xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น “ลูกโป่ง” แตก...กับน้องบนดอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุ้นลูกโป่ง...แตก ไม่แตก
“แตกไหม?...แตก...ไม่แตก?” ...วิทยากรตะโกนเสียงดัง ท่ามกลางเสียงลุ้นของเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน ระหว่างที่เพื่อน 2 คน ออกไปเป็น “หน่วยกล้าตาย” ด้วยการจ่อไฟแชคใส่ลูกโป่งที่เป่าลมแน่น ดูเหมือนเล่นพิเรนทร์ แต่นั่นคือส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

เราเดินทางออกจากตัวเมืองมุ่งหน้าสู่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมของ “คาราวานวิทยาศาสตร์” ที่ล่วงหน้าไปก่อนหลายวัน แต่การเดินทางไม่ได้ง่าย เพราะนอกจากฝนที่โปรยปรายตลอดทางและหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้ว รถตู้ที่เราโดยสารยังไม่สามารถฝ่าเส้นทางทุลักทุเลขึ้นสู่ยอดดอยซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเป้าหมายได้ เนื่องจากเส้นทางที่ลาดชันมาก ถ้าไม่เปลี่ยนพาหนะก็ต้องเดินเท้าฝ่าสายฝนขึ้นไปอีก 3-4 กิโลเมตร

ที่สุดเราก็ขึ้นไปถึงปลายทางด้วยพาหนะของคุณครูประจำชั้นโรงเรียนทุ่งนาน้อย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ท่ามกลางความสงสัยว่าเด็กๆ ไปเรียนกันได้อย่างไร และเราก็ได้คำตอบเป็นภาพของนักเรียนตัวเล็กๆ ที่วิ่งฝ่าสายฝนพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มมุ่งสู่อาคารที่จัดเตรียมกิจกรรมและการทดลองวิทยาศาสตร์ไว้รอ

“เด็กๆ ที่นี่แกร่งกันทุกคน” ธานินทร์ ธนาพร ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งนาน้อยบอกกับเราอย่างภูมิใจ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็อยากให้เด็กๆ ได้รับโอกาสมากกว่าที่มีอยู่ เมื่อทราบว่าทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีกิจกรรมที่เรียกว่า “คาราวานวิทยาศาสตร์” ซึ่งมีทั้งนิทรรศการและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนได้เรียนรู้ เขาจึงประสานงานเพื่อขอเป็นเจ้าบ้านในการจัดกิจกรรมนี้

“ทุกปีมีกิจกรรมสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แต่โรงเรียนก็พานักเรียนไปร่วมกิจกรรมได้จำกัด และพาไปได้แค่พี่ชั้นโตๆ น้องๆ หลายคนก็อยากไปบ้าง แต่โรงเรียนก็ไม่สามารถพาไปได้ทุกคน เราจึงขอให้คาราวานวิทยาศาสตร์มาที่นี่ เพื่อนักเรียนทุกคนจะได้มีส่วนร่วม รวมถึงโรงเรียนใกล้เคียงด้วย” ผู้อำนวยการโรงเรียนขยายโอกาสที่ดูแลนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1ถึงชั้น ม.3 กล่าว  

เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ห่างไกลทางคณะคาราวานวิทยาศาสตร์จึงขนกิจกรรมไปจัดฐานการเรียนรู้ได้เพียงไม่กี่ฐาน โดย อนล ชวพันธุ์ นักวิชาการ อพวช.หนึ่งในวิทยากรของคาราวาน อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ปกติคาราวานวิทยาศาสตร์แบ่งเป็น 2 ชุด คือ คาราวานชุดใหญ่ซึ่งจะเน้นจัดในโรงเรียนที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละจังหวัด มีวิทยาการและอุปกรณ์การทดลองครบเครื่อง ส่วนคาราวานชุดเล็กจะมีชุดการทดลองและวิทยาการที่น้อยกว่า และเน้นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในถิ่นธุรกันดาร

