xs
xsm
sm
md
lg

วิวัฒนาการของสังคม “โลกสวย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Daniel Nettle หนึ่งในทีมวิจัยพบว่าพฤติกรรมการเสียสละตนเองของเพื่อนบ้านใน Binghamton มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจของเด็กด้วยเช่นกัน ชุมชนที่เห็นแก่ตัว เช่น ไม่ส่งแบบสอบถามกลับ หรือไม่นำจดหมายที่นำจ่ายผิดไปให้เพื่อนบ้าน มีความสัมพันธ์กับการร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจของเด็กๆ ในชุมชนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อใครบางคนฝันเพ้อถึงสังคมที่เกื้อกูลกันอย่างจริงใจ อาจถูกค่อนขอดว่า “อย่ามาโลกสวย” นี่มันยุคทุนนิยมปากกัดตีนถีบกันทั้งนั้น แต่มีหลักฐานเชิงพฤติกรรมที่ชี้ว่า วัฒนธรรมโลกสวยมีประโยชน์ต่อสังคมและอาจขยายตัวได้ ไม่ต่างอะไรกับสิ่งมีชีวิต

เรื่องนี้มีที่มาจากเมื่อวันก่อนอาจารย์ที่ปรึกษาของนายปรี๊ดชวนคิดชวนคุย ท่านยกเรื่องเกี่ยวกับการวัดผล “พฤติกรรมการอุทิศตนเพื่อสังคม” หรือ Prosocial behavior ที่มีนักชีววิทยาปรับใช้หลักคิดทางทางชีววิทยาเชิงพฤติกรรมศาสตร์และวิวัฒนาการ ตอบคำถามทางสังคมได้อย่างน่าสนใจ

เรื่องธรรมดากลับไม่ธรรมดา เพราะเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “ถ้าคนเราต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด โดยเฉพาะโลกเสรีนิยม แล้วทำไมบางคนถึงยอมเสียสละกำลังเงิน เวลา และพลังงานเพื่อคนอื่น แม้ไม่ใช่ญาติพี่น้องของตนเอง?” คำถามนี้น่าจะเกิดขึ้นมานาน แต่เริ่มมีงานวิจัยด้านสังคม มนุษยวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา 19 นี้เอง

หนังสือสำคัญเล่มหนึ่งที่ขยายความอย่างชัดเจน คือ “The Selfish Gene” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อคริตส์ศักราช 1976 โดย Richard Dawkins นักสัตววิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ผู้เสนอว่าสัตว์และมนุษย์ต้องอยู่รอด จึงเห็นแก่พวกพ้องก่อน เพื่อรักษา “พันธุกรรม” ของตนเองไว้ให้ได้ จนต้องมีการ “ฮั้ว” กัน เพื่อเกื้อกูลให้ครอบครัว หรือคนที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่รอด โดยส่งต่อวิธีการปฏิบัติตนผ่าน “Meme” คือ ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นวัฒนธรรมย่อยของแต่ละครอบครัวหรือแต่ละชุมชนเป็นทอดๆ

งานวิจัยในยุคแรกๆ จึงพูดถึงเรื่องการเสียสละ (Altruism) ที่พบในสัตว์และคน จนมีการประยุกต์ ขยายความเป็นการศึกษาความร่วมมือกันในสังคม (Social cooperation) และมีการนำผลทางพฤติกรรม และสถิติไปตีความปรากฏการณ์ทางสังคม รวมไปถึงประยุกต์เป็นระบบความร่วมมือในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของงาน

ตัวอย่างงานวิจัยยุคใหม่ที่น่าสนใจและถูกพูดถึง คือการศึกษาพฤติกรรมของคนในสังคมเมือง ซึ่งมีหัวหน้าทีมวิจัยคือ นักชีววิทยาผู้เรียกได้ว่า “โลกสวยตัวพ่อ” ชื่อ David Sloan Wilson ผู้เริ่มตั้งประเด็นคำถามเชิงสังคมโดยใช้มุมมองวิวัฒนาการ เพื่อเปรียบเทียบผลของการอยู่รอดของชุมชนด้วยความไม่เห็นแก่ตัวในชุมชนเมือง Binghamton รัฐ New York สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมมาตั้งแต่อดีต ผู้คนจึงมีชีวิตแบบคนเมือง นิ่งเฉยต่อเพื่อนบ้าน จนเคยถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองไม่น่าอยู่ 5 อันดับแรกของสหรัฐฯ แต่ Wilson เชื่อว่าแนวคิดด้านวิวัฒนาการจะสามารถเปลี่ยนเมือง Binghamton ให้น่าอยู่ขึ้นได้

