xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...เรามีดาวเทียม “ไทยโชต” เกือบ 6 ปีแล้ว?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดาวเทียมไทยโชต หรือ ธีออสในอดีต
ปฏิบัติหน้าที่มาเกือบ 6 ปี แต่หลายคนอาจยังไม่รู้จักดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกและดวงเดียวของชาติที่ชื่อ “ไทยโชต” ที่เพิ่งพบวัตถุต้องสงสัยลอยในมหาสมุทรอินเดีย ท่ามกลางการตามเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียที่หายไป

ดาวเทียมไทยโชตเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกและดวงเดียวของไทย โดยอยู่ในการดูแลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เดิมดาวเทียมไทยโชตมีชื่อว่า “ธีออส” (THEOS) ย่อมาจาก Thailand Earth Observation System เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) น้ำหนัก 750 กก.ที่ออกแบบให้มีอายุการใช้งาน 5 ปี และทะยานขึ้นสู่วงโคจรจากฐานปล่อยจรวดยัสนี ประเทศรัสเซีย เมื่อ 1 ต.ค.51

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.54 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมธีออสว่า “ดาวเทียมไทยโชต” มีความหมายว่า ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง

ในการสร้างดาวเทียมดวงนี้ ไทยโดย สทอภ.ได้ว่าจ้าง บริษัท อีเอดีเอส แอสเทรียม (EADS Astrium) ประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินการสร้างและส่งดาวเทียม ภายใต้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหกว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อ 19 ก.ค.47

ไทยโชตสามารถบันทึกภาพขาวดำ (Panchromatic) ได้ที่รายละเอียด 2 เมตร โดยแต่ละภาพมีความกว้าง 22 กม. และบันทึกภาพสีหลายช่วงคลื่น (Multispectral) ได้ที่รายละเอียด 15 เมตร โดยแต่ละภาพมีความกว้าง 90 กม.ซึ่งบันทึกได้ 4 ช่วงคลื่นหรือแบนด์ ได้แก่

แบนด์ 1, 0.45-0.52 ไมครอน (น้ำเงิน)
แบนด์ 2, 0.53-0.62 ไมครอน (เขียว)
แบนด์ 3, 0.62-0.69 ไมครอน (แดง)
แบนด์ 4, 0.77-0.90 ไมครอน (อินฟาเรดใกล้)

การบันทึกภาพของดาวเทียมธีออสใช้ระบบถ่ายภาพเช่นเดียวกับกล้อง (Optical system) โดยใช้ “ซีซีดี” (Charge Coupled Devices: CCD) เป็นอุปกรณ์บันทึกภาพ ณ ระนาบรวมแสงของระบบ ซึ่งจะแปลงข้อมูลจากแสงที่สะท้อนจากพื้นโลกให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และตัวเลนส์ของกล้องผลิตจากซิลิกอนคาร์ไบด์ (Silicon Carbide)

ดาวเทียมธีออสมีวงโคจรสูงจากพื้นโลก 820 กม.จะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และโคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม.สามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลกภายใน 35 เมื่อใช้ระบบถ่ายภาพสี และใช้เวลา 130 วันถ่ายได้ครอบคลุมทั่วโลกเมื่อใช้ระบบถ่ายภาพขาว-ดำ

ทั้งนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชตถูกนำไปใช้งานในภารกิจด้านภัยพิบัติหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมภาคกลางเมื่อปี 2553 เหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวไทยเมื่อปี 2556 และเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการเมื่อ 17 มี.ค.57 เป็นต้น

นอกจากนี้เมื่อต้นปี 2555 ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.ยังเชิญชวนให้ผู้สนใจทั่วไปขอใช่งานภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชตระหว่างปี 2552-2554 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการ “7 ปี 70,000 ภาพธีออสดาวเทียมไทยรับใช้สังคม”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.57 สทอภ.ได้โปรแกรมรับภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชตเพื่อติดตามเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส และได้พบวัตถุต้องสงสัยลอยน้ำในมหาสมุทรอินเดียเป็นพื้นที่กว่า 450 ตารางกิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย 2,700 กิโลเมตร แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นชิ้นส่วนเครื่องบินที่หายไปหรือไม่
ภาพจากแฟ้ม (ซ้ายไปขวา) ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ อดีต ผอ.สทอภ. และ พลเอก ดร.วิชิต สาทรานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตประธานกรรมการบริหาร สทอภ. กับแบบจำลองดาวเทียมธีออสและ ภาพแรกที่ดาวเทียมบันทึกได้เมื่อวันที่ 3 ต.ค.51
ภาพจากแฟ้ม ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ภาพจากดาวเทียมไทยโชต พบวัตถุลอยน้ำในมหาสมุทรอินเดีย






กำลังโหลดความคิดเห็น