คำแอลกอฮอล์ มีรากศัพท์มาจากคำว่า al-kohl ในภาษาอารบิกของชาวอาหรับที่ใช้เรียกเครื่องดื่มประเภทยาดองของเมา อันได้แก่ เบียร์ เหล้า บรั่นดี รัม วิสกี้ สาเก เหล้าองุ่น ฯลฯ
แม้แอลกอฮอล์สามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้สุกเวลาตกจากต้นลงแช่ในน้ำเป็นเวลานาน ของเหลวข้นที่ได้สามารถทำให้ผู้ดื่มรู้สึกกระชุ่มกระชวย และกระปรี้กระเปร่าได้ แต่มนุษย์เพิ่งรู้วิธีผลิตแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนนี้ ดังหลักฐานจากการขุดพบพระลัญจกรประจำองค์ราชินี Pu-Abi ที่นคร Ur แห่งอาณาจักรเมโสโปเตเมีย เมื่อ 4,600 ปีก่อน เป็นรูปพระนางทรงเสวยเบียร์จากหลอดดูด ปัจจุบันหลักฐานนี้อยู่ที่ British Museum ในลอนดอน อักษรลิ่ม (cuneiform) ของชาวสุเมเรียนมีข้อความว่า ชนเผ่านี้รู้จักทำเบียร์ถวายเทพธิดา Ninkasi ในเทศกาลศาสนาสำคัญ กฎหมายที่กษัตริย์ Hammurabi ทรงบัญญัติเมื่อ 3,720 ปีก่อนก็กล่าวถึงความสำคัญของเบียร์ว่า ชาวเมืองชอบดื่มเบียร์ และพ่อค้าเบียร์ที่ขายเบียร์เอากำไรมากเกินไปจะถูกจับถ่วงน้ำ การวิเคราะห์คุณภาพของเบียร์โบราณทำให้นักโภชนาการรู้ว่าชาวสุเมเรียนทำเบียร์จาก bappir ซึ่งคล้ายขนมปัง และเบียร์ที่ได้นี้สามารถเก็บบริโภคได้เป็นเวลานาน
ในตุรกีตอนกลางมีการขุดพบหลักฐานแสดงการดื่มเบียร์ที่บริเวณหลุมฝังพระศพของกษัตริย์ Midas ซึ่งแสดงว่า เมื่อ 2,700 ปีก่อน ชาวตุรกีนิยมดื่มเบียร์ที่มีเหล้าองุ่นปนในอัตราส่วนเท่ากัน นี่จึงเป็นสูตรการทำค็อกเทลสูตรแรกของโลก ซึ่งมีผลทำให้ชาวเมืองนิยมดื่มมาก เพราะนอกจากแอลกอฮอล์ที่ได้จะทำให้ผู้ดื่มเป็นสุขแล้ว ยังสามารถรักษาโรคบางชนิดได้ด้วย ดังที่ Galen แห่งเมือง Pergamum ผู้เป็นแพทย์หลวงในองค์จักรพรรดิ Marcus Aurelius ได้พบเมื่อ ค.ศ.710 ว่า เหล้าองุ่นสามารถรักษาบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้ระหว่างนักรบทาส (gladiator) ได้ Galen จึงแถลงว่าเหล้าองุ่นเป็นโอสถที่ทรงพลังมาก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของ Hippocrates ผู้เป็นบิดาของวิชาแพทยศาสตร์ แต่ชาวโรมันในยุคนั้นกลับไม่นิยมดื่มเหล้าองุ่นบริสุทธิ์เพราะคิดว่าเหล้าองุ่นคือเครื่องดื่มของคนเถื่อน ดังนั้นจึงนิยมเอาน้ำมาปน ในอัตราส่วน เหล้าองุ่น : น้ำ = 1:3 การเจือเหล้าองุ่นเช่นนี้ทำให้ได้เครื่องดื่มที่มีปริมาณมากและสามารถดับความกระหายได้ดี นอกจากเหตุผลนี้แล้วน้ำที่ปนเหล้าองุ่นก็ยังถูกสุขลักษณะยิ่งกว่าน้ำเปล่าซึ่งมักทำให้ผู้ดื่มเป็นโรคอหิวาต์ ดังนั้น ในเวลาต่อมาน้ำที่มีเหล้าองุ่นปนจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า aqua vitae ซึ่งแปลว่า วารีแห่งชีวิต
ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 สังคมโรมันนิยมดื่มเหล้าองุ่นมาก จึงมีธุรกิจเหล้าองุ่นทั่วอาณาจักร ผู้เฒ่า Pliny เป็นนักชิมเหล้าองุ่นนามอุโฆษที่ได้รายงานว่า ชาวโรมันนิยมเติมน้ำในเหล้าองุ่น และบางครั้งก็ใช้น้ำทะเลปน เพื่อเพิ่มรสเหล้าองุ่น และในบางโอกาสก็ใส่เกล็ดหิมะลงไปด้วย เพื่อให้เหล้าองุ่นเย็น และบางคนชอบเติมน้ำผึ้ง สมุนไพร และเครื่องเทศเพื่อช่วยขจัดรสกรดของเหล้าองุ่น
