xs
xsm
sm
md
lg

มีอะไรน่าดูใน "โลกยุคน้ำแข็ง" ณ คลองห้า ปทุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญลักษณ์ประจำนิทรรศการ ไดโนเสาร์และช้างแมมมอธ
อลังการนิทรรศการยุคน้ำแข็งส่งตรงจากอาร์เจนตินา จำลองไว้ที่คลองห้า ปทุมฯ ตื่นตาตื่นใจกับโครงกระดูกไดโนเสาร์ใหญ่ที่สุดในโลก ช้างแมมอธและหุ่นยนต์สัตว์ยุคน้ำแข็งสูญพันธุ์เคลื่อนที่ได้กว่า 10 ชนิด เตือนใจคนยุคใหม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน

เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยสำหรับนิทรรศการ “ICE AGE: The Exhibition เปิดประสบการณ์สนุก … ยุคน้ำแข็ง” ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดขึ้น โดยครั้งนี้ยกทัพนิทรรศการโลกหนาว มาไกลจากประเทศอาร์เจนตินา ประเทศที่มีการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตยุคน้ำแข็งที่สูญพันธุ์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก ต้นฉบับผู้สร้างหุ่นยนต์สัตว์ดึกดำบรรพ์เสมือนจริง

นายสาคร ชนะไพฑูรณ์ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. กล่าวว่า ทุกๆ ปี อพวช.จะมีนิทรรศการจากต่างประเทศหมุนเวียนกันมาจัดแสดงให้ความรู้แก่ประชาชนในหลายๆด้าน ซึ่งในปีนี้ทาง อพวช. มีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งเน้นให้คนเห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อน ที่กำลังทำให้สภาพอากาศของโลกค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับโลกอดีตในยุคน้ำแข็งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอย่างรุนแรง ทำให้สิ่งมีชีวิตในยุคนั้นปรับตัวไม่ทัน จนล้มตายและสูญพันธุ์ในที่สุด เป็นที่มาของการนำนิทรรศการโลกยุคน้ำแข็งที่มีจัดแสดงอยู่ในประเทศอาร์เจนตินา มาจัดแสดงให้ความรู้แก่คนไทยเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่อาจจะเกิดขึ้นแบบอดีต

“น่าสนใจมากสำหรับนิทรรศการโดยเฉพาะหุ่นยนต์สัตว์เคลื่อนที่ได้ เพราะทุกตัวถูกสร้างโดยการจำลองซากดึกดำบรรพ์ของจริงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รวมกับความรู้ที่มีผู้ศึกษาไว้ ซึ่งไม่มีที่ไหนสร้างขึ้นได้ดีกว่าประเทศต้นตำรับอย่างอาร์เจนตินา” นายสาครกล่าว

นิทรรศการบางส่วนนำไปจัดแสดงแล้วที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557 ที่จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนายสาครระบุว่า ได้รับความสนใจจากเยาวชนและประชาชนทั่วไปอย่างมาก จึงนำมาจัดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบมากกว่าเดิมที่อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี เพื่อให้ผู้ที่พลาดชมจากงานมหกรรมวิทย์ฯ ทั่วประเทศได้มีโอกาสสัมผัสกับนิทรรศการโลกยุคน้ำแข็งเช่นเดียวกัน

นายสาครอธิบายคร่าวๆว่า นิทรรศการยุคน้ำแข็งไฮไลท์สำคัญอยู่ที่หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมยุคน้ำแข็งทั้งสิ้น 10 ตัว ที่ถูกคัดเลือกมาเพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จนบางตัวเป็นบรรพบุรุษของสัตว์ยุคปัจจุบัน และโครงกระดูกไดโนเสาร์อาร์เจนติโนซอรัส (ARGENTINOSAURIO) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีความยาวถึง 36 เมตรและน้ำหนักกว่า 3,180 กิโลกรัม

ภายในนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนเปิดกล่องความทรงจำโลก เป็นส่วนที่อธิบายว่าทำไมเราต้องเรียนรู้อดีต และเราสามารถเรียนรู้อดีตของโลกและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้อย่างไร?

