xs
xsm
sm
md
lg

Joseph Lister บิดาวิทยาการป้องกันโดยการทำลายเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพวาดสาธิตการผ่าตัดของ Joseph Lister
เมื่อ William Ernest Henley กวีอังกฤษผู้มีชื่อเสียงต้องใช้เวลารักษาแผลที่ขาซึ่งได้อักเสบอย่างรุนแรงเป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่ London แพทย์ทุกคนคิดว่า เขาคงถูกตัดขา และเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต แต่ Henley เป็นคนไม่ยอมแพ้ และไม่ท้อแท้ เขาตัดสินใจเดินทางไกล 500 กิโลเมตรมาให้ Joseph Lister รักษาที่โรงพยาบาล Edinburgh ในสก็อตแลนด์ และในที่สุดเขาก็รู้ว่าเขาคิดไม่ผิดที่ได้มอบชีวิตให้แพทย์ผู้บุกเบิกศัลยศาสตร์ด้วยการใช้ยาระงับการอักเสบในการผ่าตัด เป็นคนรับผิดชอบ

Joseph Lister เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1827 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่เมือง Upton ในแคว้น Essex ของอังกฤษ บรรพบุรุษของตระกูล Lister เป็นพวก Quaker ที่นิยมดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตัว มารยาท และศาสนา ต่อต้านการบังคับเป็นทหาร และไม่นิยมการสาบาน บิดาของ Lister ชื่อ Joseph Jackson Lister มีฐานะดี จากการประกอบอาชีพขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และมักสอนลูกๆ ให้ดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นบิดาจึงรู้สึกงุนงงเล็กน้อยที่ลูกชายบอกว่าสนใจจะเป็นแพทย์ แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางแต่อย่างใด

เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน Lister ได้เข้าเรียนที่ Grove House School ในเมือง Tottenham และได้เรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กับภาษาต่างประเทศ คือ เยอรมัน และฝรั่งเศส อันเป็นภาษาที่แพทย์สมัยนั้นใช้ในการสื่อสารกัน

ในปี 1844 Lister วัย 17 ปี ได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ที่ University College แห่งมหาวิทยาลัย London เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งในอังกฤษที่รับ Quaker เข้าเรียน ก่อนออกจากบ้าน บิดาได้กล่าวเตือน Lister ว่า ถ้าลูกต้องการจะเป็นแพทย์จริงๆ ก็ขออย่าเป็นศัลยแพทย์ เพราะนั่นเป็นหมอชั้นต่ำ ที่ต้องทำงานอย่างยากลำบากมากที่สุด

ช่วงเวลาสองปีแรกที่ลอนดอน Lister รู้สึกเห็นพ้องกับคำตักเตือนของบิดาทุกประการ แต่ในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1846 นั้นเองวิถีชีวิตของ Lister ก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อได้เห็นศาสตราจารย์ Robert Liston ซึ่งเป็นบุคคลที่ Lister ชื่นชมมากที่สุด สาธิตการผ่าตัดคนไข้โดยใช้ยาสลบ แทนที่จะใช้วิธีสะกดจิต Lister ซึ่งนั่งดูอยู่ค่อนข้างไกลจากเตียงสาธิต ได้ตระหนักในทันทีว่านี่คือชีวิตที่ใช่สำหรับตน ดังนั้นจึงพยายามเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีแพทยศาสตร์ ดัวยคะแนนเกียรตินิยม แล้วไปเรียนต่อที่ Royal College of Surgeons จนสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 26 ปี

