xs
xsm
sm
md
lg

เก็บ “อาทิตย์ทรงกลด” ให้ได้เต็มวง

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

การทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์ (Circumscribed Halo)ถ่ายภาพในช่วงเช้า เวลา 10.20 น. ณ จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 17-40mm. / Focal length :17mm. / Aperture : f/ 16 / ISO : 200 / Exposure :1/2000)
สำหรับช่วงนี้มักได้ยินคนพูดถึงปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด แม้กระทั่งช่วงอาทิตย์ก่อนที่ผ่านมาที่มีคนถ่ายภาพได้ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งสามารถเห็นการทรงกลดได้หลายวง ซึ่งความจริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกหรือมหัศจรรย์แต่อย่างใด แต่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือในช่วงนี้นั่นเองครับ

ดังนั้น คอลัมน์นี้จึงขอนำเสนอปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เราสามารถถ่ายภาพได้สวยงามปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว เนื่องจากปรากฏการณ์นี้จะการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ทรงกลด มีความน่าสนใจมาก ปัจจุบันก็มีคนให้ความสนใจกันมากขึ้นดังจะเห็นจากหลายเพจในเฟสบุ๊คที่รวมกลุ่มกันร่วมถ่ายภาพปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศกันอย่างแพร่หลาย

ทำความเข้าใจกันก่อน
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด เกิดขึ้นจากบรรยากาศของโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นล่างสุด และเป็นที่อยู่ของกลุ่มเมฆจำนวนมาก มีอากาศเย็นจัดตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น จนทำให้ละอองน้ำในอากาศ ณ เวลานั้นๆ แข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งอนุภาคเล็กๆ จำนวนมหาศาลลอยอยู่บนท้องฟ้า เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น และส่องแสงทำมุมกับเกล็ดน้ำแข็งได้อย่างเหมาะสม จะเกิดการหักเหและการสะท้อนของแสง ทำให้เกิดเป็นแถบสีรุ้ง (spectrum) คล้ายการเกิดรุ้งกินน้ำหลังฝนตกขึ้น

ขนาดของดวงอาทิตย์ทรงกลดจะมีขนาดแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากจะมีขนาดเชิงมุม (Angular Size) เฉลี่ยประมาณ 44องศามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ดวงอาทิตย์ โดยการลากเส้นตรง 2 เส้น มาบรรจบกันที่ดวงตาผู้มอง ได้แก่ เส้นตรงที่ลากจากกึ่งกลางของปรากฏการณ์มาที่ตาผู้มอง และเส้นตรงที่ลากจากขอบของปรากฏการณ์มาที่ดวงตาผู้มอง

โดยดวงอาทิตย์ทรงกลดจะเกิดเป็นวงกลมหรือ ฮาโล (Halo) รอบดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถเกิดเป็นวงกลม หรือ วงรี ก็ได้ และอาจเกิดไม่เต็มวงก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการกระจายตัวของผลึกน้ำแข็งในบรรยากาศ
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด ซึ่งเกิดไม่เต็มวงได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการกระจายตัวของผลึกน้ำแข็งในบรรยากาศโดยปรากฏการณ์นี้ถ่ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เวลา 8.53 น. ณจังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35mm. / Focal length :16mm. / Aperture : f/ 10 / ISO : 100 / Exposure :1/1250)
ในกรณีการเกิดอาทิตย์ทรงกลดวงรี หรือเรียกให้ถูกว่าการทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์ (Circumscribed Halo) นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางแสง ที่เกิดล้อมรอบวง Halo รัศมี 22องศามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ดวงอาทิตย์ รูปร่างเป็นวงรี ที่มีเส้นรอบวงสัมผัสขอบของวง Halo 22องศา ณ จุดบน-ล่าง โดยทั่วไป โค้งด้านบน-ล่าง ของ Circumscrbed Halo จะมีสีเข้มกว่า Halo ธรรมดา แต่โค้งด้านซ้าย-ขวา จะจางกว่า

