“คนไทยไม่ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์” คือ ประโยคตลกร้าย หลายคนพยายามพาลูกไปพิพิธภัณฑ์แต่รู้สึกว่าน่าเบื่อ มาลองเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในมุมใหม่ ลบความคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นแค่แหล่งเรียนรู้ ลองเปลี่ยนวิธีเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์จะดีกว่าไหม?
การเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ “ไม่ใช่การชมแบบเก็บเกี่ยวแต่เราต้องเที่ยวแบบสืบเสาะ” นั่นหมายความว่า กระบวนการเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต้องเกิดจากเรื่องราว หรือคำถามที่ตัวเรา หรือคนในครอบครัวสนใจอยากหาคำตอบร่วมกัน
คำว่า “สืบเสาะ หรือ Inquiry” เป็นวิธีคิดแบบหนึ่ง ในกระบวนคิดแบบวิทยาศาสตร์ นั่นคือ การพยายามสอบถาม สืบสวน สืบเสาะ หาหลักฐานเพื่อพิสูจน์สมมุติฐาน หรือความสนใจใคร่รู้ที่คาใจ ให้ได้คำตอบ เป็นหนึ่งในทักษะชีวิต ที่นักการศึกษา และนักวิทยาศาสตร์ ถือว่าสำคัญต่อการอยู่รอดในคริสตวรรษที่ 21
แล้วทักษะการสืบเสาะ จะปรับมาใช้เพื่อเที่ยวพิพิธภัณฑ์ได้ยังไง?
นายปรี๊ดเชื่อว่า พ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ เกือบทุกคนวาดฝันว่าจะพาลูกไปพิพิธภัณฑ์ แล้วสนุกสนานกับการเรียนรู้ แต่พอถึงเวลาจริงกลับการเป็นฝันร้าย เด็กๆ อาจจะงอแง วิ่งพล่านไปทั่ว หรือไม่ก็เบื่อจนร้องโวยวายกลับบ้าน ถ้าเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น แปลว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นไม่ถูกต้องและอาจะเป็นส่วนหนึ่งให้ครอบครัวพบประสบการณ์แย่ๆ จนเข็ดขยาดพิพิธภัณฑ์ นายปรี๊ดเลยขอเสนอข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูดังนี้ครับ
1.วางแผนและทำการบ้านก่อน อย่าคิดนำเด็กไปปล่อยแล้วหวังว่า พิพิธภัณฑ์จะสอนแทน พิพิธภัณฑ์ในบ้านเราหลายแห่งมีเว็บไซต์นำเสนอข้อมูลนิทรรศการที่จัดแสดง บางแห่งไม่มี แต่มีคนมารีวิวไว้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ หรือมีข้อมูลพื้นฐานในเว็บไซต์นำเที่ยว ลองเปิดเว็บไซต์ให้เด็กๆ เลือกพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจ
หลังจากนั้นพ่อแม่อาจต้องทำการบ้านศึกษาเรื่องนั้นคร่าวๆ เป็นการบ้านของตนเอง ต้องคิดเสมอว่า พิพิธภัณฑ์เป็นแค่แหล่งเรียนรู้ พ่อแม่และคุณครูต้องเป็นคนสร้างวิธีเรียนรู้ให้ลูก ถ้าลงทุนมากก็ได้มาก การศึกษาแบบนี้ได้ประโยชน์กับตัวพ่อแม่เองด้วย ลองนึกดูว่าลูกๆ จะปลื้มปริ่มขนาดไหน ถ้าพบว่าพ่อแม่หรือคุณครู เป็นซูเปอร์ฮีโร่ สามารถเชื่อมโยงและอธิบายนิทรรศการบางส่วนได้ด้วยตัวเอง
2.รู้ข้อจำกัด พูดภาษาเด็ก และเริ่มจากส่วนเล็กๆ นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์อาจจะไม่ได้เตรียมพร้อมให้เด็กๆ อ่าน การอธิบายควรใช้ภาษาง่ายๆ เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เคยทำที่บ้าน หรือชีวิตประจำวันทำให้สนุกมากขึ้น บางพิพิธภัณฑ์มีข้อมูลซับซ้อน หลากหลายนิทรรศการ และมีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก พ่อแม่และคุณครูอาจต้องประเมินความสนใจของเด็กๆ ร่วมกับแผนผังนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ก่อนชมจริง
ลองเลือกเจาะบางส่วนที่เด็กๆ น่าจะสนใจมากเป็นพิเศษ จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงกว่าการเดินชมทั้งหมด เพราะนั่นอาจจะมากเกินไป จนทำให้สมองเด็กน้อย "error" หรือหมดความสนใจโวยวายกลับบ้านกลางครัน
3. เจ้าหน้าที่คือทางลัด ทุกพิพิธภัณฑ์มีเจ้าหน้าที่ประจำ โดยเฉพาะ พิพิธภัณฑ์ส่วนตัว พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ วังโบราณ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ระดับเทพที่สามารถตอบคำถามเชิงลึกได้ และส่วนมากมักจะเอ็นดูเด็กๆ ที่มาพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว การสอบถามหรือขอคำแนะนำในการนำชม หรือเลือกจุดที่น่าสนใจเป็นแนวทางที่ดี
4. เลิกเดินดูแล้วลอกป้าย เตรียมกระดาษและดินสอสีไปด้วยดีกว่า นายปรี๊ดไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่พ่อแม่ หรือครูพาเด็กๆ ไปปล่อยตามพิพิธภัณฑ์ แล้วสั่งให้ไปลอกคำอธิบายตามป้ายนิทรรศการมาส่ง แบบลอกได้มากก็ยิ่งได้คะแนนมาก อาจจะต้องลองประเมินดูว่าเด็กๆ ได้อะไร? ได้ความรู้มากขนาดไหนจากกิจกรรมที่ทำ? หรือเพียงแค่ฝึกให้เด็กๆ ของเรา ทำตัวเป็นกระดาษลอกลาย?
