Christopher Wren เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1632 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ที่เมือง East Knoyle ในแคว้น Wiltshire ของอังกฤษ ในช่วงเวลานั้นอังกฤษมีผู้นำคือนายกรัฐมนตรี Oliver Cromwell และประเทศกำลังปั่นป่วนด้วยความไม่สงบทางการเมือง ในวัยเด็ก Wren มีสุขภาพไม่แข็งแรง บิดาจึงให้เรียนหนังสือที่บ้าน โดยมีบิดาเป็นผู้สอน เพราะบิดานอกจากจะเป็นนักเทศน์ชื่อเสียงโด่งดังแห่งโบสถ์ East Knoyle แล้วยังเป็นสถาปนิกผู้มีความสามารถในการออกแบบอาคารบ้านเรือนด้วย กระนั้นเด็กชาย Wren ก็มิเคยคิดจะเจริญรอยตามพ่อในการเป็นนักเทศน์แต่อย่างใด
Wren เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียน St. Paul’s ในลอนดอน แล้วไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่ Wadham College แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ขณะเป็นนิสิต Wren ได้แสดงความสามารถในการเรียนมาก เพราะเมื่อมีอายุเพียง 15 ปี Wren ก็รู้คณิตศาสตร์มากเท่านักคณิตศาสตร์มืออาชีพ ความเป็นอัจฉริยะของ Wren เป็นที่เลื่องลือ จนนักฟิสิกส์ เช่น Isaac Newton และนักคณิตศาสตร์ เช่น Blaise Pascal ก็รู้จัก สำหรับ John Evelyn ซึ่งเป็นนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงนั้นก็กล่าวถึง Wren ว่าเป็น “หนุ่มมหัศจรรย์ ผู้มีพรสวรรค์และมีความสามารถที่สูงส่งด้านสถาปัตยกรรม อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยาน มุ่งมั่น และมีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบ”
เมื่ออายุ 25 ปี Wren ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ดาราศาสตร์แห่งวิทยาลัย Gresham College ที่ลอนดอน และดำรงตำแหน่งนี้นาน 4 ปี จากนั้นก็ได้ย้ายไปครองตำแหน่งศาสตราจารย์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ต่อ
ในสมัยนั้นสังคมถือเป็นเรื่องปกติที่อัจฉริยะคนหนึ่งจะมีความถนัด และความเชี่ยวชาญได้หลายสาขาวิชา ดังนั้นเมื่อมีอายุ 31 ปี Wren จึงเป็นทั้งนักดาราศาสตร์และสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสถานบูชา (chapel) ในสไตล์ Baroque ให้โบสถ์แห่งวิทยาลัย Pembroke ของมหาวิทยาลัย Cambridge อีกหนึ่งปีต่อมาเขาได้ออกแบบอาคารโรงละคร Sheldonian ที่ Oxford โดยสร้างให้หลังคาของอาคารไม่มีเสาตรงกลางรองรับน้ำหนัก ดังนั้นคนดูละครจึงไม่มีเสามาบดบังสายตา Wren คิดว่าผลงานนี้ท้าทายความสามารถของเขามาก
ในปี 1661 Wren ได้รับเลือกเป็นกรรมการท่านหนึ่งในคณะกรรมการซ่อมแซมมหาวิหาร Saint Paul’s ในลอนดอน เขาจึงเสนอโครงการจะสร้างโดมใหม่ทดแทนโดมเก่า
