xs
xsm
sm
md
lg

2 นักวิจัยหญิงไทยเริ่มเก็บตัวอย่าง-ลงดำน้ำแอนตาร์กติกาเป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ หลังจากดำน้ำลึกแบบสกูบาเป็นครั้งแรก บริเวณชายฝั่งสถานีวิจัย “คิงเซจอง” (King Sejong Station) ของเกาหลี
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ปฏิบัติการวิจัยขั้วโลกใต้ของสองนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยเริ่มสำรวจแล้ว ดร.สุชนา ลงดำน้ำครั้งแรก ด้านดร.อรฤทัย ลุยเก็บตัวอย่างดิน ณ ทวีปแอนตาร์กติกา

หลังจากที่ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ และ ผศ.ดร. อรฤทัย ภิญญาคง สองนักวิทยาศาสตร์หญิงไทย จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางมาถึงสถานีวิจัยเกรทวอลล์ (Great Wall Station) ทวีปแอนตาร์กติกา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งสองคนได้เริ่มงานสำรวจตามแผนงานที่วางไว้ โดย รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ได้มีโอกาสดำน้ำลึกแบบสกูบาเป็นครั้งแรก ขณะที่ ผศ.ดร. อรฤทัย ภิญญาคง เริ่มทยอยเก็บตัวอย่างตะกอนดินในพื้นที่ต่างๆ โดยรอบสถานีและพื้นที่ใกล้เคียง

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มปฏิบัติการดำน้ำเป็นครั้งแรก ภายใต้การดูแลจากคณะนักสำรวจประเทศเกาหลีใต้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของจีนไม่เคยมีการดำน้ำในพื้นที่มาก่อน เริ่มจากทดสอบการดำน้ำในพื้นที่จริงครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ม.ค.57 และปฏิบัติการจริงเพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่างในวันรุ่งขึ้น บริเวณชายฝั่งของสถานีวิจัย “คิงเซจอง” (King Sejong Station) ภายใต้การกำกับของเกาหลีใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะคิงส์จอร์จ (King George Island) เช่นเดียวกับสถานีวิจัยเกรทวอลล์ของจีน

รศ.ดร.สุชนานับเป็นนักวิจัยหญิงคนแรกที่ดำน้ำแบบสกูบา ณ ทวีปแอนตาร์กติกา ณ สถานีวิจัยเกรทวอลล์ แต่เป็นคนไทยคนที่สองต่อจาก รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ดำน้ำแบบสกูบาเช่นเดียวกันในบริเวณชายฝั่งของสถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) ของญี่ปุ่น ในช่วงเดือน ธ.ค.47 - ม.ค.48

“โดยปกติการดำน้ำแบบสกูบาจัดเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างอันตรายอยู่แล้ว และเมื่อไปดำน้ำในที่ลึกถึง 20 เมตร มีสภาพที่หนาวจัด อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ที่ประมาณใกล้ศูนย์องศาเซลเซียส แถมผิวหน้าน้ำทะเลยังเป็นน้ำแข็งลอยอยู่เต็มไปหมด  ยิ่งทำให้มีโอกาสสูงขึ้นที่จะเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุหรือจากความไม่พร้อมของร่างกาย” รศ.ดร.สุชนาระบุ

ส่วนอันตรายจากสิ่งมีชีวิตอื่นอันดับแรกคือการเผชิญกับแมวน้ำลายเสือดาว (leopard seal) ที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติก (Antarctic Peninsula) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะคิงส์จอร์จ ซึ่ง รศ.ดร.สุชนาเล่าว่า เคยมีเหตุการณ์ที่แมวน้ำเสือดาวทำร้ายนักวิจัยชาวอังกฤษจนเสียชีวิตขณะว่ายน้ำสำรวจทะเลน้ำแข็งเมื่อหลายปีก่อน เพราะคิดว่าเป็นนกเพนกวินที่ล่าเป็นอาหาร หรือแม้กระทั่งเมื่อวันที่ 16 ม..57 ที่ผ่านมามีรายงานการเสียชีวิตของนักวิจัยชาวอิตาลีขณะดำน้ำเพื่อเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลมาศึกษาวิจัยแบคทีเรีย ณ ชายฝั่งอ่าวเทอราโนว่า (Terra Nova Bay) ของทะเลรอส (Ross Sea)

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุชนา กล่าวว่า ถึงจะกลัวแค่ไหนก็ตาม แต่การดำน้ำสำรวจใต้ทะเลของทวีปแอนตาร์กติกาก็ยังเป็นที่สนใจอย่างมากสำหรับเธอและนักชีววิทยาทางทะเลท่านอื่นๆ เพราะยังมีสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่ต่างรอการค้นพบภายใต้ผืนน้ำแข็งแผ่นใหญ่มหึมาของมหาสมุทรแห่งนี้ และเพิ่มเติมว่าในการลงดำน้ำของเธอนั้น จะเป็นการลงเพื่อสำรวจลงและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต เพื่อศึกษาวิจัยพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ และพฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์

“หลังจากได้ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตแล้วจะนำมาผ่าเพื่อดูอาหารในท้องและเปรียบเทียบกับข้อมูลการวิจัยในอดีต หากลักษณะอาหาร หรือสัดส่วนอาหารที่พบเปลี่ยนไป หากพบปรสิตในท้องของสิ่งมีชีวิตมีสัดส่วนมากขึ้น จะสามารถกล่าวได้ว่าบริเวณขั้วโลกใต้มีอุณหภูมิอบอุ่นขึ้น สอดคล้องกับการเกิดภาวะโลกร้อนที่มีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในทวีปแอนตาร์กติกด้วย เพราะ การอาศัยอยู่ของปรสิตในพื้นที่ที่อุณหภูมิต่ำไม่ควรมีมาก เป็นต้น” รศ.ดร.สุชนากล่าว
 
ด้าน ผศ.ดร. อรฤทัย ภิญญาคง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเก็บตัวอย่างดินบริเวณโดยรอบสถานีวิจัย เกรทวอลล์ และพื้นที่อื่นๆ บริเวณชายฝั่ง รวมถึง ถิ่นอาศัยของนกเพนกวินอเดลีย์ ด้วย เพื่อนำไปศึกษาความหลากหลายของจุลินทรีย์ และแบคทีเรียในแต่ละพื้นที่ ที่ทนอยู่ในสภาพอากาศหนาวมากได้ เพื่อนำมาต่อยอดในการใช้ประโยชน์กับงานวิจัย ซึ่งจะมีการให้รายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากการศึกษาวิจัยแล้ว ทั้งสองท่านยังได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนการประชุมทางวิชาการ Scientific meeting ณ สถานีวิจัยเอสคูเดโร (Escudero Station) ของชิลีด้วย อนึ่ง โครงการศึกษาทวีปแอนตาร์กติกครั้งนี้ อยู่ภายใต้ “โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยขั้วโลกระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและไทย โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับ คณะบริหารงานอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทในกลุ่มเครื่องดื่มกระทิงแดง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ ขณะเก็บตัวอย่างดิน  บริเวณชายฝั่งสถานีวิจัย “เกรทวอลล์” (Great Wall Station) ของจีน
ผศ.ดร. อรฤทัย ภิญญาคง เริ่มทยอยเก็บตัวอย่างตะกอนดินในพื้นที่ต่างๆ โดยรอบสถานีและพื้นที่ใกล้เคียง
รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ (ขวา) ถ่ายภาพกับนักสำรวจชาวเกาหลี ซึ่งเป็นบัดดี้ในการดำน้ำแบบสกูบา






กำลังโหลดความคิดเห็น