xs
xsm
sm
md
lg

ดัน “ยาต้านมาลาเรีย” ไทยสังเคราะห์เอง ลงทดลองระดับคลินิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. และ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กับตัวอย่างโครงสร้างยาต้านมาลาเรีย (ในมือ) และโครงสร้างเอนไซม์เป้าหมายในการโจมตี (ในกล่อง)
หลังจากศึกษาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทีมวิจัยไทยได้ “ยาต้านมาลาเรีย” สำหรับเชื้อดื้อยา ที่ผ่านการทดลองความเป็นพิษในสัตว์ และมั่นใจว่ายาได้ผล เหลือเพียงการทดลองระดับคลินิกก่อนได้ใช้จริง เตรียมลงนามความร่วมมือกับกองทุนยาต้านมาลาเรียจากเจนีวาในงานประชุมวิชาการที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 1 พ.ค. นี้

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรียของไทย และเป็นผู้นำทีมวิจัยในการพัฒนาสารต้านมาลาเรียชนิดใหม่ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า ขณะนี้ทีมวิจัยได้พัฒนาสารต้านมาลาเรียมากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ชื่อ P218 ที่ผ่านการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการและความเป็นพิษของยาในสัตว์ทดลองแล้ว และตอนนี้เตรียมทดสอบในระดับพรีคลินิก

ทั้งนี้ สวทช. จะลงนามความร่วมมือกับกองทุนยามาลาเรีย (Medicine for Malaria Venture: MMV) จากเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในการลงทุนวิจัยยาต้านมาลาเรียดังกล่าวให้ได้รับการทดสอบระดับพรีคลินิก ภายในการประชุมวิชาการมาลาเรียโลก (World Malaria Conference 2014) ประจำปี 2557 ที่ สวทช.เป็นเจ้าภาพจัดงานในวันที่ 1 พ.ค. 57 เวลา 09.00-12.00 น. ณ โรงแรมเซ็นจูรีปาร์ก

สำหรับสาร P218 นั้น ดร.ยงยุทธ อธิบายว่า เป็นสารสังเคราะห์ที่ได้จากการศึกษาโครงสร้างเอนไซม์ของเชื้อมาลาเรีย DHFR ซึ่งหลังจากตกผลึกเอนไซม์ดังกล่าวแล้วส่องดูโครงสร้างด้วยรังสีเอ็กซ์ จึงได้ออกแบบโครงสร้างยาที่สามารถจับกับเอนไซม์ดังกล่าว เพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์และทำลายเชื้อมาลาเรียในที่สุด

ทั้งนี้ มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหนะ ซึ่งมีเชื้อมาลาเรียทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ มาลาเรียสายพันธุ์ฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) ซึ่งเป็นเชื้อที่มีการติดในไทยและส่วนอื่นๆ ในโลกมากที่สุด สายพันธุ์ไวแวกซ์ (P. vivax) ซึ่งมีการติดเชื้อรองลงมา สายพันธุ์โอวาเล่ (P. ovale) และสายพันธุ์มาลาริอี (P. malariae)

สำหรับ P218 ยาต้านมาลาเรียที่ทีมนักวิจัยสังเคราะห์ขึ้นมาได้นี้ให้ผลดีในการยับยั้งมาลาเรียสายพันธุ์ฟัลซิปารัมมากที่สุด และเป็นสายพันธุ์ที่มีการดื้อยามากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อมาลาเรียจากลิงสู่คน คือ เชื้อมาลาเรียสายพันธุ์โนซี่ (P. knowlesi)

ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หนึ่งในทีมวิจัย แสดงความมั่นใจว่าสารต้านมาลาเรียจะได้ผลจนพัฒนาเป็นยาได้ แต่หากไม่สำเร็จจริงๆ ก็ยังมีงานวิจัยพื้นฐานสำรองไว้อีก และมีการพัฒนาตัวยาต้านมาลาเรียอื่นๆ ควบคู่มาด้วย

ด้าน ดร.ยงยุทธ เสริมว่า จากสถิติทั่วโลก การค้นพบสารที่มีคุณสมบัติทางยาใดๆ ในจำนวนสาร 10,000 ตัว จะมีเพียง 1 ตัว ที่มีศักยภาพในการผลิตเป็นยาได้ ซึ่งเงื่อนไขแรกในการคัดเลือกสารเป็นยา คือต้องสามารถฆ่าเชื้อได้โดยใช้เพียงปริมาณน้อยๆ เพื่อผู้ป่วยไม่ต้องกินยาในปริมาณมาก

ส่วนเกณฑ์ในการพัฒนายาต้านมาลาเรียครั้งนี้ ดร.ยงยุทธ แจกแจงว่า อันดับแรกต้องเป็นยาที่ต้านเชื้อดื้อยาได้ และต้องเป็นยากิน เพราะในประเทศยากจนจะขาดแคลนแพทย์ผู้ฉีดยาให้ผู้ป่วย และเนื่องจากมาลาเรียเป็นโรคของคนจน ดังนั้น ยาที่ผลิตได้ต้องไม่แพงมาก

“เราผ่านจุดนี้มาหมด ผ่านการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ และที่สำคัญคือใช้ได้ผลกับเชื้อดื้อยา ขั้นต่อไปคือทดสอบให้ชัดเจนในแง่ประสิทธิผลเมื่อใช้กับคน ซึ่งในการทดสอบระดับคลีนิคนี้ไทยเรามีความเชี่ยวชาญมาก ในการทดสอบอาจเริ่มจากคนประมาณ 20 คน เพื่อดูความเป็นพิษ จากนั้นขยับเป็น 100-200 คน แล้วจึงขยับเป็นระดับใหญ่หลายพันคน และที่สุดอาจนำไปทดสอบที่อื่นของโลกด้วย” ดร.ยงยุทธกล่าว

อย่างไรก็ดี นอกจากการร่วมทุนวิจัยสารต้านมาลาเรียกับไทยแล้ว ทางกองทุนยามาลาเรียจากเจนีวายังมีความร่วมมือและร่วมลงทุนในการพัฒนายาต้านมาลาเรียกับแอฟริกาใต้ด้วย ส่วนไทยเองยังมีงานวิจัยพัฒนายาต้านมาลาเรียที่โจมตีเชื้อมาลาเรียที่เป้าหมายอื่น คือ เอนไซม์ DHPS โดยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา







โครงสร้างเอนไซม์เป้าหมายในการโจมตี
ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หนึ่งในทีมวิจัย
กำลังโหลดความคิดเห็น