ในสมัยนั้นมีประเพณีให้แพทย์อังกฤษทุกคนเมื่อสำเร็จการศึกษาใหม่ๆ ทำ นั่นคือไปทัศนศึกษาในยุโรป ซึ่งอาจเป็นการดูงาน หรือฝึกงานตามโรงพยาบาล เป็นเวลาสั้นๆ Joseph Lister ก็เช่นกัน แต่ก่อนออกเดินทางหนึ่งสัปดาห์ เขาคิดว่า น่าจะได้ไปดูศัลยแพทย์ James Syme สาธิตการผ่าตัดที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัย Edinburgh ก่อน เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และเมื่อ Lister ขอให้เพื่อนเขียนจดหมายรับรอง เขาก็ได้เข้าชมลีลาการผ่าตัดของ Syme ที่สก็อตแลนด์ นิสัย และบุคลิกเวลาทำงานของ Syme ได้สร้างความประทับใจให้ Lister มาก จน Lister ไม่คิดจะเดินทางไปยุโรปตามที่ได้วางแผนไว้ แต่ตัดสินใจไปฝึกงานกับ Syme แทน ที่ Edinburgh เป็นเวลาถึง 7 ปี มิใช่เพราะพอใจและศรัทธาในสไตล์การทำงานของ Syme เท่านั้น แต่เพราะ Syme มีลูกสาวแสนสวยชื่อ Agnes

ขณะฝึกงานที่โรงพยาบาล Edinburgh Lister รู้สึกรักและชอบงานศัลยกรรมมาก และรู้ดีว่า แม้ตนจะไม่มีวันเก่งเท่า Syme แต่ถ้าพยายามมากก็คงจะเก่งได้เช่นกัน

เมื่อตำแหน่งอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาล Edinburgh ว่างลงในปี 1854 Syme ได้บอกให้ Lister สมัครทำงานทันที เมื่อได้งาน ในวันที่ 7 พฤศจิกายน Lister ก็เริ่มชีวิตเป็นอาจารย์แพทย์ที่ต้องสอนหนังสือ และต้องเตรียมการสอนหนัก เพราะมีนิสิตแพทย์ที่ต้องรับผิดชอบประมาณ 50 คน แม้จะรู้สึกเหนื่อย แต่ Lister ก็สุขใจ เพราะได้เห็นและพบปะ Agnes บ่อย จนในที่สุดก็ได้ขอ Agnes แต่งงาน เมื่อ Agnes ยินดี Lister ในฐานะศัลยแพทย์ผู้ช่วยของ Syme ก็ได้เป็นลูกเขยของ Syme ในทันที หลังจากนั้นทั้งสองก็ได้เดินทางไปยุโรปเพื่อดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ แทนที่จะไปฝึกงาน ตามที่ Lister ได้เคยตั้งปณิธานไว้เมื่อ 7 ปีก่อน

เมื่อเดินทางกลับถึงสก็อตแลนด์ Lister กับภรรยาได้เริ่มสร้างครอบครัวที่ Edinburgh แต่เปลี่ยนใจไปเปิดคลินิกที่ Glasgow แทน แล้วเริ่มแปลงตนจากศัลยแพทย์ธรรมดาเป็นบิดาของศัลยกรรมยุคใหม่ เมื่อได้พบว่า หลังการผ่าตัดคนไข้ส่วนใหญ่มักเสียชีวิต Lister มั่นใจว่า เทคนิคการผ่าตัดมิใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คนไข้ตาย แต่ต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดซึ่งทำให้ 40% ของคนที่ได้รับการผ่าตัดเสียชีวิต เพราะ Lister ได้เห็นว่า บาดแผลของคนเหล่านี้มีอาการบวม และอักเสบมาก นอกจากนี้แผลจะมีหนองเยิ้ม แล้วคนไข้ก็มีไข้สูงจนเสียชีวิต เพราะแพทย์ในสมัยนั้นเชื่อว่า อากาศเสียทำให้แผลอักเสบ ดังนั้นในเวลากลางวัน โรงพยาบาลจึงนิยมเปิดหน้าต่างห้องคนไข้ให้อากาศถ่ายเท ส่วนเรื่องการล้างมือก่อนและหลังผ่าตัดนั้น ไม่มีแพทย์คนไหนทำ
Joseph Lister
ประสบการณ์การผ่าตัดกระดูกที่โรงพยาบาล Edinburgh ได้ทำให้ Lister รู้ว่าการหักของกระดูกมี 2 ประเภทคือ หักแบบง่ายๆ กับหักแบบซับซ้อน สำหรับในกรณีแรก คนป่วยจะมีกระดูกชิ้นหนึ่งที่หักหรือร้าว แต่เมื่อกระดูกนั้นได้รับการเข้าเฝือก ภายในเวลาเพียงไม่นานทุกสิ่งทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพปกติ ดังนั้นคนไข้จะไม่รู้สึกว่ากำลังถูกทรมาน อาการไข้ก็ไม่สูง และแผลไม่ปรากฏมีเนื้อตาย หรือโลหิตเป็นพิษ