วิธีที่น่าสนใจกว่า อาจจะเป็นการเขียน Mind map หรือวาดรูประบายสีสิ่งที่ตนเองชอบ เด็กๆ สมัยนี้ทำ Mind map เก่งมาก ลองเริ่มต้นกับสิ่งที่เด็กชอบที่สุด แล้วให้สืบเสาะหาความเชื่อมโยงต่างๆ กับสิ่งนั้น กิจกรรมนี้สามารถฝึกเรียนรู้และเชื่อมโยงสิ่งที่สนใจแบบปลายเปิดได้ด้วยตนเอง
ถ้ายากเกินไป การยื่นกระดาษและดินสอสี หรือกล้องถ่ายรูปให้เด็กๆ เลือกวาดภาพ หรือถ่ายภาพสิ่งที่ตนเองชอบ แล้วเล่าหรือบรรยายตามแบบของตนเอง ก็เป็นกิจกรรมที่จัดได้ไม่ยากและน่าจะได้ผลดีต่อการเรียนรู้ มากกว่าเดินดูเฉยๆ
5. สรุปมวลความรู้ เพื่อให้คะแนนความสำเร็จของตัวเอง พ่อแม่และคุณครู อาจจะชวนด็กๆ เขียนสิ่งที่รู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ที่กำลังจะไป ความคาดหวังกับสิ่งที่จะได้ หรือวาดภาพในจินตนาการไว้ก่อนก็ได้ หลังจากชมแล้วลองชวนกันนั่งเขียนสรุปความรู้ที่ได้ เมื่อเทียบกับก่อนเข้าชม การทำแบบนี้บ่อยๆ ช่วยให้เด็กๆ ได้เห็นภาพของ “มวลความรู้” ของตนเองที่สะสมเพิ่มพูนขึ้น แบบจับต้องได้ เห็นภาพจริง ชวนให้สนใจใคร่รู้ในครั้งต่อไปมากขึ้น
6. ขยายกรอบคิดของคำว่าพิพิธภัณฑ์ หรือชวนกันสร้างพิพิธภัณฑ์ของครอบครัว เราอาจต้องลบภาพพิพิธภัณฑ์แบบเก่าๆ ออกไปจากหัว จริงๆ แล้ว สวนสัตว์ สวนสาธารณะ แหล่งธรรมชาติรอบๆ บ้านหรือโรงเรียนก็เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ แต่พ่อแม่และคุณครูต้องออกแรงสวมหมวกเป็นนักจัดการมากขึ้นหน่อย นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญอย่าง "ชาร์ลส ดาร์วิน" เป็นนักสะสมของรอบตัว และสร้างพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวตั้งแต่เด็กๆ
หากเด็กๆ ชอบธรรมชาติการชักชวนให้ ใช้สีเทียนลอกลายเปลือกต้นไม้ นำใบไม้แห้งทับในหนังสือ หรือถ่ายภาพแล้วช่วยกันค้นชื่อ จัดเก็บเป็นคอลเลคชันของห้องเรียนหรือครอบครัว ยังเป็นกิจกรรมคลาสสิกที่ไม่ตกยุค
เด็กบางคนชอบอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ รถยนต์รุ่นต่างๆ หรือแม้กระทั่งชอบทำอาหาร การหากล่องใสหลายๆ ช่องให้เด็กสะสมคอลเลคชั่นของจุกจิกที่ชอบ หรือเตรียมอัลบั้มสะสมภาพ นอกจากจะกระตุ้นการเรียนรู้แล้วยังช่วยจัดระเบียบทางความคิด ฝึกแยกแยะ จัดประเภท ให้ดีขึ้น
การเที่ยวพิพิธภัณฑ์แบบสืบเสาะ เป็นการปรับกระบวนคิดแบบวิทยาศาสตร์ ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวัน และไม่ใช่กระบวนการที่ทำยากหรือซับซ้อนอะไรมาก เพียงแต่ต้องใส่ใจ วางแผน และจัดการมากขึ้นนิดหน่อย แต่นายปรี๊ดเชื่อว่าถ้าลองทำดู ผลลัพธ์และทักษะที่ได้น่าจะคุ้มค่ากับพลังงานที่ใช้ไป
ถ้าไม่เชื่อ...นายปรี๊ดท้าให้ลอง เริ่มต้นสืบเสาะจากพิพิธภัณฑ์ใกล้บ้านได้เลยครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์