จากการศึกษาพฤติกรรมสัตว์มาหลายสิบปี Wilson เชื่อว่า วิวัฒนาการน่าจะมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับยีน กลุ่มประชากรและวัฒนธรรมชุมชน ถ้าการอุทิศตนเองเป็นวัฒนธรรมที่ส่งผ่านกันแล้วทำให้อยู่รอดอย่างเข้มแข็ง วัฒนธรรมที่สังคมพึงพอใจนี้ก็น่าจะมีการวิวัฒน์และขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นได้จนน่าจะตรวจวัดในเชิงรูปธรรมได้ คล้ายกับการขยายขนาดประชากรที่มีลักษณะเข้มแข็ง และนำประชากรทั้งหมดให้อยู่รอดได้ (Fitness of survival) หรืออาจเรียกว่าเป็นการวิวัฒนการเชิงวัฒนธรรม (cultural evolution)

โครงการเปลี่ยนสังคมเมืองให้เกื้อกูลกันของ Wilson ถูกขนานนามว่า Dawin’s city โดย Wilson และลูกศิษย์ใช้เวลาหลายปี “สร้างดัชนีการอุทิศตน” จากแบบสอบถาม การทดลองและการสังเกตพฤติกรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของเพื่อนบ้าน เช่น สัมภาษณ์วัยรุ่นตามโรงเรียนว่า เคยช่วยเหลือหรือได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านอย่างไรบ้าง ทดลองวางจดหมายติดแสตมป์ 200 ฉบับไว้ทั่วเมือง แล้วดูว่าเพื่อนบ้านจะนำไปหย่อนใส่ตู้ให้กันหรือไม่ หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการตกแต่งบ้านเรือนในช่วงเทศกาลสำคัญ เป็นต้น เพื่อระบุระดับของ “เพื่อนบ้านผู้เสียสละไปจนถึงเพื่อนบ้านผู้เห็นแก่ตัว” แล้วสร้างเป็น “แผนที่การอุทิศตน” หรือ Map of Prosocial behavior ถือว่าเป็นการทดลองปรับข้อมูลเชิงนามธรรมให้เป็นรูปธรรมให้เห็นได้อย่างชัดเจน
David Wilson สร้างแผนที่การอุทิศตนเพื่อสังคม หรือ map of prosociality ของชาวเมือง Binghamton รัฐ New York สหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงให้เห็นว่าระดับความเสียสละหรือความเห็นแก่ตัวของเพื่อนบ้านมีการกระจายอย่างเป็นรูปแบบ บางพื้นที่มีการอุทิศตนสูง บางพื้นที่เห็นแก่ตัวสูง ซึ่งมีผลมาจากพฤติกรรมที่เพื่อนบ้านแต่ละพื้นที่แสดงต่อกัน การปรับพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นให้เสียสละมากขึ้น อาจเป็นการขยายพฤติกรรมการอุทิศตัวให้กว้างขึ้นไม่ต่างจากการขยายตัวของสิ่งมีชีวิต (nature.com)
เมื่อได้แผนที่การอุทิศตนเองแล้ว นักวิจัยพบว่าแต่ละพื้นที่ของชุมชนมีระดับการอุทิศตนแตกต่างกัน จึงทดลองเลือกพื้นที่ที่มีระดับการอุทิศตนสูง แล้วส่งเสริมให้มีการออกแบบสวนสาธารณะของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการระดมทุนและแนวความคิดจากเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าโครงการที่ทำในชุมชนที่มีระดับการเสียสละสูงมีท่าทีว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ก็มีปัญหาเรื่องของเวลาที่ไม่ลงตัวของคณะทำงาน จึงทดลองเปลี่ยนมาเป็นโครงการที่เล็กลง และยืดหยุ่นมากขึ้นก็พบว่า ในชุมชนที่มีเพื่อนบ้านเกื้อกูลต่อกันสูง ก็ยังดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีอุปสรรคบ้างก็ตาม