อีก 4 ปีต่อมา Wren ได้เดินทางไปทัศนศึกษาที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 6 เดือน และได้เห็นอาคารสิ่งก่อสร้างในสไตล์ Renaissance ที่ปารีสกับ Versailles มากมาย นอกจากนี้ก็ได้พบกับสถาปนิกและประติมากรชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่คือ Gianlorenzo Bernini ซึ่งสนใจในศิลปะแนว Baroque ด้วย ณ เวลานั้น Bernini กำลังออกแบบสร้างพิพิธภัณฑ์ Louvre
เมื่อเกิดมหาอัคคีภัยในปี 1666 ที่กรุงลอนดอนและโบสถ์รวม 87 แห่งถูกเผาจนวอดวาย หลังเกิดเหตุเพียง 6 วัน คือในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1666 Wren ก็ได้ทูลเกล้าเสนอแผนผังการซ่อมและสร้างมหาวิหาร St.Paul’s ต่อสมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 2 แห่งอังกฤษ
กรุงลอนดอนในเวลานั้นพื้นที่มีน้อยกว่ามหานครลอนดอนในปัจจุบันมาก เพราะยังไม่รวมเขต Westminster ดังนั้น พื้นที่จึงมีเฉพาะบริเวณภายในกำแพงเมืองโรมัน ความพยายามของ Wren ในการออกแบบเมืองใหม่ครั้งนี้จึงสำคัญมาก เพราะในสมัยนั้นยังไม่เคยมีใครคิดวางระบบผังเมืองเลย
Wren ต้องการให้ถนนใหม่ทุกสายเป็นถนนกว้างใหญ่ ภายในเมืองมีจัตุรัสหลายแห่งเหมือนโรม และมีถนนที่เชื่อมโยงกับอาคารสำคัญ อันได้แก่ มหาวิหาร St.Paul’s หอคอย Tower of London ฯลฯ ดังนั้นโครงการนี้จึงยิ่งใหญ่มโหฬารมาก จะมีก็แต่จักรพรรดิ Napoléon พระองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถดำเนินการตามแผนที่ Wren วางไว้ได้ แต่พอดีเกิดเหตุการณ์กาฬโรคระบาด และเกิดสงครามกลางเมืองในเมืองต่างๆ ประปราย ช่างก่อสร้างชาวอังกฤษที่ Wren ว่าจ้างจึงสร้างเมืองเสร็จแต่เพียงเสี้ยวหนึ่งของโครงการที่ Wren วางไว้ทั้งหมด เพราะในแผนนั้น Wren ระบุจะสร้างมหาวิหาร St.Paul’s ใหม่ โบสถ์ 50 โบสถ์ และอาคารประชุม 32 แห่ง โดยขอเงินค่าจ้างเพียงปีละ 300 ปอนด์
เมื่อ Wren เริ่มทำงาน บรรดาพ่อค้าที่เคยมีร้านค้าอยู่ในบริเวณใดของลอนดอน ต่างก็แสดงความประสงค์จะกลับทำมาค้าขาย ณ สถานที่เดิม และต้องการทำธุรกิจในทันที ความโลภ ความโง่เขลา การไร้ความอดทนและการเห็นใจของพ่อค้าทำให้แผนสร้างนครลอนดอนใหม่ของ Wren มีอุปสรรคมากมาย ในที่สุดโครงการสร้างกรุงลอนดอนใหม่ก็ล้ม
ถึงปี 1669 Wren ได้รับโปรดเกล้าเป็นหัวหน้าสถาปนิกสร้างนครลอนดอนใหม่ เขาจึงแบ่งพื้นที่ของลอนดอนออกเป็นส่วนๆ ตามความประสงค์ของบรรดาเจ้าของที่ดินในบริเวณเดียวกัน แต่การวางแผนเมืองตามความต้องการของบรรดาพ่อค้าที่ทำมาหากินอยู่ในแต่ละส่วนนี้ทำให้แผนเมืองขาดความเป็นเอกภาพ แม้เมืองจะไม่มีถนนสายใหญ่ที่มีต้นไม้ขึ้นทั้งสองฟากถนนก็ตาม แต่ Wren ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างมหาวิหาร St.Paul’s ให้ดูเด่นเป็นศรีสง่าของมหานครลอนดอน อีกทั้งยังได้สร้างโบสถ์อีก 55 โบสถ์ในสไตล์ที่สอดคล้องกับความเชื่อและความศรัทธาของคริสต์ศาสนิกชนนิกายโปรเตสแทนท์ในสมัยนั้นด้วย
