นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียเจออนุภาคทองในใบยูคลิปตัส บ่งชี้ลึกลงไปใต้ดินมีสมบัติฝังอยู่ เชื่อจะเป็นวิธีใหม่ในการค้นหาตำแหน่งโลหะอันเป็นที่ปรารถนา แต่ยากจะค้นเจอ
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) อ้างตามรายงานของบีบีซีนิวส์ ซึ่ง ดร.เมล ลินเทิร์น (Dr.Mel Lintern) นักธรณีเคมีจากองค์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation: CSIRO) ออสเตรเลีย ระบุว่า ต้นยูคาลิปตัสช่วยให้การค้นหาโลหะอันมีค่าที่ฝั่งอยู่ในตะกอนดินหรือเนินทรายลึกลงไปหลายสิบเมตรได้
ทั้งนี้ พบอนุภาคทองอยู่รอบๆ ดินใต้ต้นยูคาลิปตัส และนักวิจัยยืนยันว่า ต้นไม้ชนิดนี้ได้ดูดซึมธาตุโลหะดังกล่าว โดยเมื่อใช้รังสีเอกซ์จากเครื่องซินโครตรอน พวกเขาก็ได้รายละเอียดที่ชัดเจนของทองคำ ซึ่งพวกเขาได้พบร่องรอยของอนุภาคทองในใบ กิ่งและเปลือกไม้ของยูคาลิปตัสบางต้น แต่ปริมาณของโลหะล้ำค่าดังกล่าวมีเพียงน้อยนิด
“เราได้คำนวณและพบว่าต้องใช้ต้นยูคา 500 ต้น เพื่อดูดซึมทองขึ้นมาให้มากพอที่จะเก็บทองจากต้นไม้ไปทำแหวนทองคำหนึ่งวง” ดร.ลินเทิร์นกล่าว แต่การปรากฏของอนุภาคทองก็ชี้ว่ามีปริมาณทองมหาศาลฝั่งอยู่ลึกลงไปมากกว่า 30 เมตร
ดร.ลินเทิร์นกล่าวว่า เขาเชื่อว่า ต้นยูคาลิปตัสทำหน้าที่คล้ายปั้มไฮโดรลิค ซึ่งนำน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตขึ้นมาจากราก และขณะที่ทำเช่นนั้นก็ได้ดึงเอาทองคำบางส่วนที่ละลายน้ำผ่านระบบท่อน้ำเลี้ยงขึ้นมายังใบด้วย ซึ่งปัจจุบันเราพบทองจากที่โผล่พ้นดินขึ้นมา หรือไม่ก็ตรวจพบผ่านอุปกรณ์ขุดสำรวจ แต่นักวิจัยกล่าวว่า การวิเคราะห์ต้นไม้จะช่วยให้ได้วิธีที่ดีกว่าในการค้นหาทองคำที่ยังไม่ถูกขุดขึ้นมา
ไม่เพียงเพราะการวิเคราะห์อนุภาคทองคำจากต้นไม้จะถูกกว่าวิธีเดิมที่มีค่าใช้จ่ายแพง แต่วิธีดังกล่าวยังทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เพราะใช้ตัวอย่างจากต้นไม้เพียงเล็กน้อย รวมถึงไม้ใบและกิ่งไม้ที่ร่วงลงพื้นก็นำมาวิเคราะห์ได้ อีกทั้งเทคนิคนี้ยังใช้เพื่อหาแร่ธาตุอื่นๆ อย่างเหล็ก ทองแดง ในพื้นที่อื่นๆ ของโลกได้