xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐควรใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจัดการ “เมกะโปรเจกต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในพิธีเดินชมนิทรรศการ
สทอภ.จับมือ 7 พันธมิตร เปิดงานประชุมวิชาการด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เน้นความก้าวหน้าในอาเซียน พร้อมด้วยการประกวดสื่อสร้างสรรค์ โปรแกรมประยุกต์และองค์ความรู้จากนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคับคั่ง ตั้งแต่วันนี้ถึง 14 พ.ย. ณ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม.

นางเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ (GEOINFOTECH 2014) ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.57 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ และลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยงานปีนี้เน้นเรื่องความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อความยิ่งใหญ่ของอาเซียน

สำหรับการประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ร่วมกับ กรมแผนที่ทหาร, สมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, สมาคมการแผนที่แห่งประเทศไทย, สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย, สมาคมการสำรวจและแผนที่, สมาคมภูมิศาสตร์ประเทศไทยและสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย ซึ่งนางเสาวณีกล่าวว่างานดังกล่วมีจุดมุ่งหมายเป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับการเผยแพร่งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

“เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะสามารถใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศได้จริง ทั้งทางด้านการเกษตร การขนส่ง การชลประทาน การป้องกันอุบัติภัย รวมไปถึงการวางโครงสร้างในพื้นที่ ซึ่งเทคโนโลยีแต่ละประเภทจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานที่ดีขึ้นอยู่เสมอ เวทีนี้จึงเป็นประโยชน์สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยี กับผู้ใช้หรือประชาชนทั่วไปได้จริง” นางเสาวณีกล่าว

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. ยังได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการภาครัฐ โดยระบุว่า การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ในการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือ “เมกะโปรเจคต์” เป็นสิ่งที่ต้องทำ และทำมานานแล้ว เพราะการจะทำอะไรแต่ละอย่างได้นั้นไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ ล้วนแล้วแต่ต้องมีกรอบงาน และต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายและขั้นตอนการดำเนินการว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐที่เป็นโครงการใหญ่และต้องใช้เงินหลวงยิ่งต้องระมัดระวังและจำเป็นต้องมีการวางกรอบงานอย่างรัดกุม ซึ่งข้อมูลภูมิสารสนเทศก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญและมักถูกนำมาใช้ประกอบการพิจารณาและวิจัยพื้นที่ก่อนการดำเนินโครงการด้วยเสมอ

การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้กับโครงการต่างๆ ของภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ รศ.ดร.สมเจตน์ระบุว่า ต้องประกอบไปด้วยขั้นตอนย่อยๆ ที่จะทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปอย่างมีระบบและสำเร็จลุล่วง เริ่มจากการดูฐานพื้นที่ว่าภูมิประเทศที่ไหนเป็นอย่างไรก่อน แล้วจึงมาเริ่มขั้นตอนต่อไปว่าในพื้นที่ที่มีปัญหาแบบใด ควรใช้เครื่องมือใด และวิธีการใดเข้ามาจัดการในพื้นที่ ซึ่งในส่วนนี้มักอยู่ในแผนจากรัฐบาลที่ได้กำหนดเอาไว้แล้ว ต่อมาเป็นการดูโครงการของกลุ่มย่อยที่เป็นหน้าที่ของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐว่าทางด้านการเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม รวมไปถึงทางด้านอื่นๆ ว่ามีการกระจายตัวอยู่ที่ใด นำมาสู่การวิเคราะห์พื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาก่อนการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้การทำงานของทางภาครัฐจะทำได้ง่ายขึ้น จากการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล นำไปสู่การตัดสินใจเพื่อเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

"จะทำอะไร ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ รัฐบาลอยากทำก็จะทำได้นะ อันดับแรกเราต้องรู้จีกสถานะของตัวเองก่อน ทำความรู้จักสถานะของพื้นที่ซึ่งก็คือการวิจัย ซึ่งเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศต่างๆนานานี่แหละที่เข้ามาช่วยเราได้มาก" รศ.ดร.สมเจตน์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

สำหรับงานประชุมวิชาการ GEOINFOTECH 2014 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย. 57 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ และลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-141-4444









สทอภ. พร้อมด้วย 7 หน่วยงานพันธมิตร ร่วมเปิดงานฯ












กำลังโหลดความคิดเห็น