ส่วนที่ 2 การเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐาน การอธิบายการอพยพย้ายถิ่นของสิ่งมีชีวิตและข้อมูลทางธรณีกาล

ส่วนที่ 3 วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในยุคน้ำแข็ง ”เผยโฉมหน้าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ในยุคน้ำแข็ง ในรูปแบบของหุ่นยนต์สัตว์ที่เคลื่อนไหวและส่งเสียงได้รวมทั้งสิ้น 10 ตัว

ในส่วนที่ 4 วิวัฒนาการของสัตว์ประเภทงวง อย่าง “แมมมอธ” การสูญพันธุ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์อื่นๆ

“นอกจากความรู้ ความสนุกสนาน ตระการตา ผู้เข้าชมนิทรรศการยังจะได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด รักและตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้างมากขึ้น” รอง ผอ.อพวช. เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
โครงกระดูกไดโนเสาร์อาร์เจนติโนซอรัส (ARGENTINOSAURIO) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ส่วนเปิดกล่องความทรงจำโลก
ส่วนเปิดกล่องความทรงจำโลก
ไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ สแตน
การจำลองการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
มุมขุดซากดึกดำบรรพ์เสริมสร้างจินตนาการ


กลิปโทดอน : เป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กถึงใหญ่ มีน้ำหนักตั้งแต่ 50-2,000 กิโลกรัม ลำตัวปกคลุมด้วยแผ่นเกล็ดหลากมุมขนาดเล็กยึดตัวกันเป็นจำนวนมากรวมทั้งที่บริเวณส่วนหัวและคอ ซึ่งแผ่นเกล็ดเหล่านี้คือส่วนของกระดูกที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเปลี่ยนไปเป็นเปลือกหรือกระดองแข็ง ส่วนของกระดูกบ่งบอกถึงการปรับตัวได้เป็นอย่างดีดูได้จากกระดูกช่วงคอที่เชื่อมต่อกับลำกระดูกสันหลังส่วนท้าย รวมทั้งเอวและกระเบนเหน็บทั้งหมด มีฟันที่เหมาะกับการเคี้ยวพืชที่มีกากใย
เมกะเธเรียม : ตัวสลอธขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากแต่สามารถยืนด้วยสองขาหลังได้ จากหลักฐานการพบรอยตีนของสัตว์ชนิดนี้เมื่อเทียบกับขาคู่หน้าพบว่าขาหลังแข็งแรงกว่ามาก ส่วนหางแข็งแรงด้วยกล้ามเนื้อที่พัฒนาขึ้นมา มีความยาวลำตัวประมาณ 5 เมตร
ช้างมาสโคตอน : มีรูปร่างใกล้เคียงกับช้างในปัจจุบัน มีน้ำหนักเกือบ 4 ตัน ลักษณะของงาช้างไม่โค้งยาวแบบแมมมอธ มีการอพยพจากทวีปเมริกาเหลือลงสู่ทวีปอเมริกาใต้
เสือเขี้ยวดาบ : เป็นสัตว์ในวงศ์แมวป่าที่มีขนาดใกล้เคียงกับสิงโต แต่มีสัดส่วนของร่างกายที่แตกต่างกัน ลำตัวมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม เขี้ยวบนมีขนาดยาวเป็นพิเศษเพื่องับเหยื่อให้มั่น เขี้ยวล่างลดขนาดเล็กลง ที่ขอบของกรามล่างทั้งสองข้างมีกระดูกแผ่นแบนชิ้นใหญ่ซึ่งช่วยป้องกันเขี้ยวจากส่วนบนมากระทบ กรามของเสือเขี้ยวดาบสามารถอ้าได้กว้างถึง 90 องศาจากการศึกษากระดูกโคนลิ้นพบว่า มันอาจคำรามได้อย่างสิงโต
กลอสโซเธเรียม
มาครอคีเนีย : หรือตัวยาม่าใหญ่ ลำตัวมีขนาดเล็กกว่าอูฐในปัจจุบัน เป็นสัตว์ในกลุ่ม สัตว์กีบส้นเรียบ ชนิดสุดท้ายที่เหลือรอดในทวีปอเมริกาใต้ ขาที่ยืดยาวและกีบตีนที่ขาข้างละ 3 กีบ จัดเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ในกลุ่มนี้ที่ยังคงปรากฏอยู่ ลักษณะของกระโหลกแสดงถึงส่วนของจมูกที่คล้ายงวงและมีฟันรูปทรงสูง ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ตำแหน่งของช่องเปิดรูจมูกที่อยู่ค่อนมาทางด้านบนของกระโหลก อีกทั้งกระดูกจมูกซึ่งลดรูปเล็กลงเป็นลักษณะที่บ่งชี้ถึงจมูกแบบงวง (จมูกที่เรียวเล็กและยื่นยาว) จึงเป็นไปได้ว่าสัตว์ชนิดนี้อาจอาศัยอยู่ในน้ำเป็นหลักโดยหายใจผ่านทางงวงขณะที่ลำตัวพ้นน้ำอยู่บางส่วนหรือจมอยู่ใต้น้ำ
หมียุคน้ำแข็ง : หรือ พาธาร์คโตเธเรียม  มีขนาดใกล้เคียงกับหมีกริซลีย์ และมีน้ำหนักมากถึง 600 กิโลกรัม จัดเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่อพยพจากทวีปอเมริกาเหลือสู่ทวีปอเมริกาใต้  แต่มันสามารถกินรากไม้ ผลไม้และน้ำผึ้งป่าได้เช่นกัน ปัจจุบันเหลือหมีเพียงแค่สายพันธุ์เดียวเท่านั้นในทวีปอเมริกาใต้ นั่นคือ หมีแว่น (Tremarctos ornatus) ที่อาศัยในที่สูงกว่า 3,000 เมตร ทางฝั่งตะวันตกของประเทศเวเนซูเอล่า โคลัมเบีย เอลกวาดอร์ เปรูและโบลิเวีย
เสือเขี้ยวดาบ : เป็นสัตว์ในวงศ์แมวป่าที่มีขนาดใกล้เคียงกับสิงโต แต่มีสัดส่วนของร่างกายที่แตกต่างกัน ลำตัวมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม เขี้ยวบนมีขนาดยาวเป็นพิเศษเพื่องับเหยื่อให้มั่น เขี้ยวล่างลดขนาดเล็กลง ที่ขอบของกรามล่างทั้งสองข้างมีกระดูกแผ่นแบนชิ้นใหญ่ซึ่งช่วยป้องกันเขี้ยวจากส่วนบนมากระทบ กรามของเสือเขี้ยวดาบสามารถอ้าได้กว้างถึง 90 องศาจากการศึกษากระดูกโคนลิ้นพบว่า มันอาจคำรามได้อย่างสิงโต
ท็อกโซดอน : สัตว์กินพืชชนิดใหญ่ใกล้เคียงกับแรดขาสั้น อยู่ในกลุ่มสัตว์กีบแห่งซีกโลกใต้ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ลำตัวหนาบึกบึน มีกีบตีนที่ขา 3 กีบ ฟันเรียงติดกันเป็นแพจนแทบไม่มีช่องว่างต่างจากสัตว์กีบในซีกโลกเหนือ ท็อกโซดอนมีชีวิตอยู่ในสมัยไพลโอซีน และไพลสโตซีน จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มนี้ และเป็นสัตว์กีบยุคน้ำแข็งที่พบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกาใต้
ฮิปปิเดียน : ม้าอเมริกาใต้ มีขนาดเล็กสมส่วนกำยำ จัดเป็นม้าไม่กี่ชนิดที่อพยพเคลื่อนย้ายลงสู่ทวีปอเมริกาใต้โดยไม่ต้องพึ่พามนุษย์ ลักษณะร่วมที่เหมือนกับม้าในปัจจุบัน คือนิ้วด้านซ้ายถูกลดรูปลงและมีขาที่สั้นเหมือนกับการปรับตัวของม้าภูเขาในสมัยนี้ มีกระดูกจมูกที่ยาวและอาจมีน้ำหนักถึง 400 กิโลกรัม