เมื่อมุมเงยของดวงอาทิตย์มีค่าตั้งแต่ 29 องศาขึ้นไป ลักษณะรูปร่างของการทรงกลดแบบนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามมุมเงยของดวงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน ที่มุมไม่สูงมากนัก (ประมาณ 30-50 องศา) เส้นวงรอบมีลักษณะป่องออก 2 ข้าง แต่เมื่อมุมสูงขึ้นเรื่อยๆ เส้นนี้จะมีรูปร่างเป็นวงรีที่รีน้อยลงเรื่อยๆ และเมื่อมุมเงยมีค่าตั้งแต่ 70 องศา ไปจนถึง 90 องศา การทรงกลดแบบนี้จะกลายเป็นวงกลมซ้อนทับกับการทรงกลดแบบวงกลม 22องศาจนแยกได้ลำบาก
การทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์ (Circumscribed Halo)มีรูปร่างเป็นวงรี ที่มีเส้นรอบวงสัมผัสขอบของวง Halo 22 องศา ณ จุดบน-ล่าง โดยโค้งด้านบน-ล่าง ของ Circumscrbed Halo จะมีสีเข้มกว่า Halo ธรรมดา แต่โค้งด้านซ้าย-ขวา จะจางกว่าดังภาพข้างบน  ภาพปรากฏการณ์นี้ถ่ายภาพในช่วงเช้า เวลา 10.20 น. ณ ท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 17-40mm. / Focal length :17mm. / Aperture : f/ 16 / ISO : 200 / Exposure :1/2000)
ความถี่ในการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลดไม่สามารถคาดการณ์การเกิดล่วงหน้าได้ แต่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย จะเกิดมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งความชื้นในอากาศมาก เวลาที่เหมาะสมได้แก่ ช่วงก่อน 10 โมงเช้าจนถึงเที่ยงเศษๆ ซึ่งเกล็ดน้ำแข็งยังไม่ละลาย แต่เมื่อเลยเที่ยงวันไปแล้ว โอกาสที่จะเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเกล็ดน้ำแข็งจะได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากจนละลายหมดไป ในวันที่เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดจะเป็นวันที่อากาศไม่ร้อนจัด ไม่มีฝนตกปุบปับอย่างแน่นอน เว้นแต่จะมีลมพายุพัดเมฆฝนจากที่อื่นมา

เทคนิคการถ่ายภาพปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด
สำหรับการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ทรงกลดนั้น สามารถถ่ายได้ไม่ยากครับ ***แต่ไม่ใช้ ใช้โหมดถ่ายภาพแบบ Autoนะครับ เพราะการถ่ายปรากฏการณ์นี้ก็เหมือนกับการถ่ายภาพย้อนแสงนั่นเอง หากใช้โมหด Auto กล้องจะวัดแสงทั่วทั้งภาพ และถ่ายภาพออกมาสว่างโอเวอร์ จนกลบรายละเอียดของแถบสีรุ้ง Halo ไปหมด

สิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลดนั้น สิ่งแรกคือ “การหามันให้เจอก่อน” ซึ่งก็คือการหมั่นสังเกตท้องฟ้าบ่อยๆ นั่นเอง จากประสบการณ์ผมที่มักเห็นปรากฏการณ์นี้ มักเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ท้องฟ้าใสเคลียร์มักเกิดปรากฏการณ์นี้ได้ค่อนข้างบ่อย และอีกสิ่งหนึ่งนอกจากการหมั่นสังเกตท้องฟ้าแล้ว ขณะขับรถไปทำงานในช่วงเช้า ผมมักชอบสังเกตสังเกตบริเวณกระจกหลังรถของรถคันข้างหน้า หากเกิดปรากฏการณ์ก็มักจะเห็นสีรุ้งสะท้อนบริเวณกระจกรถให้ได้เห็นได้อย่างชัดเจนครับ เอาหล่ะครับทีนี้มาดูเทคนิคและวิธีการเก็บอาทิตย์ทรงกลดให้ได้เต็มๆ วงกันบ้างครับ
นอกจากการหมั่นสังเกตท้องฟ้าแล้ว ขณะขับรถเราสามารถการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลดได้จากการสะท้อนกระจกหลังรถของรถคันข้างหน้าได้เช่นกัน
1.เลือกใช้เลนส์มุมกว้างอย่างน้อย 24 mm. สำหรับกล้องแบบ Full Frame หรือเลนส์คิด(ทางยาวโฟกัส 18-55mm.) ที่ติดมากับกล้องทั่วไปก็ถ่ายได้เช่นกันครับ เนื่องจากอาทิตย์ทรงกลดที่เกิดขึ้นทั่วไปมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 44 องศา จำเป็นต้องใช้เลนส์มุมกว้างอย่างน้อย 24 มม. จึงจะสามารถบันทึกภาพได้เต็มวง

