xs
xsm
sm
md
lg

แมลงภู่เผชิญวิกฤตติดโรคจากผึ้งเลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แมลงภู่ป่าทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการลดจำนวนลงจากการติดโรคจากผึ้งเลี้ยง (เอพี)
งานวิจัยใหม่จากนักวิจัยอังกฤษพบแมลงภู่ป่าทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤต เพราะติดโรคร้ายแรงถึงตายจากผึ้งเลี้ยงที่มีปริมาณล้นทะลัก แม้ไม่มีหลักฐานชี้ชัดตรงๆ แต่พบว่าเชื้อโรคที่คร่าชีวิตแมลงป่านั้นเป็นเชื้อที่ก่อโรคในผึ้งเลี้ยงด้วยอัตราที่สูง

มาร์ค บราวน์ (Mark Brown) จากมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) อังกฤษ ผู้ทำการศึกษาวิจัยเผยว่าประชากรแมลงภู่นั้นลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมถึงเอเชีย โดยผลจากการศึกษาของเขายืนยันว่า การลดลงนั้นเป็นจากการทะลักของปรสิต เชื้อก่อโรคและโรคจากรังผึ้งเลี้ยง โดยเอพีเผยว่างานวิจัยของเขาได้รายงานลงวารสารเนเจอร์  

การศึกษาที่ในระดับที่เล็กกว่าก่อนหน้านี้เผยให้เห็นโรคที่วนเวียนอยู่ในผึ้งทั้งสองชนิดนี้ แต่บราวน์ระบุว่า งานวิจัยของเขาเป็นครั้งแรกที่มองถึงปัญหาในวงกว้างทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงโรคและปรสิตในผึ้ง 3 อย่าง โดยการศึกษาดังกล่าวได้ติดตามผึ้งเกือบ 750 ตัว ใน 26 พื้นที่ทั่วอังกฤษ และยังศึกษาผึ้งที่กักขังในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาว่าการระบาดของโรค

ด้าน มัตเธียส เฟิรส์ต (Matthias Furst) ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอนเช่นกัน แจงว่างานวิจัยของพวกเขาไม่ได้พิสูจน์ตรงๆ ว่า เกิดโรคระบาดจากผึ้งเลี้ยงไปสู่แมลงภู่ แต่หลักฐานที่ได้ก็หนักแน่นพอที่จะชี้ไปในทิศทางนั้น เพราะระดับไวรัสและอัตราการติดเชื้อในผึ้งเลี้ยงนั้นสูงกว่า ซึ่งคาดว่าแมลงภู่น่าจะรับเชื้อเมื่อไปสัมผัสดอกไม้หลังผึ้งเลี้ยงที่เป็นโรค และบางครั้งแมลงภู่ก็จู่โจมรังผึ้ง แล้วขโมยเอาน้ำผึ้งมา จึงอาจติดโรคจากวิธีดังกล่าว
 
แมลงภู่นั้นตัวใหญ่กว่าผึ้งเกือบๆ 2 เท่า และสามารถต่อยเหล็กในได้หลายครั้ง และผลิตน้ำผึ้งไม่ได้เหลือเฝือเหมือนผึ้ง ในรังของแมลงภู่มีแมลงที่ทำหน้าที่เหมือนผึ้งงานในหลักร้อยตัว ขณะที่รังผึ้งอาจมีผึ้งงานมากเป็นหมื่น ซึ่งความแตกต่างนี้บราวน์ระบุว่าทำให้แมลงภู่รับความเสียหายจากการติดโรคได้น้อยกว่าผึ้ง โดยทั่วไปแมลงภู่จะมีชีวิตเฉลี่ย 21 วัน แต่เมื่อติดโรคจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 15 วัน

อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ไม่ได้ดูไปถึงการล่มสลายของรัง ซึ่งยังคงเป็นปัญหาลึกลับในอเมริกาเหนือมากกว่าที่อื่นๆ โดยทางด้าน เมย์ เบเรนบวม (May Berenbaum) ศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์สหรัฐฯ กล่าวถึงงานวิจัยโรคในผึ้งและแมลงภู่ที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมนี้ว่า งานวิจัยได้เผยให้เห็นถึงการกระจายของผึ้งกำลังจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่อยู่  

ทั้งนี้ แมลงภู่เป็นแมลงผสมเกสรไม้ดอกและพืชอาหารที่สำคัญ โดยเฉพาะมะเขือเทศ กาแฟ และบลูเบอร์รี ซึ่งเบเรนบวมเผยว่าจากการศึกษาพบว่า แมลงภู่สร้างมูลค่าจากการผสมเกสรผลไม้และดอกไม้ในสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท ส่วนผึ้งผลิตน้ำหวานนั้นสร้างมูลค่าจากการผสมเกสรสูงถึง 6 แสนล้านบาท







กำลังโหลดความคิดเห็น