บทความโดย : สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
***
เคยสงสัยหรือไม่ครับว่าเซอร์ไอแซก นิวตัน กับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ใครเก่งกว่ากัน?
หลายปีก่อน ตอนหัวค่ำ (18.30-20.15 น.) ของวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ราชสมาคมหรือ The Royal Society ของประเทศอังกฤษถึงกับจัดการอภิปรายเรื่องนี้
ก่อนการอภิปรายมีการประกาศผลโพลซึ่งทำสองชุดแยกกัน ชุดแรกสอบถามจากประชาชนคนทั่วไป 1,300 คน อีกชุดสอบถามจากนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นสมาชิกของราชสมาคม 345 คน
ผลปรากฏว่าคนทั่วไปให้นิวตันชนะแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ (นิวตัน 50.1 เปอร์เซ็นต์ ต่อไอน์สไตน์ 49.9 เปอร์เซ็นต์) และนักวิทยาศาสตร์ให้นิวตันชนะขาดพอสมควรคือ 60.9 เปอร์เซ็นต์ ต่อไอน์สไตน์ที่ได้ 39.1 เปอร์เซ็นต์
การอภิปรายคงไม่ได้เอาชนะคะคานกัน เพียงแต่มีรายงานข่าวบอกว่าแต่ละฝ่ายยกเหตุผลอะไรขึ้นอภิปราย แต่สาระคือการแสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จของทั้งคู่ซึ่งส่งผลกระทบแก่โลกเกินกว่าในห้องแล็บและสมการใดเคยทำมา
ผู้อภิปรายฝ่ายถือหางนิวตันเสนอว่านิวตันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากยุคเชื่อผีสางโชคลางและลัทธิต่างๆ มาสู่วิธีทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนิวตัน “Principia Mathematica” (ผมชอบเรียกสั้น ๆ ว่า เดอะพรินซิเปีย) แสดงให้เห็นว่าความโน้มถ่วงเป็นแรงสากลที่ใช้ได้กับทุกวัตถุทั่วทั้งจักรวาล ไม่แยกว่าบนพื้นโลกอย่างหนึ่ง บนฟ้าอีกอย่างหนึ่ง
ข้างฝ่ายสนับสนุนไอน์สไตน์ก็ชี้ว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพสามารถหักล้างหลักทฤษฎีของนิวตันเกี่ยวกับอวกาศและกาล นำไปสู่ทฤษฎีการกำเนิดของจักรวาล หลุมดำ และจักรวาลคู่ขนาน นอกจากนี้ยังพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ด้วยว่าอะตอมมีอยู่ แสงเป็นอนุภาคเรียกว่าโฟตอน รากฐานของลูกระเบิดนิวเคลียร์และพลังแสงอาทิตย์
การอภิปรายครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองทีมสำรวจของเซอร์อาร์เทอร์ เอดดิงตัน ที่เดินทางไปที่แอฟริกาและอเมริกาใต้ (เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1919) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถเห็นสุริยุคราสเต็มดวง เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของไอน์ไสตน์
กล่าวคือขณะเกิดคราสตำแหน่งของดาวพุธอยู่ข้างหลังดวงอาทิตย์ แต่ภาพถ่ายคราสมองเห็นดาวพุธได้ ตรงกับทฤษฎีของไอน์สไตน์ที่ชี้ว่า แสงจากดาวพุธจะเดินทางเป็นเส้นโค้งอ้อมดวงอาทิตย์ได้และทำให้เห็นดาวพุธ
ไอน์สไตน์เสนอผลงานถึง 5 เรื่อง ตั้งแต่ ค.ศ. 1905 โดยไม่มีคนสนใจ แต่ไอน์สไตน์กลับ “ดัง” เพียงข้ามคืนจากการพิสูจน์ของเซอร์เอ็ดดิงตัน และคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งให้ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1921
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556) มีการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ตกแก่ ปีเตอร์ ฮิกกส์ วันนั้นฮิกกส์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีตอนหนึ่งว่า ไม่อยากให้ยกย่องตนไปเทียบกับผู้ชนะรางวัลโนเบลอื่นๆ เพราะผลงานของเขาเทียบไม่ได้กับไอน์สไตน์ ที่มีผลงานยิ่งใหญ่กว่าหลาย “เท่าตัว” (ฮิกกส์ใช้ภาษาคณิตศาสตร์ว่า “อันดับของขนาด” หรือ “orders of magnitude”)
แต่ผมเห็นว่าผลงานของไอน์สไตน์เกิดจากข้อได้เปรียบหลายประการ
ประการแรกไอน์สไตน์เป็นอัจฉริยะจริง ๆ อีกประการคือเมื่อปี 1905 เขาทำงานในสำนักงานสิทธิบัตรของสวิส ซึ่งน่าจะทำให้ไอน์สไตน์ได้เห็นผลงานของคนอื่นที่ผ่านๆ มา และมีเวลาว่างมากที่จะจดจ่อกับผลงานเหล่านั้น
ทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นเรื่องที่ต่อยอดจากผลงานก่อนหน้า ซึ่งไอน์สไตน์ก็บอกเองว่า ถ้าเขาไม่ประกาศทฤษฎีได้ก่อนในปีนั้น อีกไม่กี่ปีต่อมาคู่แข่งชาวฝรั่งเศสของเขาคือ ปอล ลองฌ์แวง ก็จะประกาศทฤษฎีนี้ได้แน่นอน โดยเฉพาะสมการมวล-พลังงานหรือ E = mc2 ก็เป็นสมการที่คนอื่นๆ อย่างน้อย 3 คน ได้คำนวณไว้ก่อน
คนหนึ่งที่น่าเชื่อถือก็คือชาวออสเตรียชื่อ ฟริทซ์ ฮาสเซนเนิร์ล โดยมีหลักฐานว่าสมการของเขามีตัวเลขสัดส่วน 3/8 อยู่ข้างหน้า c2 และอีกปีต่อมาเขามัวมะงุมมะงาหราแก้ตัวเลขสัดส่วนจาก 3/8 เป็น 3/4 แล้วไอน์สไตน์ก็เป็นผู้ประกาศสมการนี้โดยตัดทิ้งตัวเลขสัดส่วนทิ้งไปเฉยๆ
ผมอยากบอกว่าผลงานวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการ “ต่อยอด” การคิดค้นของคนอื่นๆ แทบทั้งนั้น
นิวตันเองเขียนจดหมายลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1676 ถึงคู่แข่งของเขาคือ รอเบิร์ต ฮุก ทำนองว่า ผลงานของเขาเกิดจากการ “ยืนอยู่บนบ่าของยักษ์” ก็คือเขายอมรับเลยว่าได้ต่อยอดความคิดหรือผลงานของคนเก่งอื่นๆ
กล่าวกันว่า แม้แต่ผลงานทางทฤษฎีเรื่องความโน้มถ่วงของนิวตัน ที่ต่อยอดมาจากผลงานของโคเปอร์นิคัส เคปเลอร์ กาลิเลโอ เดกา ก็ยังใช้พื้นฐานจากผลงานทางปฏิบัติของฮุกด้วย
ผมคงตัดสินไม่ได้ว่าใครเก่งว่าใคร คุณผู้อ่านลองพิจารณาแล้วกัน