xs
xsm
sm
md
lg

แฝงวิทยาศาสตร์ไว้ใน “ของเล่นภูมิปัญญาไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ของเล่นภูมิปัญญาไทยไม่ได้เพียงนำเสนอแต่ความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากกลไกที่แฝงไปด้วยความรู้ จากการประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาความคิดและการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ โดยการเชื่อมโยงเข้ากับความสนุกจากการเล่นของเล่นได้เป็นอย่างดี
         
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ พาไปดูอีกมุมหนึ่งของ “ของเล่นภูมิปัญญาไทย” ที่ดูผิวเผินแล้วอาจเป็นแค่ของเล่นเพื่อความเพลิดเพลินสำหรับเด็ก แต่ในความเป็นจริงของเล่นวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะเป็นตัวกลางเชื่อมความรัก และความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กๆ โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นอีกหน่วยงานที่รวบรวม “ของเล่นภูมิปัญญาไทย” มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ และในบางโอกาสก็ขนไปจัดแสดงนอกสถานที่ด้วย รวมถึงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2557 ที่จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่และเพิ่งผ่านพ้นไป

ภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงของเล่นพื้นบ้านทั้งแบบที่รู้จักกันดี และบางชิ้นที่บางคนอาจยังไม่เคยเห็น ซึ่งเราเก็บภาพส่วนหนึ่งมาฝาก เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักของเล่นภูมิปัญญาไทยที่ปัจจุบันหาเล่นได้ยาก และให้ผู้ใหญ่ได้ระลึกถึงความทรงจำวัยเด็กกันอีกครั้ง

ของเล่นภูมิปัญญาไทยแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ
1.ของเล่นประเภทหมุน เป็นของเล่นที่อาศัยจุดสมดุลในการเคลื่อนที่ของของเล่น ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ “ลูกข่าง” ตัวของลูกข่างจะประกอบด้วยลำตัวของลูกข่าง และขาของลูกข่างที่แหลม ลูกข่างที่สร้างจากภูมิปัญญาไทยมีด้วยกันมากมายหลายชนิด แต่งต่างกันที่วัสดุที่นำมาทำตัวลูกข่าง ขนาด น้ำหนัก พื้นที่การหมุน การประดิษฐ์ และวิธีการเล่น โดยปกติเมื่อเราออกแรงหมุนลูกข่าง ตัวลูกข่างจะคงรักษาการเคลื่อนที่ไว้ ในขณะเดียวกันน้ำหนักลูกข่างก็จะดึงให้ลูกข่างตกลงสู่พื้น โดยที่อากาศรอบๆจะทำหน้าที่เป็นแรงเสียดทานเพื่อชะลอการเคลื่อนที่ ตัวอย่างของลูกข่าง เช่น ลูกข่างไม้ ลูกข่างสะบ้า ลูกข่างสตางต์ ลูกข่างโว้ ลูกข่างชาวเขา เป็นต้น


2.ของเล่นที่ใช้สปริง ทำงานโดยใช้สปริงที่อยู่ภายใน เช่น หนูกะลา ควายชนกันและหนอนดิน เป็นต้น ของเล่นเหล่านี้จะใช้หนังยางทำเป็นสปริง เมื่อเด็กๆ เล่นของเล่นเหล่านี้ จะต้องบิดหรือดึงหนังยางให้เป็นเกลียวเพื่อเก็บพลังงาน จากนั้นก็ปล่อยเพื่อคลายหนังยางเพื่อเป็นการปล่อยพลังงาน ทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ได้


3.ของเล่นประเภทเสียง เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุหรืออากาศที่อยู่ในของเล่น การสั่นสะเทือนนี้จะไปกระทบโมเลกุลของอากาศ กระทบกันไปเรื่อยๆ จนถึงใบหูของเราไปยังแก้วหู ผ่านกระดูกค้อน ทั่ง โกลนจากนั้นจะส่งทอดการสั่นสะเทือนไปที่หูชั้นในเข้าสู่คอเคลีย ที่ทำให้เกิดกระแสประสาทส่งผ่านไปยังสมองเพื่อแปลความหมาย ของเล่นภูมิปัญญาไทยที่เกี่ยวกับเสียงมีมากมายหลายชนิดกว่าของเล่นชนิดอื่น เพราะของเล่นประเภทนี้ท้าทายการเรียนรู้และความสนใจของเด็ก เมื่อเด็กๆเล่นของเล่นเหล่านี้ พวกเขาก็จะได้เรียนรู้หลักการทำงานของหูและการได้ยิน ของเล่นประเภทเสียงมักทำจากไม้ไผ่ และดินเผาที่ทำให้เกิดเสียงโดยอาศัยการตี การเคาะและการเป่า เช่น โหวดหรือหวูด กลองหนังกบ





