xs
xsm
sm
md
lg

ชีววิทยาของก็อดซิลล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“Gojirasaurus Quayi” เป็นไดโนเสาร์จากยุคไทรแอสซิก ขุดพบฟอสซิลในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ผู้ค้นพบ คือ Kenneth Carpenter นักบรรพชีวินซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของก็อดซิลล่าจึงตั้งชื่อมันว่า “Gojira” ตามสำเนียงแบบญี่ปุ่น ไดโนเสาร์ชนิดนี้สูงราว 5.5 เมตร เดินด้วยสองขาหลัง มีกระโหลกขนาดใหญ่พร้อมเขี้ยวซี่โตกินเนื้อเป็นอาหาร
โบราณว่าดูหนังดูละครแล้วให้ย้อนดูตัว นักวิทยาศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกไม่ได้เห็นก็อดซิลล่าเป็นแค่สัตว์ประหลาดไร้สาระ แม้มันจะอาละวาดได้แค่บนหน้าจอ แต่ก็อดซิลล่ากลับสร้างคำถามสนุกๆ เชื่อมโลกจินตนาการและโลกวิทยาศาสตร์มาตลอด 60 ปี

หลายวันก่อนนายปรี๊ดถูกเพื่อนสนิทลากไปดูหนังเรื่องก็อดซิลล่าแบบงงๆ ถึงแม้ไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์หนังสัตว์ประหลาด แต่ดูจบ แล้วก็สนุกดี แถมถูกจริตนักชีววิทยายิ่งนัก เพราะโครงสร้างหลักๆ ของหนังดำเนินเรื่องด้วย “พฤติกรรมของสัตว์ประหลาด” ซึ่งผู้กำกับอ้างอิงจากสัตว์ที่มีตัวตนอยู่จริง จนหลายคนในโลกออนไลน์ก็เห็นคล้ายกันว่าหนังภาคนี้เหมือนไปนั่งดูสารคดีสัตว์เลย

เอาเป็นว่านายปรี๊ดจะไม่เปิดเผยเนื้อหาให้คอหนังโวยว่า “ฉันยังไม่ได้ดูอย่ามาสปอยล์” อีกอย่างก็ไม่ได้ค่าโฆษณาสักบาท แต่ประเด็นที่ชวนสะกิดให้คุยวิทย์ ก็คือนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากไม่ได้คิดว่าก๊อดซิลล่าไร้สาระ เป็นแค่สัตว์ประหลาดที่สักแต่อาละวาดระเบิดภูเขา พ่นไฟเผาตึกรามบ้านช่อง แต่หลายคนกลับมีคำถามมากมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวมัน เช่น การเกิดสัตว์ประหลาดที่วิวัฒนาการข้ามขั้นแบบนี้จะมีจริงได้ไหม มันมีโอกาสเกิดลูกหลานไดโนเสาร์ตามคนมาป่วนโลกจริงหรือเปล่า?

คำว่า “Hyper Evolution” หรือ “วิวัฒนาการก้าวกระโดด” มักถูกอ้างถึงในนิยาย หนังสือการ์ตูน และหนังหลายเรื่อง เช่น ก็อดซิลล่า หนังอวกาศสตาร์เท็ค และการกลายพันธุ์ของพวกฮีโร่แบบ x-men สไปเดอร์แมน แคทวูแมน นี่ก็ถูกอ้างว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ข้ามขั้นแบบไม่ปกติ คือ ลัดวงจร ลดเวลา หรือก้าวข้ามสายแบบที่ในธรรมชาติคงจะไม่มีทางเกิด ก็อดซิลล่าและเพื่อนพองสัตว์ประหลาดก็ถูกอ้างอิงว่าอาจเกิดวิวัฒนาการก้าวกระโดดจากผลของสารกัมมันตรังสี

ในธรรมชาตินักวิทยาศาสตร์เคยสงสัยเหมือนกันว่า กระบวนการเกิดวิวัฒนาการ หรือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสัตว์ชั้นสูงนั้นเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน การเกิดวิวัฒนาการก้าวกระโดด จะพบได้จริงหรือเปล่า? กรณีศึกษาที่ดูจะมีหน้าตาใกล้เคียงกับก็อดซิลล่ามากที่สุดน่าจะการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของ “กิ้งก่า” ซึ่งเป็นญาติห่างมากๆ ของมันที่อาศัยในหมู่เกาะของทะเลเอเดรียติก (Adriatic Sea) ประเทศอิตาลี
งานวิจัยนี้เกิดแบบไม่ตั้งใจ และเกี่ยวข้องกับสงครามด้วย

ในปี 2514 ดันแคน ไอร์สชิค (Duncan Irschick) ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา ที่ University of Massachusetts Amherst ได้ทดลองย้ายกิ้งก่าอิตาเลียนวอลล์ (Italian wall lizard) หรือ Podarcis sicula จำนวน 5 คู่ จากเกาะ Pod Kopiste ไปไว้ที่เกาะใกล้ๆ แต่มีขนาดเล็กกว่า ชื่อเกาะ Pod Mrcaru หลังจากนั้นก็เกิดสงครามขึ้นในโครเอเชีย ทำให้ ดร.ไอร์สชิค กลับมาทำงานบนเกาะไม่ได้ ต้องทอดทิ้งกิ้งก่าเหล่านั้นไว้ตามยถากรรม

