xs
xsm
sm
md
lg

เยือนอาณาจักรหุ่นยนต์ ณ ตึกลูกเต๋า (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดราเอมอนนน...แมวเหมียวหุ่นยนต์สีฟ้ายืนรอต้อนรับสู่โลกของทาสที่แข็งแกร่ง ไม่ไกลนักหุ่นยนต์ “เจ้าหนูอะตอม” ยืนตระหง่านเพื่อดึงผู้เข้าชมได้รู้จักหุ่นยนต์ของแดนอาทิตย์อุทัย อาณาจักรใหม่ภายในตึกลูกเต๋าของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งนี้ ได้เปิดคนไทยท่องเที่ยวและเก็บเกี่ยวความรู้ของหุ่นยนต์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และก้าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

นิทรรศการระบบอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์ เป็นนิทรรศการถาวรนิทรรศการใหม่ ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งปรับเปลี่ยนหลังจากให้บริการนิทรรศการต่างๆ มาร่วม 13 ปี ภายในนิทรรศการแบ่งเป็น 4 โซน คือ โซนความหมายของหุ่นยนต์ โซนส่วนประกอบจองหุ่นยนต์ โซนประเภทและประโยชน์ของหุ่นยนต์ และโซนหุ่นยนต์ในอนาคต

ภายในโซนความหมายของหุ่นยนต์มี่นอกจากจะพาเราย้อนเวลาสู่จุดเริ่มต้นและพัฒนาการของหุ่นยนต์ผ่านยุคต่างๆ แล้ว เรายังได้รู้จักกฎบัญญัติอันโด่งดังเกี่ยวกับการสร้างหุ่นยนต์ 3 ข้อ คือ 1.หุ่นยนต์ต้องไม่ทำอันตรายมนุษย์ 2.หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งมนุษย์ และ 3.หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความเป็นตัวตน ตราบเท่าที่ไม่ขัดแย้งต่อกฎข้อ 1 และ 2 ซึ่งกฎดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในนิยายไซไฟที่แต่งขึ้นโดย ไอแซค อาซิมอฟ





หุ่นยนต์มีรากศัพท์ภาษาเช็กคำว่า “โรโบทา” (Robota) หมายถึงทาสที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ มีหลักฐานการบุกเบิกสร้างหุ่นยนต์ย้อนไปไกลถึง 400 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งนักประดิษฐ์ชาวกรีกได้สร้างนกพิราบกลที่ขยับปีกขึ้นลงได้ แม้แต่อริสโตเติลปราชญชาวกรีกยังเคยกล่าวไว้เมื่อหลายพันปีก่อนว่า หากเราสั่งให้เครื่องจักรทำงานแทนได้เราก็ไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีก หรือ ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี ก็ได้ออกแบบเครื่องจักรซับซ้อนที่มีรูปรางคล้ายมนุษย์ชื่อ แอนโทรบอท (Anthrobot)

หุ่นยนต์ยังมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมโดยเมื่อปี 2456 เฮนรี ฟอร์ด วิศวกรชาวอเมริกันได้นำระบบสายพานมาใช้ในการผลิตรถยนต์ และกลไกระบบสายพานได้กลายเป็นพื้นฐานอันซับซ้อนของหุ่นยนต์ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์และแขนกลเพื่อใช้วงการอุตสาหกรรมตามมีอีกมาก และในขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมพัฒนาไปนั้นทางญี่ปุ่นก็พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีการเรียนรู้และเคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ซึ่งจัดเป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ชื่อ “อาซิโม” และสร้างความฮือฮาในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ

ส่วนเจ้าหนูอะตอม (Atom Boy) หรือแอสโทรบอย (Astroboy) ที่ยืนต้อนรับผู้เข้าชมนิทรรศการเป็นการ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่นที่มีไอพ่นติดเท้าและบินได้ เขียนขึ้นโดย เทะซึกะ โอซามุ ซึ่งนับว่าเป็นการ์ตูนที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการในการสร้างหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นด้วย

สำหรับโซนส่วนประกอบของหุ่นยนต์จะเผยให้เห็นส่วนประกอบสำคัญของหุ่นยนต์ ที่มี 4 ส่วนหลัก คือ สมองกล อุปกรณ์ตรวจจับ หรือเซนเซอร์ กลไกการเคลื่อนไหวและแหล่งจ่ายพลังงาน ซึ่งมีหุ่นยนต์ตัวอย่างให้เราทดลองสัมผัสและใช้งาน และถัดไปอีกโซนเราจะได้รู้จักหุ่นยนต์หลากหลายชนิดที่อาจแบ่งประเภทได้ตามประโยชน์จากการใช้งาน หรือแยกจากลักษณะเคลื่อนที่ ซึ่งมีทั้งหุ่นยนต์ที่อยู่กับที่ เช่น หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์ที่ขยับร่างกายได้ตามอิสระ เช่น หุ่นยนต์ที่ถูกส่งไปสำรวจดาวเคราะห์อื่น เป็นต้น

โซนสุดท้ายคือโซนหุ่นยนต์ในโลกอนาคตที่จะพาเราไปรู้จักการพัฒนาหุ่นยนต์ของประเทศต่างๆ และทิศทางในอนาคต เช่น สหรัฐฯ ที่เป็นต้นกำเนิดทฤษฎีการสร้างหุ่นยนต์ และได้พัฒนาหุ่นยนต์อุตสหากรรมตัวแรก รวมถึงหุ่นยนต์สำรวจที่ถูกส่งขึ้นไปดาวอังคารเป็นตัวแรก เยอรมนี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างหุ่นยนต์แขนกล รวมั้งยังสร้างแขนกลสำหรับทำภารกิจในอวกาศด้วย และญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำแห่งจินตนาการการผลิตหุ่นยนต์อย่างอาซิโม เป็นต้น ส่วนไทยจัดเป็นประเทศที่ครองแชมป์ในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก




เจ้าหนูอะตอมหุ่นยนต์การ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจของญี่ปุ่น











กำลังโหลดความคิดเห็น