แต่ในกรณีที่กระดูกแตกละเอียด และชิ้นกระดูกได้ทิ่มแทงเนื้อคนไข้เป็นแผลจนทำให้ศัลยแพทย์ต้องเย็บแผล Lister ได้พบว่า 50% ของคนที่บาดเจ็บประเภทนี้จะเสียชีวิต จนเกิดเสียงร่ำลือกันไปทั่วว่า คนไข้เสียชีวิตเพราะ “โรคโรงพยาบาล” และไม่เฉพาะที่อังกฤษเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้ โรงพยาบาลในฝรั่งเศสก็มีสถิติการเสียชีวิตถึง 60%

Lister ได้พยายามชี้ให้บรรดาแพทย์ทั้งหลายในโรงพยาบาล Glasgow เข้าใจและสนใจสถิตินี้ แต่แพทย์ทุกคนก็คิดว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่มีแพทย์คนใดสามารถทำอะไรได้ ที่สามารถทำได้คือ ส่งจดหมายแสดงความเสียใจไปยังบรรดาญาติของผู้เสียชีวิต นอกจากนี้แพทย์ก็ยังคิดว่าแพทย์หนุ่มเช่น Lister ไม่สมควรต่อต้านวิธีปฏิบัติที่ได้เคยกระทำกันมาตั้งแต่อดีต เพราะการเปลี่ยนแปลงจะทำให้แพทย์ผู้ใหญ่ไม่พอใจ

วันหนึ่ง Lister ได้พบเพื่อนนักเคมีชื่อ Thomas Anderson ซึ่งได้เล่าเรื่องผลงานของ Louis Pasteur ให้ Lister ฟัง เพราะ Lister บอกว่าเขาเองก็ยังไม่รู้ข่าวการค้นพบของ Pasteur Anderson จึงนำรายงานที่ Pasteur เขียนมาให้อ่าน เพราะ Lister รู้ภาษาฝรั่งเศสดี และเอกสารนั้นทำให้ Lister รู้ว่า Pasteur ได้พบว่า อากาศมีจุลินทรีย์จำนวนมากที่ตาเปล่ามองไม่เห็น เมื่อจุลินทรีย์ตกลงในถังเหล้าองุ่น จะเกิดการหมัก และสำหรับเรื่องการกำจัดจุลินทรีย์ การใช้กรด tartaric หรือความร้อนที่อุณหภูมิตั้งแต่ 130◦-150◦ องศาเซลเซียส ความร้อนก็สามารถฆ่าจุลินทรีย์ได้ ในเมื่อการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อนไม่สามารถทำได้ในกรณีคน ดังนั้น Lister จึงคิดจะใช้สารเคมีฆ่าเชื้อ

