xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สูญหายจากการตามหานักสำรวจโลกที่สาบสูญ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพวาดแสดงเหตุการณ์ The Arctic Council วางแผนออกตามหา  Sir John Franklin
เวลาดูชื่อของหลุมอุกกาบาต ที่ราบ ภูเขา หรือหุบเหวบนดวงจันทร์ เราจะเห็นชื่อบุคคลสำคัญมากมายซึ่งคนเหล่านี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ เทพเจ้า หรือนักสำรวจ ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Guericke, Aristotle, Tycho Brahe, Copernicus, Posidonius และ Magellan เป็นต้น และเราอาจประหลาดใจที่เห็นชื่ออีกไม่น้อยที่เราไม่รู้จักเลย เพราะคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่ไม่สำคัญมาก เช่น Crozier, Bellot, Ross และ Kane เป็นต้น แต่คนที่สนใจประวัติศาสตร์จะรู้ทันทีว่า บุคคลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการติดตามหา Sir John Franklin ซึ่งเป็นนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ ที่ได้ออกเดินทางค้นหาเส้นทางจากมหาสมุทรแอตแลนติกออกสู่ช่องแคบ Bering ในมหาสมุทรแปซิฟิกแต่ไม่พบ และได้สาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า Sir John Franklin คือหัวหน้าคณะนักสำรวจแห่งราชนาวีอังกฤษผู้มีประสบการณ์เดินทางไปสำรวจทวีปอาร์กติกถึงสามครั้ง และในปี 1845 (ตรงกับรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรืออังกฤษให้นำเรือสองลำไปค้นหาเส้นทางลัดที่จะนำชาวยุโรปสู่เอเชีย คือจากมหาสมุทรแอตแลนติกผ่านทางตอนเหนือของแคนาดาสู่มหาสมุทรแปซิฟิก อันเป็นเส้นทางที่รู้จักในนาม Northwest Passage

เมื่อได้รับการทาบทามให้เดินทาง Sir John Franklin ซึ่งมีอายุใกล้ 60 ปี ได้ยืนยันอย่างมั่นเหมาะว่า เขามีสุขภาพแข็งแรงพอจะเดินทางไปสำรวจทวีปอาร์คติกอีกเป็นครั้งที่สี่ได้ ดังนั้น ในวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม ปี 1845 เรือ 2 ลำของราชนาวีอังกฤษชื่อ Erebus ซึ่งมีผู้บังคับบัญชาชื่อกัปตัน James Fitzjames และเรือชื่อ Terror ซึ่งมีผู้บังคับบัญชาชื่อ กัปตัน Francis Crozier จึงออกเดินทางจากอังกฤษ ขบวนสำรวจนี้มี John Franklin เป็นหัวหน้าคณะ

เรือสำรวจทั้งสองลำเป็นเรือที่ทันสมัยมาก เพราะมีอุปกรณ์ที่ทำด้วยเทคโนโลยีดีที่สุดในสมัยนั้น และมีเสบียงเป็นอาหารกระป๋องหนัก 150 กิโลกรัม ได้ออกเดินทางตามลำแม่น้ำ Thames ออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก แล้วมุ่งหน้าไปช่องแคบ Victoria ซึ่งอยู่ใกล้เกาะ King William ของแคนาดาในทวีปอาร์กติก

และในปลายเดือนกรกฎาคม ปี 1845 นั้นเอง กัปตันเรือล่าวาฬลำหนึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ได้รายงานว่า เห็นเรือทั้งสองลำ ณ บริเวณอ่าว Baffin ซึ่งอยู่ระหว่างแคนาดากับเกาะ Greenland

จนเวลาล่วงเลยถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1848 ก็ยังไม่มีใครคนใดเห็นเรือสำรวจทั้งสองลำที่ช่องแคบ Bering เลย

ฝ่ายภรรยาของ Franklin และบรรดาญาติๆ ของลูกเรือทั้ง 128 คนจึงร้องเรียนให้กองทัพเรืออังกฤษส่งขบวนเรือไปติดตาม ค้นหา หรือช่วยชีวิตของคณะสำรวจที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยนี้