ในอังกฤษความนิยมดื่มเหล้าองุ่นมีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน ปี 1587 เมื่อ Sir Francis Drake ซึ่งเป็นจอมสลัดหลวงได้ยกทัพเรือ 31 ลำ บุกอ่าว Cadiz ของสเปน ซึ่งกำลังเตรียมจะรุกรานอังกฤษ การโจมตีแบบสายฟ้าแลบของ Drake ทำให้กองเรือสเปนถูกทำลายอย่างราบคาบ และทหารอังกฤษได้บุกยึดไหเหล้าเชอร์รี่ของสเปนได้ 2,900 ไห การเฉลิมฉลองชัยชนะด้วยการดื่มเหล้าเชอร์รี่ที่ปล้นมาทำให้คนอังกฤษมีประเพณีดื่มเหล้าเชอร์รี่นับแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยทั่วไปเหล้าเชอร์รี่มีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างจากเหล้าองุ่นทั่วไป จึงสามารถคงคุณภาพได้นานและเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับการนำติดตัวเวลาเดินทางเรือ เพราะสามารถคลายบรรยากาศเครียดในเรือได้ ดังที่นักสำรวจคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน ต่างก็บรรทุกเหล้าเชอร์รี่ไปสำรวจอเมริกาและรอบโลก เมื่อปี 1492 และปี 1519 ตามลำดับ
นอกจากจะเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในสังคมตะวันตกแล้ว แอลกอฮอล์ยังมีบทบาทสำคัญในศาสนาด้วย คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงการสำแดงอภินิหารของพระเยซูว่าทรงบันดาลน้ำธรรมดาให้เป็นเหล้าองุ่นเพื่อให้สานุศิษย์ของพระองค์ได้ดื่ม โมเสสก็เคยขู่บุตรชายที่เมาสุราว่าจะฆ่าให้ตาย เป็นต้น
ตามปกติแอลกอฮอล์มีหลายชนิด แต่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกแอลกอฮอล์นั้น นักเคมีเรียก ethyl alcohol หรือ ethanol ซึ่งมีพบในส้มและมะเขือเทศ และเราดื่มแอลกอฮอล์ชนิดนี้ได้ แต่ถ้าการบริโภคแอลกอฮอล์ methanol จะทำให้ตาบอด ด้าน ethylene glycol นั้สามารถนทำให้น้ำไม่เป็นน้ำแข็งและ isopranol เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างผิว
วงการนักดื่มมีชื่อเรียกแอลกอฮอล์ต่างๆ กัน เช่น ชาวรัสเซียดื่ม Vodka ชาวอังกฤษดื่ม gin คนไอริชดื่มเหล้ามหานิยม whiskey คนเนเธอร์แลนด์ดื่ม jenever และคนเยอรมันนิยมดื่ม branntwein
หลุยส์ ปาสเตอร์ คือนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่พบว่า ยีสต์ (yeast) ซึ่งเป็นราเซลล์เดียวสกุล Saccharomyces ดำรงชีพอยู่ได้โดยการบริโภคน้ำตาลที่เกิดจากการหมักแล้วขับแอลกอฮอล์ออก จนกระทั่งความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เพิ่มถึง 14% และน้ำตาลที่มีในแป้งหมด ตัวยีสต์จะตายเป็นการสิ้นสุดของกระบวนการหมัก เพราะความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่เพิ่มอีกต่อไป ในปี ค.ศ.1240 ชาวอาหรับพบวิธีทำแอลกอฮอล์ให้มีความเข้มข้นสูงกว่า 14% ได้โดยการต้มแอลกอฮอล์ที่มีน้ำเจือ เพราะไอน้ำที่ได้มีแอลกอฮอล์เจือ ดังนั้นเวลาไอน้ำถูกควบแน่นเป็นหยดน้ำ น้ำที่ได้จึงมีแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งมีผลทำให้ผู้คนที่นิยมดื่มแอลกอฮอล์จนตกเป็นทาสของแอลกอฮอล์ แต่ถ้าเขาดื่มเพียงน้อยนิดก็ไม่เป็นอันตรายและมีผลดี ทั้งนี้เพราะประสาทของผู้ดื่มจะผ่อนคลาย และรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่บางคนอาจรู้สึกง่วง สำหรับคนที่ดื่มระดับปานกลาง โดยทั่วไปจะรู้สึกกล้าบ้าบิ่น และมั่นใจสูงจนเห็นช้างเท่าหมู ส่วนคนที่ดื่มติด มีสิทธิ์เป็นโรคหลายชนิด เช่น โรคหายใจล้มเหลว (asphyxiation) โรคตับอักเสบ (pancreatitis) โรคกระเพาะตกเลือด (hemorrhagic gastritis) โรคกังวล (anxiety) และโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (cardiac arrhythmia) เป็นต้น
