ฟองน้ำห้ามเลือดจากแป้งข้าวเจ้าฝีมือศัลยแพทย์หนุ่มใหญ่ ผลจากความพยายามนับ 10 ปีในการพัฒนาคุณสมบัติแป้งข้าวเจ้าแทนที่เจลลาติน สู่เครื่องมือแพทย์ไทย และทำถูกกว่านำเข้าหลายเท่า และยังคว้ารางวัลนวัตกรรมข้าวปีล่าสุด
"ฟองข้าวสุรดา" ฟองน้ำห้ามเลือดทางศัลศาสตร์จากแป้งข้าวเจ้า ผลงานนวัตกรรมโดย บริษัท บุณยนิตย์วัสดุการแพทย์ จำกัด คว้ารางวัลที่ 1 ระดับอุตสาหกรรมในการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2557 ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ เจ้าของโครงการพัฒนาฟองน้ำห้ามเลือดจากบุณยนิตย์วัสดุการแพทย์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เขารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่นวัตกรรมฟองข้าวสุรดา ฟองน้ำห้ามเลือดทางศัลศาสตร์จากแป้งข้าวเจ้า ที่เขาคิดค้นขึ้นได้รับรางวัลเพราะเป็นนวัตกรรมที่เขาทุ่มเทและใช้ความพยายามมาถึง 10 ปีเต็ม กว่าจะประสบความสำเร็จ
สำหรับฟองข้าวสุรดานั้นเป็นนวัตกรรมทดแทนแผ่นห้ามเลือดที่มีใช้ในทางการแพทย์ ซึ่ง นพ.สิทธิพรเคยเป็นศัลยแพทย์และคุ้นเคยกับการผ่าตัดเป็นอย่างดี ทำให้ทราบว่าอุปกรณ์การแพทย์ใดมีราคาเท่าไร และทำมาจากอะไร โดยหนึ่งในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย และจำเป็นสำหรับการผ่าตัดคือแผ่นห้ามเลือด
"แผ่นห้ามเลือดที่แพทย์ใช้เกือบทั้งหมด นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด มักทำมาจากเจลลาตินทำให้มีลักษณะยืดหยุ่นและสามารถดูดซับของเหลวได้ โดยเมื่อสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวมันจะค่อยๆ พองตัวและขยายใหญ่ขึ้นเพื่อกดทับไม่ให้เลือดไหลออกมามากเกินไปในขณะผ่าตัด ประสิทธิภาพดี แต่เสียอย่างเดียวคือ ราคาแพงมาก แผ่นซับเลือดขนาดประมาณเพียงฝ่ามือมีราคาถึง 300 บาท" นพ.สิทธิพร เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นพ.สิทธิพรจึงเริ่มศึกษาว่า พอจะมีวัสดุอะไรบ้างที่สามารถนำมาผลิตเพื่อเป็นแผ่นห้ามเลือดแทนเจลลาตินได้บ้าง โดยตั้งข้อแม้ว่าวัสดุชนิดนั้นต้องเป็นของที่มีในไทยและราคาถูก แล้วผลก็มาลงเอยด้วยวัสดุที่เป็นคาร์โบไฮเดรต เขาจึงเลือกแป้งข้าวเจ้ามาเป็นวัสดุในการผลิตแผ่นห้ามเลือด
แป้งทุกชนิดใช้ผลิตแผ่นห้ามเลือดได้หมดไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวสังข์หยด ข้าวเสาไห้หรือบาสมาติ แต่ นพ.สิทธิพรเลือกแป้งที่ทำข้าวเจ้า เพราะประเทศไทยปลูกข้าวเจ้ามากที่สุด จึงไปติดต่อ บ.เอราวัณ จำกัด ผู้ผลิตแป้งข้างเจ้าความบริสุทธิ์สูงที่อยู่ในระดับที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ เพื่อนำมาเริ่มต้นในการผลิตแผ่นห้ามเลือด โดยเลือกใช้เศษข้าวหักเพื่อทำให้ต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการผลิต ซึ่งราคาของแป้งข้าวหักอยู่ที่ 17 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่แป้งข้าวเจ้าความบริสุทธิ์สูงจากต่างประเทศราคาอยู่ที่ 1,000 บาท
"ในเมื่อเรามีข้าวเจ้าเยอะ เราจะใช้ข้าวอื่นทำไมล่ะ ใช้มันสำปะหลังยิ่งเปลือง ผมดูแล้วว่าคุ้มค่าที่สุด ส่วนชื่อข้าวฟองสุรดา "สุรดา" คือชื่อภรรยาผมเอง" น.พ.สิทธิพร กล่าวถึงที่มาของชื่ออย่างติดตลกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นพ.สิทธิพร อธิบายถึงกระบวนการผลิตว่า ผลิตภัณฑ์ฟองน้ำห้ามเลือดสิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีลักษณะที่เป็นรูพรุนและยืดหยุ่นได้ โดยฟองข้าวสุรดาทำมาจากการนำแป้งข้าวเจ้ามาดัดแปลงให้เกิดเป็นเจลลาตินด้วยการให้ความร้อน แล้วผสมกับสารโพลิไวนิลแอลกอฮอลล์ คาร์บอกซีเมทธิลเซลลูโลสและกลีเซอรอล จากนั้นนำไปทำให้แห้งโดยแช่แบบเยือกแข็ง จนทำให้แผ่นแป้งเกิดเป็นเส้นใยร่างแหทรง 3 มิติแบบมีรูพรุนต่อเนื่อง และผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกมมา ที่สามารถใช้ได้กับแผลผ่าตัดบริเวณอ่อนนุ่ม เช่น ตับ ปอด สมอง ลำไส้ มดลูก ทวารหนัก บริเวณที่มีการตกเลือดจากหลอดเลือดฝอยหรือหลอดเลือดดำที่มีความดันต่ำ เป็นต้น