“ในแต่ละปีคาราวานวิทยาศาสตร์ขนการทดลองไปเยือนโรงเรียนห่างไกลกว่า 10 โรงเรียน ทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งมีทั้งโรงเรียนที่เจ้าหน้าที่ช่วยกันคัดสรร และโรงเรียนที่ติดต่อประสานงานขอเป็นสถานที่จัดกิจกรรม แต่โรงเรียนเหล่านั้นต้องอยู่ในเกณฑ์และแผนการดำเนินงานของคณะคาราวาน” นักวิชาการ อพวช.เผย

กิจกรรมในคาราวานชุดเล็กที่อนลเรียกว่า “คาราวานสายสีแดง” นั้น มีทั้งการแสดงทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นการแดสงที่แทรกความรู้วิทยาศาสตร์ นิทรรศการวิทยาศาสตร์แบบสื่อสัมผัส ที่มีทั้งอวัยวะจำลองในร่างกาย แว่นจำลองการมองเห็นของสัตว์ ตลอดจนกิจกรรมวิทยาศาสตร์หรรษาที่ให้นักเรียนได้ทดลองประดิษฐ์ของเล่น และการสาธิตทางวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม

“เมื่อเทียบกับคาราวานวิทยาศาสตร์สายสีชมพูที่จัดตามโรงเรียนใหญ่ๆ น้องๆ ที่เรานำคาราวานวิทยาศาสตร์สายสีแดงมาเยือนในโรงเรียนห่างไกลเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงวิทยาศาสตร์ บางโรงเรียนนักเรียนชั้น ม.2 ยังอ่านหนังสือไม่ออกก็มี ซึ่งหลังจากจัดกิจกรรมแล้วเรายังมีการวิจัยผลการเรียนรู้ โดยส่งคนมาเก็บข้อมูลว่านักเรียนได้เรียนอะไรบ้าง มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นหรือไม่” อนลกล่าว

************************************

************************************

“ปัง...!!!” ลูกโป่งแตกเสียงดัง ตามมาด้วยเสียงร้องสนุกสนาน แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ธนพล อนุรักษ์บรรพต นักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งเป็นตัวแทนออกไปร่วมกิจกรรมสาธิตทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับเพื่อนนักเรียนหญิงอีกคน ยังต้องร่วมทดสอบว่า ลูกโป่งที่ใส่น้ำจะแตกอีกหรือไม่หากจี้ด้วยไฟแชค ซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าลูกโป่งไม่แตกเพราะน้ำช่วยถ่ายเทความร้อนจากผิวลูกโป่ง

ธนพลบอกเราว่าเขาชอบวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมที่ได้ร่วมกับคาราวานวิทยาศาสตร์ก็สนุกสนาน สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ ส่วนโอกาสในการร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์คล้ายๆ กันนี้เขาเคยไปร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ใน จ.เชียงราย นอกจากนี้โดยส่วนตัวเขาเป็นคนชอบสังเกต อยู่ที่บ้านเขาก็สังเกตและตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมรถยนต์ถึงวิ่งได้

แม้เป็นเพียงกิจกรรมชุดเล็กและการทดลองอย่างง่ายๆ แต่จากการสังเกตเราก็เห็นถึงแววตาของความใคร่รู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเรียนไม่ว่าจะเป็นวิชาใดก็ตาม และเชื่อว่าความสนใจและกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรมของเด็กๆ คือพลังที่ช่วยให้คณะคาราวานวิทยาศาสตร์หายเหนื่อยจากการเดินทางฝ่าความธุรกันดารไปมอบความรู้ให้แก่เยาวชนที่อยู่ห่างไกล
แว่นจำลองการมองเห็นของสัตว์ชนิดต่างๆ
นิทรรศการวิทยาศาสตร์แบบสื่อสัมผัส จำลองซากสิ่งมีชีวิต

อนล ชวพันธุ์
ธนพล อนุรักษ์บรรพต
 

   




Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น