เมื่อเข้าใจแนวคิดของ Pasteur Lister ได้ผุดลุกผุดนั่งและเดินวนเวียนในห้องทำงาน ครุ่นคิดแต่เรื่องจุลินทรีย์ในอากาศ และสงสัยว่า ถ้าจุลินทรีย์สามารถเข้าร่างกายทางบาดแผลได้ แผลก็อาจเป็นหนอง และอักเสบ ดังนั้นแพทย์จึงควรใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดปิดแผลไม่ให้แผลถูกจุลินทรีย์รบกวน แต่ถ้าแผลยังถูกจุลินทรีย์คุกคาม แพทย์ก็ควรใช้ยาฆ่าจุลินทรีย์เหล่านั้นก่อน แล้วจึงพันแผลด้วยผ้าที่สะอาด และเพื่อให้การป้องกันนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด แพทย์ควรล้างมือให้สะอาดก่อนลงมือผ่าตัด และเมื่อการผ่าตัดสิ้นสุด แพทย์ก็ควรล้างมือให้สะอาดอีก ก่อนไปตรวจหรือรักษาคนไข้คนต่อไป นอกจากนี้ เสื้อผ้าหน้าผมของแพทย์ก็ควรสะอาดด้วย เพราะแพทย์มักสวมเสื้อคลุมตัวเดียวนานเป็นปี จนเสื้อมีคราบไคลสกปรก และบางครั้งก็มีรอยเลือดเปรอะเปื้อน เพราะสังคมมักมีความเชื่อว่า เสื้อยิ่งสกปรก คนสวมยิ่งเชี่ยวชาญ กลิ่นสาบเสื้อก็ถือว่าขลัง เพราะแสดงว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์ผ่าตัดมาก แต่ Lister คิดว่าเสื้อที่แพทย์สวมใส่อาจเป็นแหล่งพำนักของจุลินทรีย์ก่อนจะเดินทางเข้าร่างกายทางแผล และถ้าแผลนั้นเปิดอ้าตลอดเวลา ในที่สุดแผลจะอักเสบ แต่ถ้ามีผ้าสะอาดปิดปากแผล โอกาสที่จุลินทรีย์ในอากาศ หรือจุลินทรีย์จากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด และจุลินทรีย์จากร่างกายของศัลยแพทย์เองในการเข้าสู่แผลจะมีน้อย ทำให้การอักเสบเกิดขึ้นน้อยด้วย

ทันทีที่ Lister ตระหนักในความจริงประเด็นนี้ เขารู้สึกตื่นเต้นมากที่พบว่าศัลยแพทย์คือปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ แล้วในประเด็นที่อากาศมีจุลินทรีย์นั้น Lister คิดว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้แพทย์ผ่าตัดคนไข้ในสุญญากาศ ดังนั้นเขาจึงต้องหาวิธีกำจัดจุลินทรีย์ในอากาศ แต่เขาจะฆ่าสิ่งที่ตาเปล่ามองไม่เห็นได้อย่างไร

วันหนึ่ง Lister มีเพื่อนจากเมือง Carlisle มาเยี่ยมและได้เล่าให้ฟังว่าที่ Carlisle มีท่อระบายน้ำเสียที่ส่งกลิ่นรุนแรงมาก จนทางการต้องใช้กรด carbolic (นักเคมีปัจจุบันเรียก phenol) ในการกำจัดกลิ่น และทำความสะอาดท่อระบาย Lister ซึ่งกำลังหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องยาฆ่าเชื้อ จึงคิดนำกรด carbolic มาทำความสะอาดแผลล้างทั้งเครื่องมือผ่าตัดและมือ

เมื่อได้รับกรด carbolic จากห้องปฏิบัติการเคมี Lister ได้ทดลองใช้รักษาคนไข้ที่บาดเจ็บเพราะกระดูกแตกละเอียดเป็นคนแรก แต่ไม่ได้ผล เพราะคนไข้เสียชีวิต Lister จึงรู้สึกท้อแท้ และตัดสินใจทดลองความเชื่อของตนกับคนไข้คนใหม่ ในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1865 มีคนไข้คนหนึ่งเป็นเด็กหนุ่มวัย 11 ปีชื่อ James Greanlees ซึ่งถูกเกวียนทับ จนกระดูกเข่าแตก และได้เดินทางมาให้ Lister รักษา Lister จึงสั่งซื้อกรด carbolic มาหนึ่งขวดเพื่อใช้ในห้องผ่าตัด และปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ที่ได้วางแผนไว้ เมื่อ 6 สัปดาห์ผ่านไป Greanlees ก็หายเป็นปกติ โดยที่แผลผ่าตัดไม่อักเสบ ไม่มีหนองใดๆ และโลหิตก็ไม่เป็นพิษ

