พบภาพขีดเขียนในถ้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของยุโรปผลงานของ “นีแอนเดอร์ทัล” บ่งชี้มนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วนี้อาจมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่เราเคยเข้าใจ
เอพีรายงานว่าภาพแกะสลักเป็นลายเขียนขีดภายในถ้ำกอแรม (Gorham's Cave) ที่ยิบรอลตาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยุโรป เป็นหลักฐานแรกเกี่ยวกับการสร้างงานศิลปะของนีแอนเดอร์ทัล โดยอ้างความเห็นของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมศึกษาพื้นที่พบหลักฐานดังกล่าว
การค้นพบนี้นับว่ามีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งชี้วัดว่ามนุษย์ยุคใหม่และญาติที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้น มีความสามารถในการแสดงออกเชิงนามธรรมเหมือนกัน โดยการศึกษานี้ได้ทดสอบการเซาะร่องในหินซึ่งถูกคลุมด้วยตะกอนดิน และได้เปิดเผยผลการศึกษานี้ลงในวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซนส์ (PNAS)
ทางด้าน คลีฟ ฟินเลย์สัน (Clive Finlayson) หนึ่งในทีมวิจัยและผู้อำนวยการแผนกมรดกวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์ยิบรอลตาร์ (Gibraltar Museum) ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้นักโบราณคดีได้พบสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในชั้นดินที่ปกคลุมอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าภาพแกะสลักจะต้องเก่าแก่กว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เคยค้นพบก่อนหน้า
ขณะที่ พอล ทาคอน (Paul Tacon) ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะยุคหินจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) ในออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ให้ความเห็นว่า หลักฐานที่พบนั้นเหมือนตะปูตอกฝาโลงให้กับสมมติฐานที่ว่า นีแอนเดอร์ทัลมีความนึกคิดที่ด้อยกว่ามนุษย์ยุคใหม่ โดยงานวิจัยนี้ยังแสดงว่าการแกะสลักนั้นถูกตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อทำพิธีกรรมหรือสื่อสารกับผู้อื่น หรืออาจเพื่อทั้งสองเป้าหมาย
ส่วนความหมายของภาพนั้นทาคอนกล่าวว่า เราไม่มีทางรู้ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่านีแอนเดอร์ทัลทำร่องรอยในอาณาเขตของตัวเองด้วยรูปแบบนี้ก่อนที่มนุษย์ยุคใหม่จะเข้าไปถึงพื้นที่ดังกล่าว ก็มีนัยสำคัญอย่างมากในการถกเถียงในเรื่องความเป็นมนุษย์และกำเนิดของศิลปะ
อย่างไรก็ดี เอพีระบุว่าไม่ใช่ทุกคนจะเห็นพ้องเช่นนั้น เพราะมีงานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ศึกษาอายุของพื้นที่ทางโบราณคดีที่หลากหลายทั่วยุโรป จนก่อให้เกิดความเป็นไปได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เห็นนั้นอาจไม่ใช่ผลงานของนีแอนเดอร์ทัล แต่เป็นผลงานของมนุษย์ยุคใหม่ โดยนีแอนเดอร์ทัลสาบสูญไปเมื่อระหว่าง 41,030 -39,260 ปีก่อน ขณะที่มนุษย์ยุคใหม่เข้าถึงยุโรปเมื่อประมาณ 45,000-43,000 ปีมาแล้ว ซึ่งมีช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันอยู่หลายพันปี
