xs
xsm
sm
md
lg

เด็กวัย 15 พัฒนาซอฟท์แวร์ตรวจยีนก่อมะเร็งทรวงอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาธาน ฮาน นักเรียนอเมริกันวัย 15 ได้รับรางวัลใหญ่จากเวที Intel ISEF จากผลงานซอฟท์แวร์ตรวจยีนก่อมะเร็ง
Intel- นักเรียนอเมริกันวัย 15 ปี คิดค้นซอฟท์แวร์ตรวจจับยีนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง คว้าเงินรางวัล 75,000 เหรียญสหรัฐฯ จากการชนะการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นาธาน ฮาน อายุ 15 ปี จากบอสตัน สหรัฐอเมริกา ผู้คิดค้นซอฟท์แวร์ที่สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงของยีนที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งทรวงอกได้รับรางวัลชนะเลิศงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ อินเทล ไอเซฟ (ISEF 2014) หนึ่งในโครงการจาก Society for Science & the Public

นาธาน กล่าวว่า เขาศึกษาจากฐานข้อมูลที่หาได้ทั่วไปถึงลักษณะของการเปลี่ยนแปลงของยีนที่มีชื่อว่า BRCA1 เพื่อที่จะ “สร้าง” ให้ซอฟท์แวร์ที่เขาพัฒนาขึ้นสามารถแยกแยะได้ว่ายีนตัวใดสามารถนำไปสู่การก่อมะเร็งได้ ซึ่งผลงานของเขามีความแม่นยำถึงร้อยละ 81 และหากเป็นการศึกษาจากยีน BRCA1 ก็จะเพิ่มความแม่นยำได้สูงขึ้นไปอีก จากแนวคิดนี้จึงทำให้เค้าได้รับรางวัลชนะเลิศพร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 75,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ กอร์ดอน อี. มัวร์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล

ขณะที่ตัวแทนจากไทย นายวันทา กำลัง และนายภัทรพงศ์ ลิมปวัฒนะ ผู้พัฒนาโครงการ “ผลของสารจากพืชบางชนิดที่มีต่อเปอร์เซ็นต์การฟักเป็นตัวของไข่และการตายของหอยเชอร์รี่ หอยทากสยาม และหอยทากยักษ์แอฟริกา” ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักเรียนไทยจากโรงเรียนพนมอดุลวิทยา อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลที่ 4 ในสาขาพฤษศาสตร์ พร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 500 เหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีผลงานทีน่าสนใจจาก เลนนาร์ท ไคลน์เวิร์ท อายุ 15 ปี จากเยอรมนี ได้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากมูลนิธิอินเทล พร้อมเงินสดมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ จากผลงานการค้นคว้าซอฟท์แวร์บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่ผู้ใช้งานสามารถวาดเส้นสายในรูปแบบต่างๆรวมถึงเส้นเว้า เส้นโค้ง เส้นตรงและทรงเรขาคณิตลงบนหน้าจอ ซึ่งเครื่องจะทำการประมวลผลและสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ตามที่ผู้ใช้งานต้องการ ซึ่งในอดีตความสามารถนี้จำเป็นต้องมีระบบประมวลผลขั้นสูงและราคาแพง

ส่วนแชนนอน ซินจิง ลี อายุ 17 ปี จากประเทศสิงคโปร์ คืออีกหนึ่งผู้ที่ได้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากมูลนิธิอินเทล พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ จากการคิดค้นตัวเร่งปฎิกิริยาเชิงไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้กับแบตเตอรี่ในอนาคต การประดิษฐ์แบตเตอรี่ที่ทำมาจาก zinc-air ที่ชาร์จไฟใหม่ได้นั้น เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์มากมายกำลังคิดค้นวิธีที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะว่าจะเพิ่มความปลอดภัยมากกว่า น้ำหนักเบากว่า และยังสามารถจุไฟได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบ lithium ion ถึง 6 เท่า ซึ่งเหมาะที่จะนำไปใช้ในรถยนต์ประเภทไฮบริด โดย ลี ค้นพบว่า ตัวเร่งกิริยาที่เธอค้นพบจากการรมควันมะเขือยาวนั้น สามารถให้พลังงานที่ยาวนาน และเสถียรกว่าตัวเร่งที่มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีราคาถูกกว่าด้วย

ด้าน นายวรภัทร ภัทรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โลกของเราต้องการนักวิทยาศาสตร์ นักคิดรวมถึงผู้ประกอบการที่พร้อมจะลงมือทำอะไรใหม่ๆ เพื่อสร้างอาชีพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และร่วมแก้ปัญหาระดับโลกที่พวกเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ อินเทล เชื่อว่าเยาวชนคือกำลังสำคัญที่จะช่วยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลกในอนาคต และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ชนะการแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนอื่นๆ ในการให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพิ่มมากขึ้น”

ปีนี้มีนักวิทยาศาสตร์เยาวชนกว่า 1,700 คน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันในงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา โดยเป็นการคัดเลือกจากเวทีการแข่งขัน 435 เวที จาก 70 ประเทศในทั่วทุกภูมิภาคและทวีปของโลก ซึ่งนอกจากการที่ได้รับรางวัลตามที่กล่าวด้านบนแล้ว ยังมีนักเรียนอีกกว่า 500 คนที่ได้เข้าผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศและยังได้รับรางวัลจากการโครงงานต่างๆ ที่เข้าประกวด รางวัลดังกล่าวรวมถึงผู้ชนะจำนวน 17 คนที่ได้รับรางวัล "Best of Category" มูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งมูลนิธิอินเทล ยังได้มอบรางวัล 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับแต่ละโรงเรียนและโครงการที่ผู้ชนะแต่ละคนเป็นตัวแทนให้อีกด้วย นอกจากนี้นักเรียนที่ชนะในการประกวดและได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิอินเทล จะมีโอกาสได้ร่วมเดินทางทัศนศึกษารวมระยะเวลา 11 วัน ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมงานการแข่งขันวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมถึงพบปะกับนักวิจัยที่อินเทล แล็บในนครเซี่ยงไฮ้ และเยี่ยมชมศูนย์วิจัยหมีแพนด้าในนครเฉิงตู
นาธานระหว่างวิ่งไปรับรางวัล

ตัวแทนนักเรียนไทย
ผลรางวัลอื่นๆ






กำลังโหลดความคิดเห็น