Lister มิได้บอกให้ใครรู้เรื่องนี้นอกจาก Agnes และเพื่อนสนิทเท่านั้น เพื่อไม่ให้ใครมายุ่งเกี่ยว และตนจะได้ทุ่มเทเวลาทำงานต่อไปอย่างเงียบๆ เพื่อทดสอบความถูกต้องของทฤษฎีที่ตั้งไว้ อีกหนึ่งปีต่อมา Lister ก็ได้ข้อสรุปที่ไร้ข้อสงสัยใดๆ
อุปกรณ์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในห้องผ่าตัดของ Joseph Lister
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1866 Lister ได้ตัดสินใจนำเรื่องเทคนิคการผ่าตัดคนไข้ที่กระดูกเข่าแตกมาเล่าให้บิดาฟัง จากที่เคยคิดว่า ไม่น่าจะให้ผล แต่ก็ทำได้สำเร็จโดยใช้กรด carbolic ทำความสะอาดแผล ล้างมือ และแต่งแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาด หลังจากที่เวลาผ่านไป 8 วัน ร่างกายคนเจ็บก็กลับคืนสภาพปกติ เสมือนว่า กระดูกที่แตกเป็นแบบสามัญ

เมื่อมั่นใจ Lister จึงใช้กรด carbolic ในการผ่าตัดทุกขั้นตอนและเน้นการทำความสะอาดทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงผ้าพันแผล อุปกรณ์ผ่าตัด เชือกเย็บแผล โต๊ะผ่าตัด สเปรย์ เสื้อคลุม และน้ำล้างมือ จนห้องผ่าตัดทั้งห้องอบอวลด้วยกลิ่นกรด carbolic และไม่มีกลิ่นเน่าของบาดแผลเลย

เมื่อบทความเรื่อง “On the New Method of Treating Compound Fractures, Abcesses with Observations on the Conditions of Suppuration” ปรากฏในวารสาร Lancet ฉบับวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1867 แพทย์ที่ได้อ่านบทความนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะคิดว่าเทคนิคของ Lister เป็นเรื่องไม่สำคัญ ความเข้าใจผิดนี้ทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับ เสนอข่าวว่า Lister พบกรด carbolic และบางคนคิดว่า กรด carbolic มีอิทธิฤทธิ์เหมือนน้ำมนตร์ จึงนำไปประพรมในห้องผ่าตัด แต่มิได้ใช้ทำความสะอาดเครื่องมือ ดังนั้นเมื่อคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเสียชีวิต แพทย์เหล่านี้จึงพาลโกรธ Lister ที่แนะนำผิดแต่ Lister ก็ยังยึดมั่นในวิธีการของตน โดยกำชับให้ศัลยแพทย์ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกคนสวมถุงมือที่สะอาดและล้างมือ ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดด้วยน้ำที่มีกรด carbolic เจือ 5% อุปกรณ์ผ่าตัดทุกชิ้นก็ถูกนำมาล้าง นอกจากนี้ก็ให้ผู้ช่วยแพทย์ฉีดละอองน้ำที่มีกรด Carbolic เจือในห้องผ่าตัดด้วย

เมื่อ James Syme พ่อตาของ Lister เกษียณการทำงานในปี 1869 บรรดานักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh ได้ขอให้ Lister สมัครในตำแหน่งที่ว่าง ซึ่ง Lister ก็ยินดีและได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล แล้วได้ไปเปิดคลินิคที่ Edinburgh โดยซื้อบ้านที่จัตุรัส Charlotte Square ซึ่งเป็นย่านอาศัยของคนมีฐานะ Lister ทำงานหนัก และไม่สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ของใคร ทั้งๆ ที่ความสำเร็จของ Lister กำลังเพิ่มพูน แต่เพื่อนแพทย์ที่โรงพยาบาลก็ยังไม่ยอมรับวิธีปฏิบัติของ Lister และคิดว่าการที่คนไข้ไม่ตาย เพราะ Lister ดูแลคนไข้เป็นอย่างดี เช่นไปเยี่ยมไข้ทุกวัน เปลี่ยนผ้าพันแผลให้ด้วยตนเอง เปลี่ยนผ้าปูที่นอน และปลอกหมอนให้คนไข้ทุกคน เมื่อถึงหน้าหนาวก็นำถุงน้ำร้อนใส่ในเตียง และเวลาจะลุกจากคนไข้ Lister ก็จะถามด้วยความอาทรว่า “คุณรู้สึกดีแล้วใช่ไหม” เป็นต้น