ปราชญ์โสกราตีสเคยปรารภว่า การดื่มแอลกอฮอล์จนติด นอกจากจะทำให้ผู้ดื่มเสียชีวิตอย่างทารุณแล้ว ในขณะที่ยังมีชีวิต เขาจะเป็นคนที่บุคลิกภาพบกพร่องมาก เพราะแอลกอฮอล์ในร่างกาย ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปที่กระเพาะและลำไส้เล็ก ส่วนน้อยจะถูกขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะ เพราะโมเลกุล ethanol สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้ดี ดังนั้นจึงเคลื่อนที่ไปตามเส้นเลือดได้สะดวก และเมื่อแอลกอฮอล์มีแคลอรีสูง คือ ประมาณ 7.1 แคลอรี/กรัม ดังนั้นมันจะถูกกระเพาะและลำไส้ดูดไปอย่างรวดเร็ว แต่ถูกกำจัดออกไม่ได้ เพราะร่างกายมีแต่ตับเท่านั้นที่สามารถกำจัดแอลกอฮอล์ได้ โดยมีเอนไซม์พิเศษที่สามารถแปลง ethanol เป็นสารพิษ acetaldehyde ที่เวลาถูก oxidize จะกลายเป็น acetate คาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ โดยทั่วไปตับที่มีสุขภาพดีสามารถเปลี่ยน ethanol ได้ในอัตรา 10 กรัม/ชั่วโมง ดังนั้นการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่มีอาหารเต็มกระเพาะ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าร่างกายอย่างช้าๆ แต่ถ้ากระเพาะของผู้ดื่มว่างเปล่า แอลกอฮอล์จะไหลสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 4 นาที แอลกอฮอล์จะสามารถไหลขึ้นถึงสมอง ซึ่งมีผลทำให้สายตาของผู้ดื่มพร่ามัว สติไม่เฉียบคม และร่างกายจะสูญเสียสมรรถภาพในการทรงตัว ในกรณีที่มีการดื่มมากและเร็ว ร่างกายจะดูดซึมแอลกอฮอล์ไม่ทัน และตับก็ไม่สามารถกำจัดพิษแอลกอฮอล์ได้หมด และพิษนี้จะไปทำร้ายเซลล์สมองจนผู้ดื่มเป็นลมหมดสติ โดยทั่วไปร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันภัยจากแอลกอฮอล์ ซึ่งจะกระตุ้นให้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรก รู้สึกคลื่นไส้และอาเจียน แต่ถ้าไม่อาเจียน แอลกอฮอล์ก็จะไปทำร้ายเซลล์ของร่างกายต่อ ดังนั้นแม้จะสิ้นสติไปแล้วก็ตามและถ้าตับมีสารพิษสะสมมากจะทำงานไม่ได้ และคนๆ นั้นจะเป็นโรคตับวายหรือมะเร็งตับ
แม้ใครๆ ก็รู้ว่าแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่ให้โทษ แต่คนทั่วโลกก็ยังนิยมดื่ม สถิติการดื่มแสดงว่า คนเยอรมันดื่มเบียร์ปีละ 15,000 ล้านลิตร และคนฝรั่งเศสดื่มเหล้าองุ่นปีละ 8,000 ล้านลิตร การที่แอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนนานาชาติ เพราะสังคมมักคิดว่าแอลกอฮอล์ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี และการมาดื่มร่วมกันเป็นการแสดงออกของความเป็นมิตร ในสังคมเกาหลี และญี่ปุ่นผู้ชายทุกคนต้องร่วมวงดื่มเหล้ากันหลังชั่วโมงทำงาน ใครที่ปฏิเสธคำเชิญของผู้บังคับบัญชา ก็อย่าหวังเลยว่าจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ประเพณีนี้มีส่วนทำให้คนญี่ปุ่นและคนเกาหลีหลายคนติดแอลกอฮอล์ เนื่องจากถูก “บังคับ” ให้ดื่มบ่อยและมาก แต่การติดแอลกอฮอล์เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความกังวล ความกระวนกระวายใจที่เรื้อรังจนอาจผลักดันให้คนหันไปพึ่งพาแอลกอฮอล์ เพราะผู้ดื่มคาดหวังจะได้ลืมความทุกข์ คนที่อารมณ์อ่อนแอ คนที่ขมขื่นกับชีวิต คนขี้ระแวง และคนที่ถูกสังคมปฏิเสธมักหาทางออกด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมักพบว่าแอลกอฮอล์สามารถย้อมใจให้เขามีความรู้สึกมั่นใจและมีความกล้าหาญขึ้น แต่นี่ก็มิได้หมายความว่าการติดสุราจะทำให้คนทุกคนเป็นปัญหาของสังคม อดีตนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลของอังกฤษแม้จะดื่มจัด แต่ก็สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ดี นักประพันธ์รางวัลโนเบล เช่น Sinclair Lewis, William Faulkner, Ernest Hemingway, John Steinbeck, Eugene O’Neill และสุนทรภู่ของเรา แม้จะติดสุราแต่ก็สามารถสร้างสรรค์วรรณกรรมระดับที่คนที่ไม่ดื่มสุราเลยก็ทำไม่ได้
ในการศึกษาสาเหตุที่ทำให้คนติดแอลกอฮอล์ E. Noble แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส ได้รายงานในวารสาร Journal of the American Medical Association เมื่อปี 2003 ว่าเพราะร่างกายมียีน (gene) สุรา ปัจจุบันเรามีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า อาการติดสุรามิได้มาจากยีนเพียงยีนเดียว ปัจจัยด้านประเพณี สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดู ก็มีส่วนทำให้คนติดสุราได้ ในการทดลองให้เด็กที่มีบิดามารดาติดสุราดื่มแอลกอฮอล์ ได้พบว่าสมองของเด็กกลุ่มนี้ทำงานแตกต่างจากสมองเด็กที่มีพ่อแม่ไม่ติดสุรา การศึกษานี้ยังแสดงว่า ผู้ชายติดสุราง่ายและมากกว่าผู้หญิง ซึ่งคงเป็นเพราะผู้ชายถูกกดดันจากสังคมรอบข้างให้แสดงความเป็น “แมน” คือต้องดื่มเหล้ามากและบ่อย พันธุกรรมจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดแอลกอฮอล์ ส่วนสาเหตุอื่นๆ อาจมาจากความล้มเหลวในการปรับตัวและการควบคุมอารมณ์ เวลาได้รับความกดดันจากภายนอก
โลกทุกวันนี้มีการแข่งขันกันตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกที่รู้ว่าสตรีหรือเด็กก็มีโอกาสติดสุราได้ กรณีสตรีมีครรภ์ถ้ายังดื่มแอลกอฮอล์ ทารกในครรภ์อาจถูกแอลกอฮอล์ทำร้ายจนร่างกายผิดปกติ เช่น ซูบผอม มีสติปัญญาต่ำ พิการ หรือมีช่วงความสนใจสั้น อาการผิดปกตินี้แพทย์เรียก Fetal Alcohol Syndrome (FAS) ซึ่งผู้หญิงทุกคนสามารถเลี่ยงได้ ถ้าเลิกดื่มแอลกอฮอล์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ และถ้าสตรีมีครรภ์ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมของตนเอง เธอก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เลยตลอดเวลาที่เธอให้ลูกกินนม