จนเวลาผ่านไป 36 ปี เมื่อ ดร.ไอร์สชิค กลับขึ้นเกาะได้อีกครั้ง ก็พบว่ากิ้งก่าลูกหลานนับพันของกิ้งก่าบนเกาะใหม่ “มันเปลี่ยนไป” เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกาย และพฤติกรรมอย่างมโหฬาร กิ้งก่าเหล่านั้นมีหัวที่ใหญ่และยาวขึ้น มีแรงกัดที่แรงขึ้น และที่น่าตกใจที่สุดคือ “มันเปลี่ยนจากกินแมลงมากินพืชเป็นอาหารหลัก” ทำให้โครงสร้างของทางเดินอาหารเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีส่วนของลำไส้ตอนต้น (cecal valves) ที่ขยายขนาดขึ้นเพื่อรองรับการหมักเส้นใยอาหาร

เมื่อเปรียบเทียบดีเอ็นเอ ก็พบว่ากิ้งก่าบนเกาะใหม่ มีลักษณะพันธุกรรมเหมือนเปี๊ยบกับกิ้งก่าบนเกาะเก่า ไม่มีใครเล่นตลกเอากิ้งก่าจากที่ไหนสลับ หรืออพยพมาจากไหนแน่นอน แต่แรงขับสำคัญก็คือ “อาหาร” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะบนเกาะเก่ามีแมลงจำนวนมากกิ้งก่ารุ่นเดิมจึงเป็นสัตว์กินสัตว์ไล่จับแมลงกินได้เต็มที่ แต่บนเกาะใหม่มีแมลงน้อยแต่มีพืชปริมาณมากกิ้งก่าจึงต้องปรับโครงสร้างให้อยู่รอดกับแหล่งอาหารชนิดใหม่ นักชีววิทยาเรียกการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและพฤติกรรมแบบก้าวกระโดดนี้ว่า “Rapid Evolution” ซึ่งดูจะใกล้เคียงกับ “วิวัฒนาการก้าวกระโดด” ที่อ้างถึงในหนังได้มากที่สุด
ก็อดซิลล่าน่าจะเป็นสาวโสด แต่ครั้งหนึ่ง.โตโฮเคยให้ก็อดซิลล่ามีลูก ในภาคที่มีชื่อเรื่องว่า Godzillas Son (ปี 2510) ความเป็นจริงสัตว์ตัวเมียออกลูกได้โดยไม่ต้องมีคู่ด้วยวิธีการพาร์ธีโนเจเนซิส (Parthenogenesis) ที่ชัดเจนที่สุดก็คือผึ้ง ส่วนสัตว์เลื้อยคลานแบบก็อดซิลล่าก็มีพบว่าแย้บางชนิดที่พบในเวียดนามและไทย สามารถออกไข่ได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวผู้เช่นกัน
ก็อดซิลล่าเป็นสัตว์ประหลาดน่าหลงใหลสำหรับนักบรรพชีวินผู้ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตโบราณด้วยเช่นกัน เพราะมันเปรียบเสมือนไดโนเสาร์ร่วมสมัยที่คนทั่วไปรู้จักมานานกว่า 60 ปีนับตั้งแต่ บ.โตโฮ สร้างมันขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2497 จนเป็นสะพานเชื่อมโยงข้อมูลวิทยาศาสตร์และโลกจินตนาการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดร.เคนเนธ คาร์เพนเตอร์ (Kenneth Carpenter) เป็นแฟนพันธุ์แท้ที่หลงก็อดซิลล่าหัวปักหัวปรำ จนตั้งชื่อสกุลไดโนเสาร์ที่ตนเองค้นพบว่า “Gojirasaurus หรือ Coelophysis” ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมสาแลนด์ส (Mesalands Dinosaur Museum) ในนิวเม็กซิโก ดร.คาร์เพนเตอร์ เสนอว่าคนทั่วไปมักคิดก็อดซิลล่าน่าจะดูคล้าย ทีเรกซ์ หรือ ไทแรนโนซอรัส มากที่สุด แต่ความจริงแล้วถ้าก็อดซิลล่ามีบรรพบุรุษเป็นไดโนเสาร์จริงแต่ผสมด้วยการกลายพันธุ์จากสารกัมมันตรังสี ต้นกำเนิดของมันน่าจะเป็นไดโนเสาร์ในสกุล Ceratosaurus ซึ่งมีขนาดใหญ่ยักษ์ ขาหน้าสั้น ไล่ล่าเหยื่อด้วยสองขาหลังอันแข็งแรง และมี “แผ่นกระโดง” ที่งอกจากกระดูกสันหลังเหมือนก็อดซิลล่า ต้นแบบ ซึ่งภายหลังความคิดเห็นนี้ก็ถูกนำไปสร้างเป็นก็อดซิลล่าสไตล์อเมริกัน ที่ออกถล่มเมืองด้วยหุ่นเพรียวลม แลดูเหมือนไดโนเสาร์มากกว่าก็อดซิลล่าอวบอ้วนน่ากอดแบบดั้งเดิม

ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับก็อดซิลล่า เช่น โครงสร้างของก็อดซิลล่าที่ดูวิเคราะห์ด้วยหลักกลศาสตร์ว่าหากมันมีร่างกายใหญ่โตขนาดนั้นมันควรจะมี “กระดูกหัวเข่าและหน้าแข้ง” แข็งแรงขนาดไหน โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เทียบกับฟอสซิลของไทแรนโนซอรัส รวมไปถึงแบบจำลองเส้นเลือดและระบบประสาท ที่มีคำถามว่าสัตว์ตัวเล็กกว่าภูเขานิดนึงแบบนั้น ควรจะมีระบบไหลเวียนเลือดและแรงดันเลือดภายในอย่างไรให้เลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หรือระหว่างถล่มตึกไปว่ายน้ำมาความดันเลือดจะไม่ระเบิดสมองตัวเองไปเสียก่อน แล้วถ้าถูกยิงที่ปลายหางกี่วินาทีสมองถึงจะรับรู้ (นั่นก็อาจจะเป็นคำตอบว่าทำไมก็อดซิลล่าดูไม่ค่อยจะเจ็บปวด หรือทำไมตายยากตายเย็นอยู่ตั้งกี่ภาคแล้ว มันอาจจะรู้สึกช้าก็ได้ ...อันนี้นายปรี๊ดพูดเอง แหะๆ)

การศึกษาที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่นักสัตววิทยา และนักบรรพชีวินวิทยา ทำกันเป็นปกติ เพราะในเมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหลายล้านปี เจอแต่ซากฟอสซิล ทางเดียวที่จะตอบคำถามพวกนี้ได้คือการเทียบเคียงกับการศึกษาด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตปัจจุบัน เช่น พวกโซโรพอดหรือไดโนเสาร์กินพืชคอยาวขนาดยักษ์ก็ต้องเทียบเคียงกับช้าง หรือยีราฟ

ในบ้านเราเองนักบรรพชีวินวิทยาก็ต้องทำงานร่วมกับวิศวกร นักสัตววิทยา และนักฟิสิกส์ เพื่อนั่งดูช้างเดิน แล้วจำลองช่วงก้าวและน้ำหนักกดเพื่อพิสูจน์ขนาดของภูเวียงโกซอรัสเช่นกัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ นายปรี๊ดอยากสะกิดใจคนที่สนใจวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะผู้ปกครองและครูวิทยาศาสตร์ ให้ลองใช้สัตว์ประหลาดหรือหนังสนุกๆ มาปรับเพื่อดึงดูดเด็กๆ เข้าสู่บทเรียนบ้าง ในต่างประเทศบทความเรื่องชีววิทยาจากก็อดซิล่ามีให้เยอะมาก แต่บ้านเราเงียบกริบ การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เด็กๆ สนใจน่าจะทำให้ห้องเรียนสนุกและใกล้ตัวมากขึ้น

บางครั้ง “มุมมองและวิธีคิดจึงอาจจะสำคัญกว่าเนื้อหาและสาระ” เพราะไม่ว่าจะก็อดซิล่า ซูเปอร์ฮีโร่ หรือตัวประหลาดอะไรก็ตาม จะไม่กลายเป็นแค่เรื่องไร้สาระ หากมันถูกเชื่อมโยงให้เห็นถึงสารสำคัญที่ซ่อนอยู่ข้างใน
“Rapid Evolution” เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลาสั้นๆ ถือเป็นหลักฐานของการวิวัฒนการที่ไม่ต้องใช้เวลานานพันๆ ปี ตัวอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารของ Italian wall lizards ในอิตาลีด้วยเวลาเพียง 30 ปี และการเปลี่ยนแปลงจงอยปากนกฟินซ์ในหมู่เกาะกาลาปากอส ที่ใช้เวลาเพียง 20 ปี เพื่อปรับตัวให้กินอาหารที่เปลี่ยนไปตามสภาวะอากาศ จากผลของปรากฏการณ์เอลนิโญ
อ้างอิง

- Carpenter, K. (1998) A dinosaur paleontologist’s view of Godzilla. In Lees, J. D. & Cerasini, M. (eds) The Official Godzilla Compendium. Random House (New York), pp. 102-106.

- University Of Massachusetts, Amherst. "Lizards Undergo Rapid Evolution After Introduction To A New Home." ScienceDaily. ScienceDaily, 18 April 2008.

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรีรวิทยาและกายวิภาคของ godzilla
- บทความ Kaiju!!! มันจะยักษ์ไปถึงไหน แล้วหน้าตามันควรเป็นยังไงกันน่ะ!?!? โดย Darth Prin http://nandamization.blogspot.com/2013/09/kaiju.html

- บทความ The science of Godzilla โดย Darren Naish http://scienceblogs.com/tetrapodzoology/2007/02/07/the-science-of-godzilla-1/

- บทความ The Science of Godzilla โดย Michael A. Dexter http://www.apeculture.com/movies/godzilla.htm

เกี่ยวกับผู้เขียน

“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น