xs
xsm
sm
md
lg

มีอะไรให้ดู...ที่ “ศาลาดิน” พิพิธภัณฑ์จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวชุมชนบ้านศาลาดินดูแลคุณภาพน้ำจนคลองใสสะอาดและสัญจรทางเรือได้
อดีตเมื่อราว 40-50 ปีก่อน ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว และทำนาได้เพียงละครั้ง ทำให้ชาวบ้านมีความยากจน กระทั่งในหลวงพระราชทานที่ดินทำกินแก่ชาวบ้านจนพวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่พวกเขายังเผชิญปัญหาในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเน่าเสียจากการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงคลอง เส้นทางน้ำตันและตื้นเขิน และพวกเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยน้อมนำโครงการพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการหาทางออกให้แก่ชุมชน

สภาพทุ่งนาเขียวขจี น้ำในคลองไม่เน่าเหม็นและสามารถสัญจรทางเรือได้ทุกคลองในตำบลมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม เป็นผลจากความร่วมมือของคนในชุมชนบ้านศาลาดินและชุมชนใกล้เคียงที่ร่วมมือกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาน้ำเสียเน่าเหม็นเนื่องจากการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงลำคลอง ปัญหาสารเคมีในคลอง แต่ทางชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่ 6 แห่งทั่วประเทศ มาใช้บริหารจัดการน้ำในชุมชน

ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพลำคลอง เช่น ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้งถังดักไขมัน ใช้จุลินทรีย์ปรับสภาพน้ำ พัฒนากังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อบำบัดน้ำเสีย และยังได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การใช้แผนที่และระบบพิกัดดาวเทียม มาร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น






มาถึงวันนี้ “บ้านศาลาดิน” ได้รับการยกระดับจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านศาลาดิน จ.นครปฐม” เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยทางชุมชนได้จัดจุดศึกษา 4 จุดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจแนวทางการจัดการน้ำของชาวบ้านศาลาดิน

จุดศึกษาแรกคือ ศาลาท่าน้ำ ซึ่งแสดงข้อมูลปัญหาและการจัดน้ำของชุมชน และสาธิตการทำงานของกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมแพปลูกสมุนไพรสำหรับรับมือหากเกิดอุทกภัย จากนั้นเป็นนักท่องเที่ยวจะล่องเรือมุ่งสู่นาบัวของ น.ส.ประไพ สวัสดิ์โต หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับพระราชทานที่ดินทำกิน 20 ไร่ และแปรสภาพทุ่งนาเป็นนาบัวที่สร้างรายได้วันละ 6,000 บาท

จากนั้นนักท่องเที่ยวจะได้เดินทางต่อทางบกเพื่อไปยังจุดศึกษาแปลงเกษตร ที่มีการปลูกสวนผสมบนคันกั้นคลอง อาทิ มะละกอ ลำไย พริก มะม่วง เป็นต้น สุดท้ายคือ จุดศึกษาสะพานคลองโรงเจ ซึ่งแสดงถึงความร่วมมือระหว่างชุมชนบ้านศาลาดินและชาวสะพานคลองโรงเจ ที่ถ่ายทอดองค์การรู้ในการจัดการน้ำให้แก่กัน โดยมีการติดตั้งกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ถังดักไขมัน ถังน้ำหมักจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในอดีตนั้นชุมชนบ้านศาลาดินมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว และทำนาเพียงปีละครั้ง ชาวบ้านจึงมีฐานะยากจน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงปัญหา จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้เกษตรกร 1009 ไร่ โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกรแปลงละ 20 ไร่ ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้าทำกินได้ตั้งแต่ปี 2520 ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น

เรือถีบบริการนักท่องเที่ยว
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิด พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านศาลาดิน จ.นครปฐม
ป้ายให้ความรู้ ณ จุดศึกษาศาลาท่าน้ำ บ้านศาลาดิน
นาบัว อีกจุดศึกษาของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำ
จุดศึกษานาบัว

ดอกบัวที่ชาวบ้านเก็บมาจำหน่ายทุกวัน
สวนผสมริมคันกั้นน้ำ
กังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ชุมชนสะพานคลองโรงเจ






กำลังโหลดความคิดเห็น