xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : บุกรัง “พญาอินทรี” ค้นหาคำตอบของชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เราอยู่ในยุคที่โลกเจริญรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดด ด้วยระบบเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนในทุกด้านสาขาอาชีพ กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีนั่นเอง ทำให้โลกเกิดนวัตกรรมความเจริญทางด้านวัตถุถึงขีดสุด อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนในช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน

บันดาลให้ไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตของเรา เกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นับตั้งแต่โครงสร้างขนาดใหญ่อย่างระดับโลก ระดับประเทศ สถาบัน สังคม ไปจนถึงระดับเล็กอย่างครอบครัว

ดังนั้น “เมื่อโลกเปลี่ยน เราก็จำเป็นต้องปรับ”

ทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลก ล้วนต้องปรับตัวแปรเปลี่ยนไปตามสภาวการณ์นั้นๆ เพื่อให้เผ่าพันธุ์ของตนดำรงอยู่ได้อย่างเหมาะสมในปัจจุบัน

ในอดีตสัตว์โลกบางชนิดอย่างเช่น “ไดโนเสาร์” มันสูญพันธุ์ไปก็เพราะไม่รู้จักปรับตัว ดังที่ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการกล่าวไว้ว่า

“เผ่าพันธุ์ที่อยู่รอด ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่เข้มแข็งหรือฉลาดสุด แต่เป็นเผ่าพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เก่งที่สุด”

มาดูตัวอย่างสัตว์โลกอีกประเภท ซึ่งมีระบบวิวัฒนาการตนเองที่น่าสนใจ สัตว์สายพันธุ์นี้คือ “ยีราฟ”

นักสรีรวิทยากล่าวว่า แรกเริ่มคอยีราฟก็ไม่ได้ยาวอย่างนี้ แต่เพราะมันพยายามยืดคอให้สูงที่สุดอยู่เสมอ เพื่อที่จะกินยอดไม้ให้ได้ นานเข้ามันจึงถ่ายเทดีเอ็นเอทางพันธุกรรม จากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมากระทั่งถึงปัจจุบัน พวกมันก็ได้กินยอดไม้สมใจ เหมือนพุทธภาษิตที่ว่า

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

ในฐานะที่มนุษย์ก็เป็นสัตว์โลกอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในโลกนี้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ แต่การปรับในที่นี้อาจเพียงแค่ขยับหรือพลิกกลับก็ใช้ได้แล้ว เช่น การสลับตำแหน่งของคำภาษิตด้านบนมาเป็นแบบนี้

“ความสำเร็จอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น”

นักจิตวิทยาสมัยใหม่ค้นพบว่า เราจะพัฒนาตัวเองได้จำเป็นต้องอาศัยเหยื่อล่อ และความสำเร็จนั่นเองที่เป็นเหยื่อล่อชั้นดี ที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ทำให้เกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ขับเคลื่อนตัวเองด้วยความเพียรพยายาม เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ หรือเหยื่อล่ออันโอชะ

โลกมีสัตว์สายพันธุ์นักล่าเพียงไม่กี่ชนิด ที่มีวิธีล่าเหยื่อด้วยท่วงท่าลีลาที่สง่างาม อย่างเช่น “นกอินทรี” พวกมันเกิดมาพร้อมด้วยสัญชาตญาณความเป็นนักล่า นับตั้งแต่ลืมตามาดูโลก เรียกง่ายๆว่าพอเกิดมาปั๊บ พวกมันก็ถูกโปรแกรมเข้าสู่ระบบการฝึกตน เพื่อความเป็นนักล่าที่แข็งแกร่งสุดในฟากฟ้า

ดูการทำรังของพวกนกอินทรีแล้ว จะรู้ว่าไม่ธรรมดา สมกับความเป็นพญานก โดยมันจะนำก้อนหินมาทำเป็นรังชั้นแรก ต่อมาชั้นที่สองเป็นเศษกิ่งไม้เล็กบ้างใหญ่บ้าง พอชั้นที่สามมันจะใช้หนามอันแหลมคมมาวาง ชั้นที่สี่ใช้เศษหญ้าและใบไม้มาปู เมื่อถึงชั้นสุดท้ายมันก็สลัดขนของตนออก เพื่อใช้ปูเป็นรังอันอ่อนนุ่ม เพื่อรองรับเจ้าอินทรีตัวน้อยที่จะลืมตามาดูโลก

เมื่อลูกนกอินทรีโตมาได้ระยะหนึ่ง แม่นกก็เอาขนนกที่รองรังทิ้งไป เหลือชั้นที่สี่ ซึ่งเป็นเศษหญ้าและใบไม้ เพื่อให้ลูกของมันปรับตัว

ต่อมามันก็เอาเศษใบไม้ทิ้งไป เหลือชั้นที่สาม ซึ่งเป็นหนาม คราวนี้ลูกนกต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อเรียนรู้วิธีการอยู่ในรัง ที่เต็มไปด้วยหนามอันแหลมคม

