xs
xsm
sm
md
lg

จระเข้นะ...ไม่ใช่นักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่ขัดแย้งของการอนุรักษ์จระเข้ในฟิลิปปินส์ ภาพบนคือภาพจระเข้น้ำเค็มขนาดยักษ์ จระเข้เป็นสัญลักษณ์ของ นักการเมือง จอมตะกละ เขมือบไม่เลือกของคนฟิลิปปินส์ แต่อีกมุมหนึ่งหลายชุมชนพยายามทำความเข้าใจและต้องการอยู่ร่วมกับจระเข้ฟิลิปปินส์ สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดของโลก ภายใต้คำขวัญ Philippine crocodile: something to be proud of
ใครว่าการอนุรักษ์ไม่ใช้การตลาด นักชีววิทยาชาวฟิลิปปินส์เปลี่ยนภาพลักษณ์จระเข้ที่ถูกยัดเยียดแทน “นักการเมืองจอมตะกละ” ให้กลายเป็นจระเข้ผู้น่ารัก เพื่อให้ชุมชนเห็นความสำคัญของจระเข้สายพันธุ์เฉพาะถิ่นที่หายากที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก

สมัยนี้หลักการตลาดถูกปรับใช้ในทุกศาสตร์ หลายปีที่ผ่านมาวงการวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ก็มีตำราหลายเล่ม ที่พูดถึงการทำความเข้าใจต่อประชาชน การขายไอเดีย หรือแม้แต่วิธีสื่อสารกับนักการเมืองอย่างไร ให้เข้าใจวิทยาศาสตร์แล้วนำไปใช้ประโยชน์ถูกอย่างที่ถูกทาง (อันหลังนี้ยากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่เข้าใจแล้ว ยังชอบเอาไปใช้ผิดๆ อีกต่างหาก...เอ๊ะ...พูดอะไรออกไป!)

ประเทศที่เคยรุ่งเรืองและมีชีวิตเกี่ยวพันกับสายน้ำ แต่ต้องตกต่ำจากนักการเมืองโคตรโกงอย่างฟิลิปปินส์ มองจระเข้เป็นตัวแทนของนักการเมืองจอมตะกละ หนังสือพิมพ์ก็ชอบเล่นข่าวโคตรไอ้เคี่ยมกินคน หรือเข้ามาขโมยสัตว์เลี้ยงไปกิน สร้างความเดือดร้อน เกลียดชัง และหวาดกลัวให้กับชาวบ้านทั่วไป ถ้าเทียบกับบ้านเราคงจะคล้ายกับ “ตัว เ หี้ ย” ที่ถูกยัดเยียดให้เป็นสัญลักษณ์ของคนที่มีพฤติกรรมต่ำตม คดในข้องอในกระดูก

แต่ล่าสุดนักชีววิทยาสาวชาวฟิลิปปินส์ ชื่อ Marites Gatan Balbas หัวหน้าฝ่ายวิจัยภาคสนาม มูลนิธิ Mabuwaya Foundation ประสบความสำเร็จในการใช้หลักการตลาด “รีแบรนด์” จระเข้ฟิลิปปินส์ (Philippine crocodile; Crocodylus mindorensis) สายพันธุ์เฉพาะถิ่นที่พบเพียงแห่งเดียว และถือว่าใกล้สูญพันธุ์ที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก จนถอดภาพตัวโกงให้กลายเป็นจระเข้ที่น่ารักของชุมชนอย่างน่าชื่นใจ

รางวัล Whitley Fund for Nature award ถือเป็นรางวัลอนุรักษ์ระดับโลก เทียบเคียงได้กับ “ออสการ์สีเขียว” ที่มอบให้กับโครงการชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จแบบลงลึกระดับรากหญ้าในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ให้ดำรงอยู่บนโลกต่อไป

ในปีนี้รางวัลมอบให้แก่ชุมชนที่มีผลงานน่าสนใจ ได้แก่ ชุมชนชาวบัลกาเรียที่ลดการล่าสัตว์ในทุ่งหญ้าเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้กับนกอินทรีจักรพรรดิ และชุมชนเจ้าของปศุสัตว์ที่พยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของสิงโตในเคนย่า

จระเข้ฟิลิปปินส์ ถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เพราะในธรรมชาติมีเหลือราว 100 ตัวเท่านั้น แต่สำหรับคนทั่วไป จระเข้คือจระเข้ ไม่ได้มีป้ายแปะหัวไว้ว่า “ฉันคือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นะจ้ะ” ดังนั้น จระเข้ถึงถูกตั้งข้อรังเกียจ และถูกล่าเหมือนสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ แถมยังมีเพียงหน่วยงานเดียว คือ มูลนิธิ Mabuwaya Foundation (แปลว่า มูลนิธิคืนชีวิตจระเข้) ที่ศึกษาประชากรและวิถีชีวิตของจระเข้อย่างจริงจัง
ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

ชะตาชีวิตของจระเข้ในฟิลลิปินส์ไม่ต่างจากจระเข้ไทย เพราะมูลค่าของเนื้อและหนังแลกเงินได้มากโข จึงถูกตามล่าและลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากที่นอนครองพื้นที่ดำผุดดำว่ายทั่วไปทั้งประเทศ ตอนนี้กลับพบได้ไม่กี่แห่งในเกาะลูซอนตอนเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้บนเกาะมินดาเนา