เมื่อ Lister ดูแลคนไข้ดีเช่นนี้ คนไข้จึงพากันรอ Lister แวะมาเยี่ยมไข้ และ Lister ก็ให้ความสนใจโดยการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของคนไข้ทุกคนเสมือนเป็นเรื่องของตนเอง นอกจากนี้ก็มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Lister ประสบความสำเร็จนั้นคือ Lister มีหัวหน้าพยาบาล ชื่อ Mrs. Porter ซึ่งเป็นคนที่มีระเบียบเข้มงวดมาก และได้เคยทำงานกับ Syme มานานถึง 30 ปี จึงนับถือ Syme เสมือนเป็นหมอเทวดา เมื่อ Lister ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งของ Syme ความศรัทธาที่เธอมีต่อ Syme จึงถูกส่งต่อถึง Lister ด้วย แม้ Porter จะไม่เข้าใจหลักการฆ่าเชื้อโรค แต่เธอก็ได้ทำให้ห้องพยาบาลทุกห้องสะอาดหมดจด จนแพทย์จากโรงพยาบาลอื่นๆ เวลามาดูงานที่โรงพยาบาล Edinburgh แทบไม่เชื่อสายตาที่เห็นสภาพห้องพยาบาลสะอาดเยี่ยมและเป็นระเบียบมาก ในเวลาต่อมาเมื่อแพทย์ต่างชาติให้การยอมรับ Lister มากขึ้นๆ บรรดาเพื่อนๆ ของ Lister ในอังกฤษจึงต่อต้านน้อยลง

ในปี 1875 Lister ได้รับเชิญให้ไปดูงานในยุโรป และได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษในสถานที่ทุกแห่งที่ไปเยือน โดยเฉพาะที่ Munich ในเยอรมนี ซึ่งได้รับแนวปฏิบัติของ Lister มาใช้ และประสบความสำเร็จมาก เพราะเมื่อสามปีก่อนจำนวนผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลมีมากจนรัฐบาลเยอรมันดำริจะเผาโรงพยาบาลทิ้ง เมื่อความชื่นชมในตัว Lister หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศเช่นนี้ ในที่สุดวงการแพทย์อังกฤษก็ยอมรับ
น้ำยาบ้วนปากที่ตั้งชื่อตาม Joseph Lister
ในปี 1877 วิทยาลัย King’s College ในลอนดอนได้แต่งตั้งให้ Lister ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ศัลยกรรมศาสตร์ Lister จึงต้องย้ายจากมหาวิทยาลัย Edinburgh ไปที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และยังได้รับการต้อนรับที่เย็นชาจากแพทย์อาวุโสบางคน แต่แพทย์หนุ่มๆ ได้ยอมรับ และให้การต้อนรับ Lister ดี

ลุถึงปี 1878 สถานการณ์ทางวิชาการในอังกฤษก็เริ่มพัฒนา เพราะนักจุลชีววิทยาชาวเยอรมันชื่อ Robert Koch ได้พบสาเหตุการเป็นโรคว่าเกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้าไป ดังนั้นการทำให้ร่างกายคนไข้ปลอดเชื้อ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้คนเป็นโรค และสำหรับของเหลวที่หมอเยอรมันนิยมใช้ในการป้องกันคือ น้ำเดือด แต่ที่อังกฤษใช้กรด carbolic ดังนั้นเมื่อได้รับการยืนยันจาก Koch ว่าเชื้อโรคมีจริง แพทย์ชาวอังกฤษจึงยอมรับวิธีของ Lister ในห้องผ่าตัดอย่างดุษณีภาพ

