทธิภาพรองรับครอบคลุมการใช้งานก็น่าจะช่วยเกษตรกรได้ค่อนข้างมากซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นประโยชน์คุ้มทุนสำหรับประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้

เช่นเดียวกับ สมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า คงเป็นเรื่องยากหากจะบอกว่าอาเซียนจะยิ่งใหญ่ได้ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศอย่าง สหรัฐฯ หรือรัสเซียแล้วอยู่คนละระดับ แต่เมื่อไม่นานมานี้ประเทศในทวีปเอเชียหลายประเทศ ทั้งจีน เกาหลีและอินเดียก็เริ่มประสบความสำเร็จทางด้านโครงการอวกาศ ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนและพัฒนาในเรื่องของห้องปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ และการลงทุนทางด้านอวกาศเพิ่มมากขึ้น จากความร่วมมือในโครงการอาเซียน +3 (ASEAN+3) ที่ประเทศไทยทำร่วมกันกับ 3 ประเทศที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งจะช่วยพัฒนาวงการอวกาศไทยได้ไม่มากก็น้อย

"สิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนยิ่งใหญ่ได้จริงคือเศรษฐกิจ การนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนเศรษฐกิจน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่เม็ดเงินหลักเกิดจากการทำเกษตรกรรม หากเราสามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่นการใช้งานเทคโนโลยีได้ดียิ่งขค้น มีความแม่นยำและชัดเจน การเกษตรในละแวกนี้จะเป็นที่หนึ่งของโลกนำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ของอาเซียน สำคัญที่สุดคือเราต้องช่วยกัน เรารู้ว่าเราไม่เก่งเรายิ่งต้องจับกลุ่มกันอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเป็นพี่ใหญ่ มีความก้าวหน้าที่สุดแล้วทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในละแวกนี้ เราจำเป็นต้องช่วยดันกันไม่ใช่เหยียบหัวกันเพื่อให้ใครเป็นใหญ่ พัฒนาระบบภูมิสารสนเทศ พัฒนาแอปพลิเคชั่นและขีดความสามารถของดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเกษตรและอาหารที่ถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดสำหรับบทบาทของอาเซียนในสายตาชาวโลก" รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวทิ้งท้าย







กำลังโหลดความคิดเห็น