สภานภาพของจระเข้ฟิลิปปินส์ในวงการอนุรักษ์ก็ดูจะคล้ายกับไทย เพราะประชชาชนและแหล่งทุนส่วนมากมักมองเห็นแต่ “สัตว์ดารา” ที่สวยงาม และทำการตลาดง่ายกว่า อย่าง นกอินทรีฟิลิปปินส์ นกกระตั้วฟิลิปปินส์ และเต่าทะเล แต่จระเข้ที่ดูน่ากลัวกลับได้รับการสนับสนุนน้อย และยังคงมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีสำหรับคนทั่วไป

มูลนิธิ Mabuwaya Foundation เริ่มติดตามดูแลจระเข้ 12 ตัว ตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันเพิ่มประชากรเป็น 109 ตัว และริเริ่มโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน เกี่ยวกับพฤติกรรมของจระเข้ ว่าจริงๆ แล้วเป็นสัตว์ค่อนข้างขี้อาย กลัวคน และไม่ทำร้ายใครหากไม่จวนตัว จนปัจจุบันสถิติการฆ่าจระเข้ลดลงจาก 13 ตัว ในปี 2540 จนเหลือเพียง 1 ตัว ในปี 2556

การลงพื้นที่แบบ 3 ประสาน คือ เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้นำชุมชน สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจในเด็กๆ รุ่นใหม่ ผ่านการบรรยาย ละครหุ่น และกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์จระเข้จากสัตว์อันตรายเป็นสัตว์ที่อาศัยใกล้กับคนได้ ผู้ใหญ่ในชุมชนก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมของจระเข้ รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับนักการเมืองท้องถิ่น จนมีการสร้างระบบอาสาสมัครคุ้มกันรังจระเข้ตลอด 24 ชั่วโมง และช่วยนำมาฟักเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ

ปัจจุบันจระเข้ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของ “คนโกง” กลายเป็น “ความภาคภูมิของชุมชน” ภายใต้คำขวัญ "Philippine crocodile: something to be proud of"

กลับมามองพี่ไทย เราเองก็ไม่น้อยหน้าเพราะนักวิจัยไทยก็ทำงานแบบเงียบๆ กัน อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง เช่น ปัญหาคนกับช้างป่าที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็มีนักวิจัยหลายสถาบัน และองค์กรอนุรักษ์อิสระ เข้าไปทำความเข้าใจกับชุมชนท้องถิ่น และโรงเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของช้าง แรงจูงใจในการออกมากินพืขไร่ และวิธีการผลักดันช้างเข้าป่าที่ไม่อันตราย เพื่อให้ชุมชนเข้าใจและอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสันติ แต่หลายครั้งก็น่าสงสารเพราะนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามทำงานเพื่อชุมชนกลับถูกมองว่า “ไม่ได้ทำงานวิทยาศาสตร์” ทั้งๆ ที่ใช้ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหา มีการเก็บสถิติและมีกระบวนการ ซึ่งก็น่าจะแล้วมุมมองคนแต่ละคน

เร็วๆ นี้ นายปรี๊ดได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมากใน “ฟาร์มวรานัส” ของ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ที่ศึกษาวิจัย “ตัวเหี้ย” อย่างละเอียด ทั้งการเพาะพันธุ์ อัตราการเจริญเติบโต โรค และพันธุศาสตร์ประชากร มีการรับ “อาสาสมัครวิจัยเหี้ย” ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมขุดจับตัวเหี้ยมาวัดขนาด เก็บตัวอย่างเลือดอย่างจริงจัง โดยนักวิจัยเองก็หวังว่าสักวันหนึ่ง “เหี้ย” จะไม่ใช่สัญลักษณ์ของคนไม่ดี แต่น่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นำรายได้สู่ประเทศ และมีแผนการอนุรักษ์ในธรรมาติอย่างเป็นระบบ ไม่เบียดเบียนลากไก่ชาวบ้านไปกินจนถูกตีตายอย่างไร้ค่า นายปรี๊ดก็หวังว่า วันหนึ่ง “เหี้ย” ในเชิงสัญลักษณ์อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้

การอนุรักษ์เป็นศาสตร์หนึ่งที่ต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อรองรับแนวคิดในการวางแผนควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับชุมชน การศึกษาวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะปัญหาทุกอย่างต้องการข้อมูลเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าปัญหาใหญ่หรือเล็ก ใกล้หรือไกลตัว
วิทยาศาสตร์ในชีวิตจริงคงไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ในมุมกลับกันนักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็หวังให้ประชาชนเปิดใจหันเห็นหลักฐาน และเสียงแสนแผ่วเบาของพวกเราเช่นกัน โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีหน้าที่พัฒนาประเทศ ก็อย่ามัวนอนเลียนแบบ “จระเข้ขวางคลอง” รับฟังและลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ให้บ้านเมืองกันเถอะครับ
“อาสาสมัครวิจัยเหี้ย” ณ วรานัสฟาร์ม ม.เกษตร กำแพงแสน นักวิจัยไทยก็กำลังตั้งใจช่วยกันเปลี่ยน “ตัวเหี้ย” หรือ ชื่อเพราะๆ คือ “วรานัสหรือตัวเงินตัวทอง” จากสัญลักษณ์ของความอับโชค ให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ พร้อมกับแผนการอนุรักษ์ และรักษาพันธุศาสตร์ประชากรในระยะยาว (ภาพจากคุณ รุจิระ มหาพรหม)

เกี่ยวกับผู้เขียน

“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น