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า งานก่อสร้างมหาวิหาร St.Paul’s ได้เริ่มดำเนินการในปี 1675 และลุล่วงในปี 1711 รวมเวลาก่อสร้าง 36 ปี ในขณะทำการก่อสร้าง Wren ได้หาที่พัก ในบริเวณใกล้ๆ เพื่อจะได้ติดตามดูความก้าวหน้าในการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด ก่อนงานจะเสร็จสมบูรณ์หนึ่งปี Wren วัย 78 ปีก็ยังนั่งกระเช้าขึ้นไปตรวจดูความเรียบร้อยของโดมของมหาวิหารนานเป็นชั่วโมง นี่คือผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่สำคัญระดับสุดยอดชิ้นสุดท้ายของ Wren ในเวลาต่อมา เขาเล่าว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างจากสถาปนิกอัจฉริยะคือ Bramente และ Michelangelo ผู้ออกแบบมหาวิหาร St.Peter’s ในโรม
นอกจากจะสร้าง St. Paul’s ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมระดับสุดยอดที่ชาวอังกฤษทุกคนภูมิใจแล้ว Wren ยังมีบทบาทในการสร้างอาคารอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น สวนและน้ำพุที่ Hampton Court หอนาฬิกาที่วิทยาลัย Christchurch แห่งมหาวิทยาลัย Oxford และห้องสมุดของ Trinity College ที่มหาวิทยาลัย Cambridge ด้วย
ในระหว่างปี ค.ศ.1682 – 1691 Wren ได้ออกแบบสร้างโรงพยาบาล Chelsea Hospital ใหม่ให้มีสภาพเรียบง่ายโดยให้อาคารไม่มีการตบแต่งด้วยสิ่งที่ไร้ประโยชน์ใดๆ และโรงพยาบาล Greenwich Hospital โดย Wren ได้ออกแบบให้อาคารมีลักษณะอสมมาตร ดังนั้น คนที่จะดูอาคารจึงต้องดูปีกทั้งสองข้างจึงจะได้ภาพของโรงพยาบาลที่สมบูรณ์
นอกจากผลงานด้านสถาปัตยกรรมแล้ว Wren ยังได้ชื่อว่า เป็นสมาชิกคนหนึ่งผู้ก่อตั้งสมาคม Royal Society ด้วย และได้รับเลือกเป็นนายกของสมาคมที่ทรงเกียรตินี้ในปี 1680 ทั้งๆ ที่ Wren ไม่มีผลงานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ตีพิมพ์เลย Wren จึงเป็นบุคคลคนหนึ่งที่ชาวอังกฤษรู้จักดีพอๆ กับ Isaac Newton, Robert Hooke และ Robert Boyle
Newton ได้เคยกล่าวยกย่อง Wren ว่า เป็นนักเรขาคณิตผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 ส่วน Hooke ผู้เป็นศัตรูคู่แค้นของ Newton และไม่ชอบการยกย่องใคร ก็ยังกล่าวสรรเสริญ Wren ว่าเป็น Archimedes ยุคปัจจุบัน
ไม่เพียงแต่ในอังกฤษเท่านั้นที่ทุกคนเห็นผลงานระดับอมตะของ Wren ในอเมริกาที่ College of William and Mary แห่งเมือง Williamsburg รัฐ Verginia ก็มีผลงานของ Wren ในรูปของอาคารเรียนของนักศึกษาด้วย
ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1723 หลังจากที่ป่วยด้วยโรคปอดบวมเป็นเวลานาน Wren วัย 91 ปีก็เสียชีวิตขณะนั่งหลับบนเก้าอี้ในบ้านที่ Hampton Court
บนหลุมฝังศพของ Wren ที่มหาวิหาร Saint Paul’s มีคำอำลาของ Wren ต่อโลกเป็นภาษาละตินสั้นๆ ซึ่งแปลว่า “Reader, if you seek a memorial, look about you.”
อ่านเพิ่มเติมจาก Sir Christopher Wren and His Times เรียบเรียงโดย James Elmes และจัดพิมพ์โดย Chapman and Hall ปี 2003
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์