2. ปรับระยะโฟกัสไว้ที่อินฟินิตี้ โดยอาจปรับเองแบบแมนนวลก็ได้ เพราะในบางครั้งระบบออโตโฟกัสของกล้องอาจโฟกัสภาพได้ยาก

3. ใช้รูรับแสงแคบๆ ประมาณ f/10 หรือมากว่านั้น แต่ไม่ควรแคบมากเกินไป (เพราะอาจจะเจอปัญหา Diffraction Limit” รายละเอียดอ่านต่อตามลิงค์
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000055138 ) เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดมากที่สุด

4. ใช้ค่าความไวแสงต่ำสุด หรือ ISO :100เพราะดวงอาทิตย์สว่างจ้ามาก หรืออาจหาฟิลเตอร์อย่างเช่น ND Filter มาช่วยลดความสว่างลงเพื่อให้สามารถถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นหรือวิธีที่ผมใช้บ่อยที่สุดและง่ายที่สุดคือ การหาวัตถุมาบังแสงบริเวณดวงอาทิตย์ ก็จะสามารถถ่ายภาพให้ได้รายละเอียดของแถบสีรุ้งHalo ได้ชัดเจนมากขึ้น
การถ่ายภาพปรากฏดวงอาทิตย์ทรงกลดโดยการใช้วัตถุบังแสงบริเวณดวงอาทิตย์ จะช่วยให้ถ่ายภาพให้ได้รายละเอียดของแถบสีรุ้ง Halo ได้ชัดเจนมากขึ้นภาพปรากฏการณ์นี้ถ่ายภาพในช่วงเช้า เวลา 9.16น. ณ ท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length :24mm. / Aperture : f/ 10 / ISO : 100 / Exposure :1/1250)
5. ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ โดยปกติไม่มีค่าตายตัวครับ ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าขณะเกิดปรากฏการณ์ว่ามีเมฆมากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวผมแล้ว หากใช้ค่า ISO:100ผมมักปรับค่าความเร็วชัตเอตร์ไปที่ 1/1000 s ไว้ก่อนแล้วลองถ่ายภาพและดูภาพจากหลังกล้องว่าสว่างโอเวอร์เกินไปหรือไม่ เห็นแถบสีรุ้ง Haloได้ชัดเจนหรือยัง แล้วปรับค่าชดเชยตามสภาพท้องฟ้าขณะนั้นๆ

6. ถ่ายภาพด้วย Raw File ไว้หลายๆ ภาพ และหากมีเวลามากพอ ควรถ่ายภาพหลายๆภาพ เป็นระยะๆ เพราะ
ดวงอาทิตย์ทรงกลดจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และจะแตกต่างกันตามมุมเงยที่เปลี่ยนไป

สำหรับภาพปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด ก็เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ในชั้นบรรยายกาศโลกที่น่าสนใจอีกปรากฏการณ์หนึ่ง ซึ่งหากช่วงนี้ใครถ่ายภาพประเภทนี้ได้ ผมอยากเชิญชวนส่งภาพเข้าร่วมประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ของทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งสามารถส่งภาพได้ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2557 นี้ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครส่งภาพได้ตามลิงค์นะครับ http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/1247


เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน






กำลังโหลดความคิดเห็น