ในวารสาร Alcoholism: Clinical and Experimental Research ฉบับที่ 24 หน้า 644 ปี 2005 D. Higley แห่ง National Institute of Alcohol Abuse and Alcoholism ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานความเกี่ยวข้องระหว่างชีวิตในวัยเด็กกับการติดสุราในวัยผู้ใหญ่ว่า ในการทดลองกับลูกลิงพันธุ์ rhesus macaque 97 ตัว โดยได้แยกลูกลิง 40 ตัวจากพ่อและแม่ลิงตั้งแต่เกิด และ 57 ตัวโดยปล่อยให้พ่อแม่ลิงเลี้ยงตามปกติ เขาได้พบว่า เมื่อลูกลิงมีอายุ 6 เดือน เขาได้สร้างบรรยากาศที่ทำให้ลูกลิงเครียด และได้เห็นร่างกายลูกลิงที่พ่อแม่ลิงไม่เลี้ยงหลั่งฮอร์โมน cortisol ออกมามากกว่าลิงที่พ่อแม่เลี้ยงถึง 25% และเมื่อลูกลิงเหล่านั้นอายุ 3-5 ปี เขาปล่อยให้ลูกลิงดื่มแอลกอฮอล์อย่างอิสระเสรี และพบว่า ลูกลิงส่วนใหญ่จะดื่มแต่พอประมาณ และ 20% จะดื่มน้อย แต่มีเพียง 20% ที่ดื่มจนเมา และ Higley ได้พบว่า ลิงกลุ่มหลังนี้มีการหลั่งฮอร์โมน cortisol มาก ไม่ว่าจะถูกพ่อแม่ เลี้ยงหรือไม่ก็ตาม เขาจึงคิดว่าถ้าการทดลองนี้เป็นจริงในกรณีลิง และสามารถเป็นจริงได้กับกรณีคน คือร่างกายเด็กคนใดมีฮอร์โมน cortisol มาก เด็กคนนั้นมีโอกาสติดสุรามาก ดังนั้นจึงควรได้รับการรักษาหรือป้องกันการติดแอลกอฮอล์โดยเข้ารับการอบรมวิธีกำจัดความเครียด แต่ข้อสรุปนี้ใช่ว่าจะเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการคนอื่นๆ เพราะหลายคนคิดว่าเวลาเครียดคนเราไม่จำเป็นต้องหาทางออกโดยการดื่มสุราเพียงวิธีเดียว
อย่างไรก็ตาม การวิจัยก็ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า เหตุใดเด็กที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่น บางคนจึงติดสุรา ในกรณีครอบครัวที่มีปัญหา เหตุใดจึงไม่มีทายาทขี้เหล้า สถิติที่ได้จากการสำรวจแสดงว่าเด็กที่มีบิดามารดาติดสุรา มักเป็นเด็กที่มีปมด้อย ทำให้ไม่กล้าแสดงออก มุมมองชีวิตของเขาจะแคบและไม่สนุก สำหรับคนที่ติดสุรา โอกาสรักษาให้หายขาดขึ้นกับว่าเขาติดสุรามาก น้อย หรือนานเพียงใด การใช้วิถีชีวิตของเขาเอื้อต่อการรักษาเพียงใด แต่ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องยอมรับก่อนว่าตนกำลังป่วย ซึ่งถ้าจะให้หายขาด เขาต้องจริงจังในการช่วยตนเองอย่างเต็มที่ และต้องรู้จักหักห้ามใจไม่ให้หันไปดื่มแอลกอฮอล์อีกทุกครั้งที่รู้สึกเครียด และถ้ารู้สึกกระหายแอลกอฮอล์มากก็ให้กินยา เป็นการทดแทนแอลกอฮอล์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้ารับการทำจิตบำบัดไปพร้อมกันด้วย
การดื่มแอลกอฮอล์มาก จะทำร้ายทั้งร่างกายตนเองและชีวิตจิตใจของคนรอบข้าง ดังจะเห็นได้จากกรณีคนที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ซึ่งอาจเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุรถคว่ำ และคนที่ดื่มมากเกินไปมักทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือผิดพลาด ส่วนคนที่ดื่มจนสิ้นสติในเวลามีงานก็มักถูกสังคมตำหนิติเตียนและดูแคลน หนทางหนึ่งในการป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นทาสของแอลกอฮอล์ คือ ควรดื่มเวลาท้องไม่ว่าง หรือควรปฏิเสธเหล้า แต่ดื่มเบียร์หรือเหล้าองุ่นแทน พยายามไปงานเลี้ยงให้สายหน่อย เพื่อจะได้มีเวลาดื่มน้อยลง และเวลาดื่มควรใช้แก้วขนาดเล็ก ถ้าดื่มไม่หมดแก้วก็ไม่ควรขอให้บริกรรินเติม และควรรู้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์แต่เพียงน้อยๆ จะช่วยต่อชีวิตได้ แต่ถ้าดื่มมากจะเป็นยาพิษ
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
************************************