4.ของเล่นที่เกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง (Gravity Toys) ของเล่นชนิดนี้ทำให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับแรงอันมหาศาลของโลกที่ดึงดูด ทุกสิ่งไว้ โดยที่ไม่ปล่อยให้หลุดออกนอกอวกาศไป ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้ล้วนอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงทั้งสิ้น

ของเล่นในประเภทนี้ ได้แก่ “ลูกยาง” ที่ปีกของลูกยางเมื่อตกลงจากพื้นจะเกิดการหมุน ทำให้เกิดแรงยก ลูกยางจึงเคลื่อนที่ไปได้ไกล

“นกบิน” ที่เป็นลักษณะเหมือนคันชักของซอ โดยปากของนกสานจะถูกร้อยไว้กับส่วนบนของเชือกที่ผูกติดกับคันโค้งของไม้ไผ่ และเมื่อปล่อยให้นกตกลงมาตามแรงดึงดูดของโลก นกจะค่อยๆตกลงมาอย่างช้าๆ เพราะแรงเสียดทานที่ปากที่ทำให้ดูเหมือนว่านกกำลังบิน

“ไก่ลุม” ที่ใช้หลักการขอลลูกตุ้มด้านล่างที่ผูกอยู่กับเชือกที่โยงไปที่ปากไก่ทุกตัว เมื่อลูกตุ้มเคลื่อนที่จากการแกว่งจะทำให้ปากของไก่เคลื่อนที่ เหมือนว่ามีชีวิตจริง



5.ของเล่นเกี่ยวกับความเฉื่อย โดยความเฉื่อย คือ การรักษาสภาพความสมดุขของวัตถุ อย่างเมื่อมีแรงดึงเท่าไรก็จะมีแรงดึงกลับเท่านั้น มีอยู่ในวัตถุไม่ว่าจะหยุดหรือเคลื่อนที่ เมื่อวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเฉื่อยจะรักษาการเคลื่อนที่ให้คงที่ อาทิเมื่อวัตถุหมุน ความเฉื่อยจะช่วยให้หมุนไปอย่างต่อเนื่อง

ของเล่นที่โดดเด่นในประเภทนี้คือ กังหันหมุน กังหันกะลา และกังหันลูกยาง ที่มีส่วนประกอบของกระบอกจับ ที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่หรือเมล็ดของต้นไม้ขนาดใหญ่ เจาะรูตรงกลางเพื่อใส่ใบพัด และเจาะรูด้านข้างเพื่อใส่เชือกให้ผูกติดกับแกนของใบพัด และส่วนของใบพัดที่ทำจากไม้ไผ่เหลาให้แบนและยึดติดกับแกนกลาง เวลาจะเล่นให้ดึงเชือกตรงแกนกลางของใบพัด จะทำให้ใบพัดหมุนไปข้างหน้า แล้วใบพัดก็จะหมุนกลับมาเองเพราะความเฉื่อย แต่ถ้ามีการดึงอย่างต่อเนื่องกังหันก็จะหมุนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับใบพัดของเครื่องบิน

6.ของเล่นเกี่ยวกับแรงและการเคลื่อนที่
- ของเล่นที่เคลื่อนที่จากแรงยก อธิบายเช่นเดียวกับปีกของเครื่องบินที่เมื่อจะบินจะเกิดแรงยกเท่าๆกับแรง ผลักของเครื่องยนต์ น้ำหนักของเครื่องบินและแรงดึงดูดของโลกเมื่อเครื่องบินบินด้วยความเร็วที่ เพิ่มขึ้น อากาศที่อยู่ด้านบนปีก ทำให้เกิดแรงที่ยกขึ้น เรียกกฎนี้ว่า กฏของเบอร์นูลี นอกจากปีกเครื่องบินที่เกิดแรงยกแล้ว ของเล่นภูมิปัญญาไทยหลายชนิดโดยเฉพาะว่าวไทย ก็สามารถอธิบายเรื่องของแรงยกได้เป็นอย่างดี เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวงู ว่าวนกและคอปเตอร์ไม้ไผ่

- ของเล่นเกี่ยวกับสมดุล ของเล่นประเภทนี้จะมีการออกแบบให้มีจุดหมุนเพื่อสร้างความสมดุลของของเล่น เพื่อฝึกทักษะและการเรียนรู้เรื่องสมดุลให้กับผู้เล่น เช่น ควายกินหญ้า นกไม้ไผ่ แมลงปอไม้ไผ่ เป็นต้น









*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น