มีคำกล่าวว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เรื่องไร้สาระอย่างฉี่น้องหมาจึงอาจใหญ่โตจนกระทบคุณภาพดินได้ คำถามนอกกรอบของนักวิทย์เริ่มสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่มีสาเหตุจากชีวิตประจำวันของเราซึ่งแยกไม่ออกจากวัฎจักรธรรมชาติ
หากใครเคยเลี้ยงปลาในระบบปิดหรือในตู้ปลา ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ การสะสมของอึปลาที่หมักหมมจนกลายเป็นสารประกอบไนโตรเจน เช่น แอมโมเนียม ไนเตรต และไนไตรต์ ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไป ก็จะเป็นอันตรายต่อปลาและพืชน้ำในตู้ได้ เราจึงต้องมีการเปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ
ลองจินตนาการดูว่า หากเราปล่อยน้องหมาจำนวนมากให้วิ่งลัลล้าอยู่ในพื้นที่จำกัดราคาแพงใจกลางเมืองซ้ำไปซ้ำมาอยู่ทุกวี่ทุกวันจนมีสภาพใกล้เคียงกับระบบปิด เหตุการณ์แบบเดียวกันกับที่เกิดในตู้ปลาก็น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกัน และนั่นคือคำถามสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ดูเหมือนจะไร้สาระ...ฉี่หมานี่นะจะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม? ตลกล่ะ?
ในเมื่อการเลี้ยงน้องหมาเป็นวิธีแก้เหงายอดนิยมของคนในเมืองใหญ่ทั่วโลก หลายประเทศจึงมีการจัดการระบบสุขาภิบาลและสวัสดิภาพสัตว์ให้สอดคล้องกันก็คือ การตั้ง “dog park” เพื่อจัดสรรพื้นสันทนาการสำหรับเจ้าของและบรรดาน้องหมาให้ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเปิดโอกาสให้เหล่าน้องหมาได้มีปฏิสัมพันธ์ประสาหมาๆ วิ่งเล่นกันตามสัญชาตญาณของสัตว์สังคม
แค่หมามารวมกันเยอะๆ มันจะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเลยรึ?
… ปกติเมื่อน้องหมาอยู่ข้างนอกบ้าน กฏหมายเทศบัญญัติก็บังคับให้เราเก็บอึมาออกมาทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง...แล้วฉี่ล่ะ?...ในเมื่อเรารองฉี่น้องหมามาเทใส่โถส้วมที่บ้านไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้นหากน้องหมาจำนวนมากไปรวมตัวกัน “ยกขาฉี่” ในพื้นที่อันจำกัด?
นั่นคือคำถามนอกกรอบของนักปฐพีวิทยาและนักพฤกษศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัย North Dakota State ที่เริ่มสงสัยว่าสวนสาธารณะที่จัดให้เป็นพื้นที่สันทนาการของน้องหมากลางเมือง หรือ dog park อาจมีสารประกอบไนโตรเจนที่สะสมในรูปของแอมโมเนียและไตเตรตสูงมากจนอาจเกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืชในสวนสาธารณะได้
งานวิจัยที่ดูจะไม่เป็นเรื่องเริ่มต้นจากตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะจากสถิติที่สำรวจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พบว่าในสหรัฐอเมริกามีจำนวนน้องหมาเฉลี่ยครบครัวละ 1.6 ตัว ทั้งประเทศจึงมีประชากรน้องหมามากกว่า 72 ล้านตัว หากน้องหมาตัวนึงขับถ่ายฉี่ต่อวันราว 800 มิลลิลิตร จึงมีการคูณกลับแบบคร่าวๆ ว่า วันๆ หนึ่งในสหรัฐอเมริกาอาจมีฉี่หมาปล่อยตรงสู่พื้นดินมากถึง 53 ล้านลิตรต่อวัน! และเรื่องที่น่าตกใจกว่าก็คือสถิตินี้ใช้อ้างอิงมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว แน่นอนว่าในปัจจุบันฉี่หมาในสหรัฐอเมริกาที่ปลอดปล่อยลงสู่พื้นที่จำเพาะอย่าง dog park ที่มีอยู่ราว 600 แห่งทั่วประเทศ อาจจะมีปริมาตรมหาศาลจนน่าขนลุก
งานวิจัยล่าสุดเป็นการศึกษาเปรียบเทียบใน dog park 2 แห่ง กลางเมือง North Dakota โดยมีการวิเคราะห์การสะสมของสารประกอบไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ค่าการนำไฟฟ้า และกรดด่างที่น่าจะมีผลกระทบจากฉี่น้องหมา ในสวนสาธารณะซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันทั้งกายภาพ เช่น ความลาดชัน ประเภทดิน และปัจจัยทางชีวภาพ เช่นรูปแบบของการปลูกพืชประดับ และพรรณพืชพื้นถิ่น เทียบกับพื้นที่รอบๆ และเขตปศุสัตว์ที่ปล่อยให้น้องวัวอึฉี่แบบเสรีเช่นกัน
ผลที่น่าสนใจก็คือ การสะสมของสารประกอบไนโตรเจนและฟอสฟอรัสแม้จะสูงกว่าพื้นที่โดยรอบแต่ก็ยังไม่ถึงจุดอันตราย ส่วนสภาพความเป็นกรดด่างแม้จะทำให้ดินเปรี้ยวนิดๆ แต่ก็ยังอยู่ในช่วงมาตรฐานของดินที่ยังไม่มีปัญหา นั่นหมายความว่าวัฏจักรการหมุนเวียนไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่ควบคุมโดยแบคทีเรียในดินยังไม่เสียสมดุล ฟังดูก็น่าโล่งใจ แล้วจะวิจัยไปทำไม ในเมื่อมันไม่มีผลเสีย?