ในปี 1883 Lister ได้รับการโปรดเกล้าจากสมเด็จพระนางเจ้า Victoria ให้ดำรงตำแหน่ง Baron Lister of Lyme Regis และเป็นหนึ่งในสิบสองคนของสมาชิก Order of Merit ในกษัตริย์

ในปี 1892 Lister ได้เดินทางไปพักผ่อนที่เมือง Rapallo ในอิตาลี เพื่อฉลองวาระครบรอบ 36 ปีแห่งชีวิตสมรสกับ Agnes ขณะพักอยู่ที่นั่น Agnes ได้ล้มป่วยด้วยโรคปอดบวมและเสียชีวิต Lister จึงเดินทางกลับอังกฤษคนเดียว รู้สึกหดหู่และเศร้ามาก แต่รู้สึกดีขึ้น เพราะในวันที่ 27 ธันวาคม 1892 ซึ่งเป็นวันที่ Louis Pasteur มีอายุครบ 70 ปีนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้เดินทางไปฉลองงานวันเกิดของ Pasteur ที่ปารีส และ Pasteur ได้ยืนขึ้นกล่าวปราศรัยว่า “ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไร ขออย่าได้ท้อแท้กับคำติเตียน หรือรู้สึกโศกเศร้ากับอดีตที่ผ่านไปแล้ว และถ้าคุณถามผมว่าผมได้ทำอะไรเพื่อประเทศชาติบ้าง ผมขอตอบว่าผมได้สร้างผลงานที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนปลอดภัยยิ่งขึ้น และผมจะจบชีวิตเมื่อได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำได้จนหมดแล้ว”

Lister เข้าใจคำพูดทุกคำของ Pasteur ดี และเมื่อ Pasteur ปราศรัยจบ ทั้งสองได้สวมกอดกันในฐานะที่เป็นเพื่อนนักวิทยาศาสตร์กัน

ในปี 1895 Lister ได้เข้ารับตำแหน่งนายกของสมาคม Royal Society และอยู่ในตำแหน่งนี้ จนถึงปี 1900 จากนั้นไปใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเงียบๆ และเป็นสุข แต่ไม่มีกำลังใจมาก เพราะขาดภรรยาคู่ชีวิต Lister ได้ล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดแตกในสมอง แต่ก็ยังทำงานได้ แม้จะช้ามากก็ตาม เมื่อสมเด็จพระเจ้า Edward ที่ 8 ทรงเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง ศัลยแพทย์หลวงได้มาขอคำแนะนำจาก Lister หลังการผ่าตัดพระเจ้า Edward ที่ 8 ทรงตรัสกับ Lister ว่า ถ้าไม่มีคุณ ผมคงไม่มีวันนี้

ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1912 Lister ได้ถึงแก่กรรมที่บ้าน Walmer ใน Kent สิริอายุ 84 ปี พิธีรำลึกได้ถูกจัดขึ้นที่มหาวิหาร Westminster ศพถูกนำไปฝังที่ Hamstead Cemetery ในกรุงลอนดอน

ณ วันนี้ที่ London มีอนุสาวรีย์ของ Lister อยู่ที่ Portland Place และที่ Stevenage ใน Hertfordshire ก็มี Lister Hospital ส่วนที่ทวีปแอนตาร์กติกามียอดเขา Mount Lister ด้านวงการวิทยาศาสตร์มีจุลินทรีย์ที่พบในอาหารชื่อ Listeria monocytogenes และชาวบ้านรู้จักน้ำยาบ้วนปากชื่อ Listerine

อ่านเพิ่มเติมจาก “The Scientific Revolution in Victorian Medicine” โดย A.J. Youngson จัดพิมพ์โดย Holmes + Meier, New York ในปี 1979

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น