ช้างแมมมอธเกิดขึ้นเมื่อ 4.8 ล้านปีที่แล้วและอยู่รอดจนถึงเมื่อราว 3,700 ปีที่ผ่านมา ช้างแมมมอธที่ค้นพบมีด้วยกันหลายสายพันธุ์แต่ช้างแมมมอธขนปุยจัดเป็นชนิดที่รู้จักกันแพร่หลาย มีการขุดพบซากดึกดำบรรพ์ในหลายทวีปทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ยูเรเซีย และแอฟริกา ช้างแมมมอธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หนาวเย็นจะมีใบหูขนาดเล็กเป็น 5 เท่าของช้างเอเชีย เป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อลดการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย ในทางกลับกันช้างแมมมอธที่อาศัยอยู่ในเขตที่อบอุ่นจะมีใบหูขนาดใหญ่กว่าได้เช่นกัน มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ โฮโม อีเร็กตัส (หนึ่งในสายพันธุ์บรรพบุรุษของมนุษย์) รู้จักการล่าช้างแมมมอธเพื่อประทังชีวิตเมื่อ 1.8 ล้านปีที่ผ่านมา และเป็นสัตว์ชนิดเดียวในนิทรรศการนี้ ที่ไม่เคยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่นำมาจัดแสดงไว้ด้วยกันเพราะเป็นตัวแทนสำคัญของสัตว์ในยุคน้ำแข็งที่เป็นที่รู้จักกันดี
มุมเสริมสร้างจินตนาการ

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
นิทรรศการ ICE AGE : The Exhibition เปิดประสบการณ์แสนสนุกยุคน้ำแข็ง" จัดแสดงขึ้น ณ อาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย - 11 ธ.ค. 57 โดยเปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.30-16.00 น. และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.30-17.00 น. ปิดบริการเฉพาะวันจันทร์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-577-9999







*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น