กิจกรรมที่ Wilson อาสาสมัคร และลูกศิษย์ประเมินว่าประสบความสำเร็จมาก คือ การสร้างกิจกรรมส่งเสริมและปรับพฤติกรรมวัยรุ่นในโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม ซึ่งสามารถวัดได้ว่านักเรียนที่เข้าโปรแกรมอบรมและกิจกรรมปรับพฤติกรรม แล้วจะมีพฤติกรรมอุทิศตนสูงขึ้น แม้แต่ในเขตที่พ่อแม่เด็กมีระดับความเห็นแก่ตัวสูงเด็กก็ปรับพฤติกรรมได้สำเร็จ และทีมวิจัยเชื่อว่า หากมีกิจกรรมที่ทำต่อเนื่อง พฤติกรรมการเสียสละที่มีประโยชน์ต่อชุมชนจะสามารถขยายตัวในกลุ่มประชากรได้ แสดงให้เห็นว่าชุมชนโลกสวยที่มีความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลและรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน สามารถขยายตัวเข้าสู่ชุมชนที่เคยเห็นแก่ตัวมาก่อนได้ หากมีการปรับพฤติกรรม สร้างสิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขการมีส่วนร่วมภาคสังคมที่เหมาะสม ถือได้ว่าการปลูกไม้งามในใจเด็กถูกพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ความน่าสนใจของแนวคิดแบบ Dawin’s city จึงไม่ใช่เพียงการทดสอบเพื่อตอบคำถาม แต่มีความพยายามนำหลักการทางชีววิทยาไปประยุกต์เข้ากับกระบวนการทางการศึกษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และแม้กระทั่งศาสนาเพื่อขยาย “พฤติกรรมการเสียสละเพื่อผู้อื่น” ให้เกิดการขยายตัวในประชากรของชุมชนเมืองไปทีละน้อยๆ ถือเป็นการเชื่อมต่อความคิดที่เริ่มต้นโดยนักวิทยาศาสตร์ แต่มีผลกระทบในทางบวก และน่าจะแก้ปัญหาทางสังคมได้จริงๆ ไม่อิงแต่เพียงทฤษฎี ปัจจุบัน Wilson ขอบริจาคตัวอย่าง DNA จากคนในชุมชนเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการอุทิศตัวเพื่อสังคมอาจมีผลมาจากกลไกในระดับพันธุกรรม

ยิ่งเมื่อโลกเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ระบบการปกครอง และสภาพเศรษฐกิจที่เร่งคนให้เข้าสู่สังคมเมืองเต็มรูปแบบ ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดในทุกๆ ด้าน ชนิดที่เรียกว่า “ใครแพ้คัดออก” การค้นหาคำตอบของพฤติกรรมการอุทิศตนเพื่อสังคมจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ประกอบกับมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่นักมนุษยวิทยาและนักพฤติกรรมศาสตร์ใช้วิเคราะห์ได้ชัดเจน งานวิจัยเกี่ยวกับ “สังคมโลกสวย” จึงขยายกรอบความคิดจากพฤติกรรมสัตว์สู่พฤติกรรมมนุษย์ได้แจ่มแจ้งและกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม และน่าติดตามว่าเราจะนำผลการศึกษามาปรับใช้อย่างไรให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนของเรา

ข้อสังเกตคือกรอบคิดและวิธีปฏิบัติของ Wilson ต่างจากที่เราคุ้นเคย เพราะรัฐมักหวังสร้างภาพด้วยการสร้างชุมชนแบบ “คัดลอก-ตัดแปะ” เราจึงมักติดกับ “ชุมชนต้นแบบ” หมู่บ้านนั้นมีระบบกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้สร้างผลิตภัณฑ์ขายได้ราคา แค่ฉันทำตามขอให้รัฐอัดเงินทุนให้หนักก็คงสำเร็จแน่ๆ เลยคิดแต่การ “คัดลอก-ตัดปะ” ให้เหมือนกันทั้งประเทศ ไม่ได้สนใจว่าทุกชุมชนมีบริบทและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง หากลองใช้แนวคิดแบบวิวัฒนาการเชิงวัฒนธรรม ปล่อยให้ธรรมชาติขยายวัฒนธรรมให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสนับสนุนให้เกิดเงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม รวมทั้งไม่ลืมให้ความสำคัญกับการศึกษาและการปรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของวัฒนธรรมที่ดีในอนาคต

“อย่ามาโลกสวย” คงเป็นคำประชดเจ็บแสบที่มอบให้กับคนอ่อนต่อโลก แต่หากลองนึกย้อนถึงพฤติกรรมตนเอง ว่าเราเคยหันมองคนที่นั่งหายใจอยู่ข้างๆ บ้างไหมว่าเค้ามีปัญหาอะไรให้ช่วยเหลือหรือเปล่า? เราพูดบ่นว่าคนรุ่นใหม่ แต่เราทิ้งให้พวกเขาเติบโตอย่างโดดเดี่ยวบ้างไหม? แม้กระทั่งกิจกรรมอาสาสมัครเราทำเพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเองหรือธุรกิจมากกว่าผลประโยชน์ของชุมชนหรือเปล่า?

ตกลงทุกวันนี้โลกของเราๆ ท่านๆ ไม่สวยจริงๆ ...หรือพวกเราร่วมกันทำให้ไม่สวยกันแน่?

อ้างอิง

-Marris E. 2011. Evolution: Darwin's city. Nature 474:146-149.
-Wilson D.S. 2011. The Neighborhood Project: Using Evolution to Improve My City, One Block at a Time. Little, Brown and Company

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น