ความมีชื่อเสียงโด่งดังของ Franklin และเงินรางวัลที่กองทัพอังกฤษจะให้แก่ผู้ที่พบหลักฐานใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Franklin ได้ชักนำให้คณะสำรวจจำนวนมากออกติดตามหา Franklin และคณะค้นหาคณะหนึ่งได้พบหลักฐานชิ้นแรกเป็นหลุมฝังศพของลูกเรือสามคนในขบวนเรือของ Franklin ที่เกาะ Beelhey เมื่อถึงปี 1854 การสอบถามชาวเอสกิโมเผ่า Inuit ได้ทำให้ John Rae มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขบวนเรือของ Franklin ได้เดินทางผ่านเกาะ King William แล้ว ลุถึงปี 1859 กะลาสีชื่อ Francis Leopold McClintock ก็ได้พบบันทึกเป็นกระดาษหนึ่งหน้าบนกองหินที่วางสุมเป็นอนุสาวรีย์ที่แหลม Victory Point ของเกาะ King William ซึ่งอยู่ทางเหนือของแคนาดา บันทึกฉบับนั้นกล่าวว่า ขบวนเรือของ Franklin ได้ติดกับอยู่ในน้ำแข็งในบริเวณนอกเกาะ King William เป็นเวลา 19 เดือน คือตั้งแต่เดือนกันยายน 1846 เมื่อ Franklin เสียชีวิตลงในวันที่ 11 มิถุนายน 1847 กัปตัน Crozier จึงเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะสำรวจแทน จนถึงเดือนเมษายน 1848 เมื่อเสบียงอาหารใกล้หมด บรรดาลูกเรือที่เหลือจึงได้สละเรือ แล้วลากเรือชูชีพ และเดินเท้าสู่แผ่นดินใหญ่ แต่ไม่มีใครรอดชีวิตแม้แต่คนเดียว

ขบวนเรือที่รัฐบาลอังกฤษส่งไปค้นหามีประมาณ 40 ขบวน ในช่วงปี 1850-1870 และลูกเรือได้รายงานการพบศพของลูกเรือ 4 คน ว่าเสียชีวิตด้วยโรคเลือดออกตามไรฟัน และระบบหายใจล้มเหลว ลูกเรือบางคนตายด้วยโรคตะกั่วเป็นพิษ ทั้งนี้เพราะกระป๋องที่บรรจุอาหารเป็นกระป๋องที่ทำด้วยตะกั่ว 90% และดีบุก 10%
Sir John Franklin
การวิเคราะห์ศพของลูกเรือทั้ง 4 บนเกาะ Beechey ในปี 1981 ทำให้เรารู้ว่า คนเหล่านี้เสียชีวิตด้วยวัณโรค ปอดบวม และตะกั่วเป็นพิษจากกระป๋องที่ทำด้วยตะกั่ว แต่แพทย์บางคนเสนอความคิดว่า ตะกั่วดังกล่าวอาจมาจากท่อน้ำที่ใช้ในเรือ ส่วนรอยมีดที่มีปรากฏบนกระดูกก็แสดงให้เห็นว่าลูกเรือที่ใกล้ตายอาจกินซากศพด้วย (เพราะทุกคนหิวและตกอยู่ในสภาพขาดอาหาร) นอกจากนี้อากาศที่หนาวเหน็บมาก และอาหารที่ไม่เพียงพอ ก็มีส่วนทำให้ร่างกายของลูกเรือทุกคนอ่อนแอ จนขาดใจตายได้

ผลที่ตามมาจากบรรดาความพยายามในการค้นหา Franklin ในครั้งนั้นคือ ราชนาวีอังกฤษมีแผนที่ของฝั่งทะเลตลอดระยะทางที่ยาวนับหมื่นกิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่มากเกินความคาดหวังที่จะได้จากความสำเร็จของคณะสำรวจภายใต้การนำของ Franklin เพียงคณะเดียว

ถึงปี 1903 เมื่อ Roald Amundsen นักสำรวจชาวนอร์เวย์ออกค้นหา Northwest Passage อีกบ้าง แต่ไม่พบ (เพราะเส้นทางนี้ไม่มี) การค้นหา Northwest Passage จึงสิ้นสุดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ที่มีชื่อของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้นหา Franklin คือ Crozier, Bellot, Sabine, Ross, Franklin และ Kane

โดยหลุมอุกกาบาต Crozier มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเส้นทแยงมุมยาว 22 กิโลเมตรและลึก 1,300 เมตรอยู่ใน “ทะเล” Mare Fecunditatis ชื่อหลุมนี้คือชื่อของ Francois Crozier ผู้เคยเดินทางไปสำรวจทวีปอาร์กติกร่วมกับกัปตัน William Parry ถึง 3 ครั้งในระหว่างปี 1821-1827 และไปกับกัปตัน James Ross 1 ครั้ง ในปี 1836 เพื่อสำรวจอ่าว Baffin Bay ของแคนาดา ในปี 1839 Crozier ได้ไปสำรวจมหาสมุทรแอนตาร์กติการ่วมกับ Ross บนเรือ Terror อีกครั้งหนึ่ง และกลับถึงอังกฤษอย่างปลอดภัยในเดือนกันยายน 1843

