บราซิลปล่อยยุงต้านไวรัสเลือดออก ที่ใส่แบคทีเรียต้านไวรัสเด็งกี่ออกเข้าไป หวังให้เกิดการถ่ายโอนแบคทีเรียสู่ยุงรุ่นลูกรุ่นหลาน นำไปสู่การลดการแพร่ระบาดของโรคแขตร้อนในอนาคต
ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า นักวิจัยและนักเทคนิคจากสถาบันออสวาโดครูซ (Oswaldo Cruiz Foundation) หรือ ฟิโอครูซ (Fiocruz) สถาบันวิจัยด้านชีววิทยาการแพทย์ ที่ตั้งอยู่ในเมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ได้ทยอยนำกล่องบรรจุยุงลายบ้านสายพันธุ์เอเดสอียิปไต (Aedes aegypti) ไปยังเมืองทูเบียกันจาของบราซิล หลังจากยุงเหล่านั้นถูกทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียโวลแบคเคีย (Wolbachia Bacteria) เพื่อต้านโรคไข้เลือดออก ท่ามกลางผู้คนในพื้นที่ และนักถ่ายภาพที่ต่างพากันรัวชัตเตอร์เก็บภาพยุงก่อนจะปล่อยออกสู่ธรรมชาติเพื่อปฏิบัติภารกิจ
รอยเตอร์ยังอ้างถึงข่าวประชาสัมพันธ์จากสถาบันฟิโอครูซซึ่งระบุว่า ยุงที่นำมาปล่อยชุดนี้เป็นยุงที่ผ่านการวิจัยเพื่อทำให้มีความสามารถในการต้านโรคไข้เลือดออก ในตัวยุงมีเชื้อแบคทีเรียโวลแบคเคียที่มีความสามารถในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก โดยการปล่อยยุงลักษณะนี้เคยทำมาแล้วก่อนหน้านี้ที่ออสเตรเลีย เวียดนามและอินโดนีเซีย
ขณะที่ข้อมูลเพิ่มเติมจากเอพีระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฟิโอครูซในกรุงริโอเดอจาเนโรนั้นได้เข้าร่วมในโครงการระดับโลกที่มีเป้าหมายปล่อยยุงดัดแปลงพันธุกรรมต้านไข้เลือดออก เช่นเดียวกับหลายๆ พื้นที่ซึ่งปล่อยยุงลักษณะเดียวกันนี้ไปก่อนหน้า
เชื้อแบคทีเรียโวลแบคเคียในยุงสามารถป้องกันไม่ให้ยุงติดเชื้อไข้เด็งกี่และส่งต่อไปยังมนุษย์ได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่า แบคทีเรียเหล่านั้นจะถูกส่งต่อไปยังยุงรุ่นลูกรุ่นหลาน และทำลายความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสเด็งกี่ในที่สุด
นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งประมาณว่ามีคนติดเชื้อเด็งกี่ราว 390 ล้านคน ซึ่งเชื้อเด็งกี่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บข้อและปวดศีรษะอย่างรุนแรง แต่โดยทั่วไปไม่ถึงขั้นให้เสียชีวิต แต่ก็ยังไม่มีหนทางรักษา
ก่อนหน้ามีห้องปฏิบัติเอกชนในบราซิลได้ทำการดัดแปลงพันธุกรรมยุงสายพันธุ์เอเดสอียิปไต โดยใส่ยีนที่ทำให้ตัวอ่อนของยุงตายก่อนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย โดยผลิตยุงดัดแปลงพันธุกรรมตัวผู้ที่พร้อมออกไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติเพื่อลดประชากรยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกต่อไป
*******************************