นักวิทยาศาสตร์จีนเจอฟอสซิลเก่าแก่ที่สุดของแมลงขณะกำลังสืบพันธุ์
เอเอฟพีระบุว่า อ้างรายงานในวารสารพลอสวัน (PLOS ONE) ที่ระบุว่า ฟอสซิลดังกล่าวน่าจะมีอายุถึง 165 ล้านปี โดยเป็นฟอสซิลรอยประทับของแมลงเพลี้ยกระโดดกบ (froghopper) ตัวผู้และตัวเมียที่นอนตำแหน่งช่วงท้องตรงกัน และขุดพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งชื่อแมลงดังกล่าวได้จากพฤติกรรมของแมลง ที่กระโดดไปทั่วต้นไม้และพุ่มไม้เหมือนกบตัวจิ๋ว
นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการศึกษาวิวัฒนาการแมลงและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคปิตัลนอร์มัล (Capital Normal University) ในปักกิ่ง จีน ซึ่งเป็นแกนหลักในการศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า ในการจับคู่ผสมพันธุ์นั้น อวัยวะสืบพันธุ์ของแมลงตัวผู้จะสอดใส่เข้าไปในเบอร์ซาคอปูลาทริกซ์ (bursa copulatrix) ซึ่งเป็นตัวรับอวัยวะสืบพันธุ์ในแมลงตัวเมีย
อ้างตามรายงานที่ทีมวิจัยระบุฟอสซิลหายากดังกล่าวเผยให้ถึงบันทึกยุคแรกสุด ของการผสมพันธุ์ในแมลงเท่าที่มีการพบในตอนนี้ ซึ่งแง้มให้เห็นถึงวิวัฒนาการของพฤติกรรมผสมพันธุ์ในแมลงกลุ่มนี้ และยังแสดงให้เห็นว่าอวัยวะสืบพันธุ์และตำแหน่งผสมพันธุ์นั้นอยู่ที่เดิมมานานกว่า 165 ล้านปี