ในเดือนพฤษภาคม 1845 นั้นเอง Crozier กับ Franklin ได้ไปค้นหา Northwest Passage อีกเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นเมื่อถึงปี 1865 William Birt นักภูมิศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ดวงจันทร์ จึงได้ขนานนามหลุมอุกกาบาตหลุมหนึ่งว่า Crozier ตามชื่อของนักสำรวจผู้มีชื่อเสียง

ส่วนหลุมอุกกาบาตชื่อ Bellot นั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหลุม Crozier และอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หลุมกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 17 กิโลเมตรและลึก 3,100 เมตร โดย Birt เป็นคนตั้งชื่อให้เช่นกันในปี 1865 เพื่อเป็นเกียรติแก่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสชื่อ Joseph Réné Bellot ซึ่งเคยทำงานบนเรือสำรวจ Prince Albert ที่ถูกส่งไปค้นหา Franklin ในช่วงปี 1851-1852 และได้เดินทางไปค้นหาอีก ในปี 1857 ด้วยเรือ Phoenix แต่เรือได้ประสบวาตภัยคือ ถูกลมพายุในช่องแคบ Wellington พัดกระหน่ำอย่างรุนแรง จน Bellot ถูกคลื่นซัดตกทะเล และไม่มีใครได้พบเห็นเขาอีกเลย

Sir James Clark Ross เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีชื่อปรากฏเป็นชื่อของหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ หลุม Ross ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 20 กิโลเมตร และลึก 1,840 เมตร อยู่ใน “ทะเล” Mare Tranquillitatis นักภูมิศาสตร์ดวงจันทร์ชาวเยอรมัน ชื่อ Wilhelm Beer และ Johann Heinrich Mädler คือคนที่ตั้งชื่ออุกกาบาตหลุมนี้ ในฐานะที่ Ross เป็นนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่เคยสำรวจทั้งทวีปอาร์คติก และแอนตาร์กติกา โดยในปี 1831 Ross กับลุงที่ชื่อ Sir John Ross ได้พบตำแหน่งขั้วเหนือของแม่เหล็กโลก และในปี 1847 ลุง Ross ได้เสนอให้กองทัพเรือส่งคนไปตามหา Franklin แต่หลาน Ross กับ William Parry ไม่เห็นด้วย โดยอ้างเป็นการตัดสินใจเร็วเกินไป เพราะ Franklin เพิ่งเดินทางไปได้เพียง 2 ปี แต่เมื่อถึงปี 1850 ข้อเสนอของลุง Ross ก็ได้รับความเห็นชอบ
Captain F.R.M. Crozier
ในปี 1970 องค์การ International Astronomical Union (IAU) ซึ่งเป็นสหภาพดาราศาสตร์สากลได้เพิ่มชื่อของนักดาราศาสตร์ชื่อ Frank Elmore Ross ลงไปเป็นชื่อร่วมของหลุมอุกกาบาต Ross เพราะ Frank Ross มีผลงานดาราศาสตร์ที่สำคัญมากมาย เช่น ถ่ายภาพทางช้างเผือก พบดาวแปรแสง 379 ดวง ศึกษาการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ และพัฒนาเลนส์ที่ใช้ในกล้องโทรทรรศน์ เป็นต้น

ส่วนหลุมอุกกาบาต Sabine นั้น ในปี 1837 Beer และ Mädler ก็ได้ตั้งตามชื่อของนักสำรวจขั้วโลกชาวอังกฤษชื่อ Sir Edward Sabine หลุมนี้มีลักษณะกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 30 กิโลเมตร ลึก 1,400 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ “ทะเล” Mare Tranquillitatis เพราะในปี 1818 Edward Sabine เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะสำรวจของ Sir James Ross ที่ออกค้นหา Northwest Passage และเป็นหนึ่งในคณะสำรวจของ Parry ในปี 1819-20 ด้วย เมื่อถึงปี 1821 Sabine ได้ไปสำรวจชายฝั่งของทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ และอาร์กติก เพื่อวิเคราะห์รูปทรง สัณฐานของโลก โดยการวัดคาบการแกว่งของลูกตุ้ม pendulum ผลงานนี้ทำให้ Sabine ได้รับเหรียญ Copley ของสมาคม Royal Society และในเวลาต่อมา Sabine ก็ได้วัดสนามแม่เหล็กโลกในพื้นที่ต่างๆ ของอังกฤษ ผลงานนี้จึงทำให้ Sabine ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าโครงการสำรวจสนามแม่เหล็กโลกในบริเวณต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับหลุมอุกกาบาต Kane นั้นตั้งอยู่ใน “ทะเล” Mare Frigois ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งโดย Julius Schmidt ตามชื่อของ Elisha Kent Kane ที่เป็นผู้ติดตามคนหนึ่งของคณะที่ออกค้นหา Franklin หลุมอุกกาบาตนี้มีลักษณะเป็นวงรี มีเส้นผ่านจุดโฟกัสทั้งสองยาว 55 กิโลเมตรและลึก 1,100 เมตร