ผ่านไปนานวัน ลูกนกอินทรีก็ปรับตัวได้โดยอัตโนมัติ จากนั้นแม่นกก็เอาหนามทิ้งไป เหลือรังชั้นที่สองซึ่งเป็นเศษกิ่งไม้เล็กบ้างใหญ่บ้าง เพื่อให้ลูกนกปรับตัวเข้ากับความแข็งกระด้างของกิ่งไม้

เมื่อถึงระยะสุดท้าย แม่นกอินทรีก็เอากิ่งไม้ทิ้งไป เหลือไว้เพียงรังชั้นแรก ซึ่งมีแต่ก้อนหิน แน่นอนว่า ธรรมชาติของหินนั้นเวลาร้อนมันก็ร้อนมาก เวลาหนาวก็จะเย็นมากเช่นกัน ทำให้คราวนี้ลูกนกต้องปรับตัวขนานใหญ่อีกครั้ง เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

และแล้วเมื่อปีกกล้าขาแข็ง ก็ถึงเวลาเหมาะสมที่แม่นกอินทรีจะพาลูกๆไปฝึกบิน ไม่แปลกใจเลยที่ทำไมอินทรีจึงได้มาเป็น “ราชานก” เหินบินอยู่ในเวหาเหนือบรรดาวิหคใด

ทั้งหมดนี้คือ กระบวนการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมของ “พญาอินทรี”

โยงกลับมาที่ชีวิตจริงของผู้คนในปัจจุบัน เมืองไทยสมัยนี้เปลี่ยนไปมาก เนื่องจากกระแสอันเชี่ยวกรากของวัฒนธรรมฝั่งตะวันตกหลากเข้ามา ทำให้พ่อแม่สมัยนี้อบรมสั่งสอนลูกยากขึ้น เด็กไทยสมัยนี้มักอ้างว่า พ่อแม่เชย โบราณ ไม่ทันสมัย ในขณะที่พวกเขาอินเทรนด์ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

แต่สิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าเมืองไทยจะอยู่ในยุคสมัยใดก็คือ เด็กไทยยังแบมือขอเงินพ่อแม่ใช้ ต่างจากเด็กฝรั่งที่พอโตมาหน่อยก็ออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง อยากได้อะไรก็ซื้อเอง

นี่คือความแตกต่างระหว่างเด็กไทยกับเด็กฝรั่ง ประเด็นนี้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว ที่พ่อแม่ต้องตอบรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เปิดใจสยายปีกของตัวเองให้กว้าง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกๆ ออกไปเผชิญโชคหาเงินทำงานด้วยตัวเอง

“ถึงเวลาเปิดประตูครอบครัวสังคมไทย ออกสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกแล้ว!”

ตามธรรมชาติของนกอินทรีนั้น เวลาออกล่าเหยื่อมันจะบินสูง มองได้ไกลด้วยสายตาที่เฉียบคม ทุกครั้งที่โฉบลงมายังเป้าหมายต้องแม่นยำและสง่างาม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สัตว์ปีกทุกตัวจะบินได้อย่างอินทรี เช่นเดียวกันสังคมไทยวันนี้ ก็ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะเลี้ยงลูกให้เป็นพญาอินทรีได้ทุกคน หากเรายังมีจิตสำนึกกันแบบ “ลูกครึ่ง” คือจะเป็นฝรั่งก็ไม่ใช่ จะเป็นไทยแท้ก็ไม่เชิง

พักประเด็นเรื่องเปิดประตูครอบครัว มาสู่เรื่องส่วนตัวกันบ้าง ลองพิจารณาประโยคต่อไปนี้ จะช่วยยกระดับจิตใจเราให้ออกจากความอ่อนแอ ในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และนั่นก็คือ...

“จงอยู่กับคนที่ใช่ อยู่ใกล้กับผู้ชนะ”

นั่นหมายถึง เราควรคบหาสมาคมกับคนคิดบวก และมุ่งเป้ามาที่ความสำเร็จเท่านั้น อย่างนี้แหละถือว่า “บินไปกับนกอินทรี” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะบินไปกับพญาอินทรีได้ หากตนเองยังคุ้ยเขี่ยดินกินแบบไก่

ประเด็นก็คือ อยู่ห่างๆคนที่ไม่ไปไหน ย่ำต๊อกวนเวียนอยู่กับที่ และที่เหนืออื่นใดคือ อยู่ให้ห่างคนที่คิดลบหรือคิดอกุศล

ในมงคลสูตรพระพุทธองค์ถึงกับบัญญัติ “การไม่คบคนพาล” เป็นมงคลอันสูงสุดในข้อแรก

จำไว้ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเราก็ตาม อย่ายอมแพ้ อย่าหยุดวิวัฒน์พัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้ เพราะความรู้จะช่วยสร้างปีกอันแข็งแกร่งให้เราโบยบินไปบนท้องฟ้าในโลกแห่งความจริง เฉกเช่นนกอินทรี”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย ทาสโพธิญาณ)

กำลังโหลดความคิดเห็น