“การค้นพบใดๆ ที่ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของนีแอนเดอร์ทัลนั้นเป็นเรื่องน่ายินดี เรารู้ว่าพวกเขาพูดได้ อาศัยอยู่เป็นกลุ่มสังคมใหญ่ ดูและกันเมื่อป่วย และทำพิธีศพให้แก่ผู้ที่ตาย และยังประสบความสำเร็จสูงในการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพยุคน้ำแข็งทางซีกโลกเหนือ ซึ่งการแกะสลักหินก็ควรจะอยู่ในการอิทธิพลของพวกเขาด้วย ทว่าสิ่งที่ต้องระวังคือการระบุเวลาที่ชัดเจน แม้ว่าผมอยากให้นีแอนเดอร์ทัลวาดรูปได้ สร้างงานหัตถกรรมและแกะสลักได้ แต่ผมขอสงวนท่าทีในการตัดสินเช่นนั้น” คลีฟ แกมเบิล (Clive Gamble) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันในอังกฤษให้ความเห็น
อย่างไรก็ดี ฟินเลย์สันผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยเชื่อมั่นว่า สิ่งประดิษฐ์และภาพแกะสลักดังกล่าวสร้างขึ้นมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอย่างแน่นอน พร้อมทั้งอ้างถึงพื้นที่ขุดพบฟอสซิลนีแอนเดอร์ทัลทั่วยุโรปในช่วงเวลาที่ขุดพบภาพแกะสลักนี้ รวมถึงพื้นที่ที่อยู่ห่างถ้ำกอแรมไปเพียง 1 ไมล์ก็มีเทคโนโลยีใกล้เคียงกันนี้ ละในทางตรงกันข้ามก็ไม่พบเทคโนโลยีคล้ายคลึงกันนี้ในพื้นที่ของมนุษย์ใหม่ ดังกล่าวทีมวิจัยค่อนข้างมั่นใจว่าเครื่องมือที่ใช้แกะสลักนั้นสร้างขึ้นโดยนีแอนเดอร์ทัล
ทางด้านเอเอฟพีซึ่งรายงานเรื่องเดียวกันระบุว่า การขุดพบภาพแกะสลักนี้เกิดขึ้นภายหลังการเริ่มสำรวจถ้ำกอแรมอยู่หลายปี โดยพบอยู่ใต้ตะกอนดินล่างชั้นตะกอนดินของมนุษย์ยุคใหม่ และเป็นพื้นที่แรกที่ได้รับการสำรวจโดยนักวิจัย ซึ่งคาดว่าอาจมีภาพแกะสลักภาพอื่นอีกที่รอการค้นพบ
นักวิจัยยังพยายามเรียนรู้ว่านีแอนเดอร์ทัลแกะสลักอย่างไร โดยอาศัยเครื่องมือหินของนีแอนเดอร์ทัล พวกเขาพบว่า การแกะสลักในแต่ละร่องนั้นต้องอาศัยจังหวะสลักซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน โดยการสร้างร่อง 1 ร่องนั้นต้องสลักลง 60 ครั้งไปทิศทางเดียวตลอด โดยภาพแกะสลักทั้งหมดต้องใช้การสลักมาถึง 317 ครั้ง ทำให้พวกเขามั่นใจว่ารอยสลักนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่ต้องอาศัยความตั้งใจ
ภาพสลักที่พบนั้นอยู่ตำแหน่งไกลสุดของถ้ำกอแรม โดยอยู่บริเวณหน้าผาที่มองเห็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ ซึ่งหลักฐานก่อนหน้านี้บ่งบอกว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ให้นีแอนเดอร์ทัลได้ปลีกตัวออกไปพักผ่อน ซึ่งฟินเลย์สันกล่าวว่า หากมีสถานที่ใดให้เราใช้ช่วงเวลาว่างแกะสลักภาพวาด สถานที่นั้นก็ควรเป็นบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เอเอฟพีรายงานอีกว่าการค้นพบครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่บ่งบอกว่านีแอนเดอร์ทัลมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ยุคใหม่มากกว่าที่คิด ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จากการสำรวจในถ้ำเดียวกันที่ยิบรอลตาร์ยังเผยให้เห็นว่า นีแอนเดอร์ทัลอาจจับนกพิราบป่ามาชำแหละและปรุงอาหาร ก่อนที่มนุษย์ยุคใหม่จะกลายเป็นผู้บริโภคเนื้อนกรายใหญ่
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่เผยว่านีแอนเดอร์ทัลไม่เพียงแต่กินเนื้อ ทว่ายังกินผัก ผลไม้เบอร์รี่และถั่วเปลือกแข็ง รวมถึงยังดูแลผู้ชราและใช้เครื่องมือที่สลับซับซ้อนด้วย
*******************************
*******************************