ตัว Kane เองเป็นชาวอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia และเข้ารับราชการในกองทัพเรือสหรัฐ ได้เคยเดินทางไปเยือนจีน แอฟริกา ยุโรปและเม็กซิโก ในปี 1880-1851 Kane ได้เคยร่วมขบวนค้นหา Franklin ด้วยเรือ Advance เมื่อได้รับรายงานการพบหลุมฝังศพของลูกเรือในขบวนเรือของ Franklin เขาได้เดินทางไปที่เกาะ Beechey ทันที และได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ The U.S. Grinnell Expedition in Search of Sir John Franklin หนังสือนี้ถูกตีพิมพ์ในปี 1853

ต่อมาในระหว่างปี 1853-1855 Kane ได้ออกค้นหา Franklin อีก แต่เรือติดกับอยู่ในน้ำแข็ง เมื่อเสบียงอาหารบนเรือใกล้ร่อยหรอ Kane กับลูกเรือทั้งหมดได้ทิ้งเรือในเดือนพฤษภาคม 1855 แล้วลากสัมภาระไปบนน้ำแข็งตลอดระยะทางยาว 130 กิโลเมตรจนถึงทะเลใหญ่ อีก 83 วันต่อมา หลังจากนั้นก็ได้เดินทางด้วยเรือเป็นระยะทาง 1,930 กิโลเมตรแล้วเขาก็ขึ้นฝั่งที่เมือง Upermavik บนเกาะ Greenland

Kane ได้เขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดในหนังสือ “Arctic Exploration: The Second Grinnell Expedition” ในปี 1856 และได้ประจักษ์ว่า ในที่สุดความลำบากทุกข์ยาก และความทารุณของการเดินทางก็ได้ทำให้สุขภาพของ Kane ทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนเสียชีวิตที่ Havana ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1857

ส่วนชื่อ Franklin นั้นก็เป็นชื่อหลุมอุกกาบาตที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 56 กิโลเมตร ลึก 3,800 เมตร ตั้งอยู่ใกล้ “ทะเลสาบ” Lacus Somniarum ชื่อนี้เป็นชื่อของ Sir John Franklin นักสำรวจทวีปอาร์กติกผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษซึ่งได้สาบสูญไปในความพยายามค้นหา Northwest Passage ในปี 1847 และเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของอังกฤษที่มีอนุสาวรีย์ที่ลอนดอนและที่เมือง Winnipeg ใน Manitoba ของแคนาดา มีย่าน John Franklin ที่ Queenland ในออสเตรเลียมีเรือสำรวจชื่อ Franklin อังกฤษมีดอกกุหลาบ Franklin ตามที่องค์การเกษตรของแคนาดาตั้ง นอกจากนี้ก็มีเกาะใน Antartica และอยู่ใกล้ Greenland ที่ชื่อ Franklin ด้วย

อ่านเพิ่มเติมจาก Franklin Saga Deaths: A Mystery Solved? ใน National Geographic Magarize Vol.178, No.3 ฉบับเดือนกันยายน 1990 และในวารสาร Astronomy ฉบับเดือนธันวาคม 2004 ในบทความของ R.A.Garfinkle

/////////////////////////////////

ติดตามหนังสือรวมเล่ม “สุดยอดนักคณิตศาสตร์” โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน พบกับเรื่องราวของ Pythagoras, Gauss, Fibonacci, Nightingale, Cardano,Rieman, Kepler, Kovalevskaya, Pascal, Poincare, Newton,Ramanujan, Leibniz, Wiener, Euler, Shing-Tung Yau, Fourier
มีจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ตั้งแต่ 28 มีนาคม - 7 เมษายน

////////////////////////////////

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น