xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก 2 ไดโนเสาร์จากอาร์เจนตินาใน “มหกรรมวิทย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงกระดูกฟอสซิลจำลองกิกาโนโตซอรัส กาโรลินิอี (หน้า) และ โครงกระดูกฟอสซิลจำลองอาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส (หลัง)
นับเป็นอีกไฮไลท์ “มหกรรมวิทย์” ซึ่งปีนี้ขนไปจัดแสดงที่เชียงใหม่ สำหรับโครงกระดูกฟอสซิลจำลองจากอาร์เจนตินาที่ตั้งโดดเด่นอยู่หน้าอาคารจัดแสดงนิทรรศการ แต่รู้ไหมว่าโครงกระดูกที่เห็นเป็นของไดโนเสาร์สปีชีส์อะไร?

2 โครงกระดูกฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ตั้งแสดงอยู่ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-28 ส.ค.57 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ซึ่งส่งตรงมาจากอาร์เจนตินา โดยโครงกระดูกไดโนเสาร์ทั้งสองเป็นฟอสซิลจำลองของซากไดโนเสาร์ที่พบในอาร์เจนตินา

สำหรับฟอสซิลจำลองของไดโนเสาร์คอยาวที่มีความยาวทั้งตัว 36 เมตรนั้น เป็นฟอสซิลจำลองของไดโนเสาร์สปีชีส์ อาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส (Argentinosaurus Huinculensis) อาศัยอยู่ในยุคครีเทเชียส หรือเมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน กินพืชเป็นอาหาร มีความสูงเฉลี่ย 7.5 เมตร และหนัก 70,000 กิโลกรัม

อาร์เจนติโนซอรัส นับเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา และได้ตำแหน่งสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตลอดกาล แต่ไม่เคยมีการค้นพบโครงกระดูกของไดโนเสาร์ชนิดนี้ในสภาพสมบูรณ์ทั้งตัว นักวิทยาศาสตร์คำนวณหาขนาดของไดโนเสาร์ชนิดนี้จากการเปรียบเทียบสัดส่วนและวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง

ชื่อของ อาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส ได้รับการตั้งชื่อ โดย โฮเซ่ โบนาปาร์เต้ และ โรดอลโฟโกเรีย นักบรรพชีวินวิทยาผู้ทำการศึกษา ฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดนี้ที่ค้นพบในเมืองปลาซ่าวินคุล จ.เนวเกล็น ของอาร์เจนตินา เมื่อปี 2531 และจากการศึกษาคาดว่าท่อนขาของไดโนเสาร์ชนิดนี้น่าจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักตัวเองบนบกได้ จากเดิมที่เข้าใจว่าเป็นไดโนเสาร์ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในน้ำเพื่อช่วยพยุงน้ำหนักร่างกาย

อาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส จัดอยู่ในกลุ่มไททันโนซอเรีย ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กลุ่มย่อยของซอโรพอด และนับเป็นไดโนเสาร์ที่หนักที่สุดเท่าที่เคยมี และเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดกลุ่มสุดท้ายอยู่รอดถึงยุคครีเทเชียส

ส่วนโครงกระดูกฟอสซิลจำลองของไดโนเสาร์อีกตัวที่ตั้งอยู่คู่กันคือ กิกาโนโตซอรัส กาโรลินิอี (Giganotosaurus Carolinii) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ มีความยาว 12 เมตร และสูง 4 เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคต้นครีเทเชียส หรือเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นที่ราบสูงปาตาโกเนีย อาร์เจนตินาในปัจจุบัน รวมทั้งในบราซิลและแอฟริกา

กิกาโนโตซอรัสเป็นนักล่าที่ออกล่าเป็นฝูง จากการศึกษาพบว่าเป็นนักล่าที่ปราดเปรื่อง โดกะโหลกของไดโนเสาร์นี้ใหญ่และยาวเกือบ 2 เมตร มีช่องเปิดขนาดใหญ่ซึ่งเป็นรูเปิดตามธรรมชาติของกะโหลก เพื่อให้น้ำหนักเบาลง ส่วนชื่อของไดโนเสาร์นั้นตั้งตาม รูเบ็น กาโรลินี ผู้ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์นี้เมื่อปี 2536
โครงกระดูกฟอสซิลจำลองกิกาโนโตซอรัส กาโรลินิอี (ซ้าย) และ โครงกระดูกฟอสซิลจำลองอาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส (ขวา)
 โครงกระดูกฟอสซิลจำลองกิกาโนโตซอรัส กาโรลินิอี (ซ้าย) และ โครงกระดูกฟอสซิลจำลองอาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส (ขวา)

โครงกระดูกฟอสซิลจำลองอาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส
มิ้นต์-ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง หนึ่งในพรีเซนเตอร์ของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เซลฟีหน้าโครงกระดูกไดโนเสาร์อาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส
บรรยากาศยามเย็น ซึ่งมีการแสดงศิลปะล้านนาบริเวณลานไดโนเสาร์ ซึ่งมีโครงกระดูกฟอสซิลจำลองของ โครงกระดูกฟอสซิลจำลองอาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส ตั้งตระหง่าน
 โครงกระดูกฟอสซิลจำลองอาร์เจนติโนซอรัส วินคุเล็นซิส ในยามค่ำคืน
ใครสนใจอยากไปชมฟอสซิลโครงกระดูกจำลองของไดโนเสาร์ทั้งสองชนิด สามารถเข้าชมได้ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 12-28 ส.ค.57

*******
บริการรถโดยสารไปยังงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ฟรี โดยมีเส้นทางเดินรถ 2 สายดังนี้
สาย 1
เริ่มต้นสายจากห้างโรบินสัน ผ่านหน้าโรงพยาบาลราม เลี้ยวซ้ายผ่านเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว จากนั้นตรงยาวผ่านห้างเมญ่า (MAYA) เลี้ยวขวาสี่แยกโรงแรมใหม่ภูคำ มุ่งหน้าเข้าสู่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557
สาย 2
เริ่มต้นจากสายโลตัสคำเที่ยง เลี้ยวขวาผ่านตลาดบริบูรณ์ เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าเข้าสู่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557







*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น