"ผมผ่านอุปสรรคมาเยอะมากนะ กว่าจะเล่าเป็นฉากๆ แบบเมื่อกี้ได้ เพราะแป้งข้าวเจ้าไม่ยืดหยุ่นเหมือนเจลลาติน บางครั้งที่ผลิตออกมาก็แข็งไป บางครั้งก็นิ่มเกินไปบ้าง ผมต้องศึกษาหาสารตัวเติมอยู่นาน จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ" นพ.สิทธิพรเผย
ทั้งนี้ ฟองข้าวสุรดาได้รับมาตรฐานจากทางสหรัฐฯ และการทดสอบทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อย ทั้งในสัตว์ทดลองและมนุษย์ ซึ่งน.พ.สิทธิพรเผยว่าตอนนี้ฟองข้าวสุรดามีใช้แล้วในโรงพยาบาลนำร่องหลายแห่ง และได้รับการยอมรับจากศัลยแพทย์เป็นอย่างดี ว่ามีคุณภาพดีเทียบเท่าแผ่นห้ามเลือดนำเข้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญมีราคาลดลงถึง 3 เท่า
"รางวัลนวัตกรรมข้าวไทยที่ได้รับมา ทำให้ผมหายเหนื่อยนิดหน่อย แต่ผมภูมิใจมากนะ เพราะมันได้มาจากการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง ผมยังอยากเหนื่อยไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้โครงการในใจผมมีอีกเยอะ ผมคิดว่าจะทำไปเรื่อยๆจนกว่าผมจะตาย" น.พ. สิทธิพรเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นอกจากนี้ นวัตกรรม "นาโนซิลิกอน สำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน" จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งใช้แกลบที่ได้จากการสีข้าวมาผลิตเป็นซิลิกาบริสุทธิ์นำไปผสมแมกนีเซียม เพื่อผลิตเป็นผงนาโนซิลิกอนใช้ในการผลิตขั้วไฟฟ้าแอโนดสำหรับแบตเตอรียังคว้ารางวัลพิเศษในการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย
ทั้งนี้ รางวัลนวัตกรรมข้าวเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลนวัตกรรมปี 2557 ซึ่งยังประกาศผลรางวัลย่อยอีก 2 รางวัลพร้อมๆ กันเมื่อ 2 ต.ค. ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ และรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม
สำหรับรางวัลชนะเลิศในรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านสังคม ได้แก่ เจิร์มการ์ด (GermGuard) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เคลือบด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุด โดยบริษัท อินโนเวทีฟ ฟิลเทรชัน เทคโนโลยี (ไอเอฟที) และ ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เรดิก้า (Redika) นวัตกรรมวัสดุคอมโพสิทจากยางรถยนต์รีเครม โดยบริษัท เรดิเจน จำกัด
ส่วนรางวัลชนะเลิศในรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรมแบ่งออกเป็น 2 ด้านเช่นกัน คือ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ พีซิงส์ (P-sync) อุปกรณ์เหนี่ยวนำการเป็นสัดแบบพลาเตอร์ฮอร์โมนติดผิวหนัง โดยคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และด้านการออกแบบอาหาร ได้แก่ "ทำมานาน"น้ำตาลมะพร้าวทรายทอง โดยบจก.ชีวาดี โปรดักส์ ผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวแบบผงพร้อมทานจาก จ.สมุทรสงคราม
ทั้งนี้ จะมอบรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2557 ในวันที่ 5 ต.ค. 57 ซึ่งตรงกับ "วันนวัตกรรมแห่งชาติ" ด้วย
*******************************