โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ร่วมกับ 7 องค์กร จัดงานรับตราพระราชทาน บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โดยมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ อยุธยา เป็นผู้แทนพระองค์ ที่งานมหกรรมวิทย์ '57
นายสาคร ชนะไพทูรย์ กล่าวว่า โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มดำเนินนำร่องในประเทศไทย โดยทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการนี้คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2552
สำหรับที่มาของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยนั้น มาจากการประเมินผลในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ที่พบว่าความรู้ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ จึงควรสร้างทัศนคติที่ดีด้านการเรียนรู้ทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย หรือเด็กอายุ 3 - 6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่สามารถเรียนรู้และจดจำได้มากที่สุด
นายสาคร ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยได้ขยายสู่ 12,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 217 แห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปีนี้ได้จัดงานรับตราพระราชทานบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยในปี 57 นี้มีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินทั้งสิ้นโดยจัดขึ้นทั้งสิ้น 4,605 โรงเรียน จึงได้จัดงานรับตราพระราชทาน 4 วัน 4 ภูมิภาค ได้แก่
ภาคใต้ จัดขึ้น ณ ม.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 57
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้น ณ ม.อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี โดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 8 ส.ค. 57
ภาคกลาง จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ จ.ปทุมธานี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในวันที่ 15 ส.ค. 57
ภาคเหนือ จัดขึ้น ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในวันที่ 22 ส.ค. โดยมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธี
*******************************
*******************************