แต่ปัญหาน่ากังวลที่กำลังจะตามมา คือการเกิด “hot spot ของการสะสมของเสีย” ที่เริ่มแสดงสัญญาณความสัมพันธ์ของสารประกอบไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ค่าการนำไฟฟ้า และสภาพกรดด่างที่เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งเกิดจากความลาดเทของพื้นที่ และประเภทดินที่ต่างกัน เช่น หากพื้นที่ลาดชันมากหรือมีสภาพเป็นดินทรายก็อาจส่งผลให้เกิดการชะล้างสารประกอบไนโตรเจนจากหน้าดินลงสู่ระดับที่ลึกลงไปจนอาจส่งผลถึงระบบน้ำบาดาลใต้ดิน หรือชะล้างลงสู่ระบบน้ำตามธรรมชาติได้
แล้วถ้าเปรียบเทียบกับน้องวัวน้องควายที่เดินเฉิดฉายอึฉี่ทั่วไปในท้องทุ่งล่ะไม่เป็นปัญหามากกว่าเหรอ? อันนี้นักวิจัยเค้าก็ทำการเปรียบเทียบไว้เหมือนกัน ซึ่งก็พบว่าบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์บริเวณชานเมืองที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพใกล้เคียงกับสวนสาธารณะที่ทำการศึกษา ก็มีการสะสมของสารประกอบไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในดินใกล้เคียงกัน แต่ด้วยขนาดพื้นที่ที่เปิดให้ใช้ประโยชน์ต่างกันมาก ดังนั้น “ขนาดพื้นที่และความหนาแน่นของเจ้าของฉี่” จึงเป็นประเด็นที่ต้องขบคิดมากกว่า
ปัญหามลพิษจากฉี่น้องหมาแม้จะดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง” ที่เราไม่เคยนึกถึงเหล่านี้ อาจผลุบผลับโผล่มาให้แก้แบบไม่รู้ตัว เพราะประชากรน้องหมานั้นเพิ่มขึ้นตามประชากรคน แต่พื้นที่สำหรับน้องหมาโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆไม่ได้ขยายตัวตามไปด้วย แนวทางป้องกันที่นักวิจัยเสนอคือการจัดสวนสาธารณะควรเลือกพืชที่สามารถตรึงไนโตรเจนมาปลูก หรือมีการจำกัดจำนวนน้องหมาที่ใช้ต่อวันให้เหมาะสมกับสภาพทางกายภาพของสวนแต่ละแห่ง
กรณีฉี่น้องหมาทำพิษเป็นตัวอย่างใกล้ตัวที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการสะสมธาตุใดๆ มากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นลูกโซ่ได้ เพราะมีหลักฐานมากมายจากทั่วโลกว่าวัฏจักรไนโตรเจนเริ่มมีสัญญาณไม่ดีจากกิจกรรมอื่นๆ ของเรา เช่น ต้นไม้บางต้นน้องหมาฉี่นิยมใส่ตามสวนสาธารณะก็มักยืนต้นจะตาย ต้องขุดออกปลูกใหม่ จนเป็นปัญหาใหญ่ในการจัดการสวนตามเมืองใหญ่ทั่วโลก หรือปัญหาร่วมระดับสากลอย่างการใส่ “ปุ๋ย” ที่มากเกินจำเป็นในระบบการเกษตรตั้องแต่หลังยุคการปฏิวัติเขียว จนสะสมและชะล้างลงในแหล่งน้ำธรรมชาติและกระจายไปส่งกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในพื้นที่อนุรักษ์ของสหรัฐอเมริกากว่า 50 แห่งในปัจจุบัน
งานวิจัยฉี่หมาอาจเป็นเรื่องไร้สาระขี้หมูราขี้หมาแห้งของใครหลายคน แต่มันเป็นหนึ่งในภารกิจของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องมองหาปัญหาใหม่ๆ ที่อาจเกิดผลกระทบกับชีวิตของคนเราได้ในอนาคต เพื่อจัดการให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบ “คนเมือง” มากขึ้น จนปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเรากำลังร่วมกันก่อ “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง” ที่อาจไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ธรรมชาติก็เป็นได้
อ้างอิง Paradeis B. et all. 2013. Dog-park soils: Concentration and distribution of urine-borne constituents. Urban Ecosystems 16(2):351-365.
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์